ผู้เขียน หัวข้อ: กรมอนามัยชี้ล้างมือช่วยสกัดโรค เผยคนกรุงใส่ใจล้างมากขึ้น  (อ่าน 1393 ครั้ง)

ออฟไลน์ webmaster

  • Administrator
  • medtech ปี เอก
  • *****
  • กระทู้: 3951
    • อีเมล์



กรมอนามัยแนะคนไทยล้างมือเป็นประจำ สร้างพฤติกรรมอนามัยลดปัจจัยเสี่ยงจากโรคไข้หวัด โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ เผยหลังการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครตื่นตัวล้างมือมากขึ้นร้อยละ 87
       
       วันนี้ (7 มิ.ย.) นายแพทย์ สุวัช เซียศิริวัฒนา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยในการร่วมแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ “มือสะอาด ป้องกันไข้หวัดในหน้าฝน” ณ ลานเอเทรียม ศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์ กรุงเทพมหานครว่า ภายหลังการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ประชาชนในกรุงเทพมหานคร ส่วนใหญ่ตื่นตัวในการป้องกันสุขภาพตนเองมากขึ้น โดยเฉพาะการล้างมือพบว่า มีพฤติกรรมการล้างมือก่อนรับประทานอาหารร้อยละ 61 มีการล้างมือด้วยน้ำและสบู่หลังเข้าส้วมร้อยละ 87 ซึ่งการล้างมือนับเป็นวิธีที่ดีที่สุดและราคาถูกที่สุดในการป้องกันโรคไข้หวัดที่มักจะเกิดขึ้นในทุกกลุ่มวัย เมื่ออากาศเปลี่ยน ป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ หรือจากการสัมผัสที่สามารถติดต่อจากคนหนึ่งสู่อีกคนหนึ่ง เพราะโรคติดต่อหลายโรคมีมือเป็นพาหะนำเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายจนอาจทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้


ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต

       นายแพทย์ สุวัช กล่าวต่อว่า แม้ประชาชนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญและใส่ใจในเรื่องการล้างมือมากขึ้นร้อยละ 87 แต่ในจำนวนนี้พบว่า ยังมีวิธีการล้างมือที่ไม่ถูกต้องคือล้างด้วยน้ำเปล่า ร้อยละ 41 ซึ่งการ ล้างมือที่ถูกวิธีมีด้วยกัน 7 ขั้นตอน ได้แก่ 1) ฝ่ามือถูกัน 2) ฝ่ามือถูหลังมือและนิ้วถูซอกนิ้ว 3) ฝ่ามือถูฝ่ามือและนิ้วถูซอกนิ้ว 4) หลังนิ้วมือถูฝ่ามือ 5) ถูนิ้วหัวแม่มือโดยรอบด้วยฝ่ามือ 6) ปลายนิ้วมือถูขวางฝ่ามือ และ 7) ถูรอบข้อมือ ซึ่งปัจจุบันสถานที่ต่างๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า สถานีขนส่ง สถานีรถไฟ สถานีรถไฟฟ้า และสถานที่ราชการต่างๆ ได้มีการจัดบริการเจลล้างมือและให้กับประชาชนได้มีโอกาสล้างมือได้อย่างสะดวกมากขึ้นด้วย
       
       “ทั้งนี้ พฤติกรรมการล้างมือเพื่อสร้างสุขนิสัยที่ดีที่ถูกต้องนั้น ไม่เพียงแค่เฉพาะในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคต่างๆ เท่านั้น แต่ควรล้างมือจนทำให้ติดเป็นนิสัยด้วยการล้างมือด้วยน้ำสะอาดและสบู่ทุกครั้งก่อนและหลังที่ทำกิจกรรมต่างๆ ทุกครั้ง อาทิ ก่อนและหลังรับประทานอาหาร เตรียมอาหารหรือปอกผลไม้ ก่อนและหลังการใช้ห้องน้ำหรือห้องส้วม หลังการจาม ไอ หรือไปสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วย หลังทำความสะอาดบ้านและบริเวณบ้าน หลังสัมผัสหรือเล่นกับสัตว์เลี้ยง ซึ่งสารฆ่าเชื้อในสบู่จะสามารถฆ่าเชื้อโรคได้มากที่สุด และพฤติกรรมดังกล่าวจะช่วยลดพาหะนำเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งกรมอนามัยได้มีการรณรงค์ในเรื่องการสร้างพฤติกรรมอนามัย “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” มาอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นมาตรการที่สำคัญในการป้องกันโรค” รองอธิบดีกรมอนามัยกล่าว