ผู้เขียน หัวข้อ: ย้ำ !! ห้ามยาแผนโบราณมีแอลกอฮอล์จำหน่ายตามร้านสะดวกซื้อ ฝ่าฝืนมีความผิด  (อ่าน 3945 ครั้ง)

ออฟไลน์ webmaster

  • Administrator
  • medtech ปี เอก
  • *****
  • กระทู้: 3951
    • อีเมล์



อย. ย้ำ ห้ามร้านสะดวกซื้อจำหน่ายยาแผนโบราณที่มีแอลกอฮอล์ ขณะที่ร้านขายยาต่าง ๆ ต้องควบคุมการขายยาแผนโบราณที่มีแอลกอฮอล์ในสูตรตำรับแก่เฉพาะผู้ป่วยที่มีความจำเป็น ฝ่าฝืนมีโทษทั้งทางอาญา   และทางจรรยาบรรณวิชาชีพ เผยเตรียมร่วมกับภาควิชาการให้คำแนะนำการพัฒนาสูตรตำรับที่ลดแอลกอฮอล์ลงแต่ยังคงประสิทธิภาพ เตือนผู้บริโภคหากรับประทานผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรโบราณผิดวิธี อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้

นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามที่มีข่าวพบปัญหาการแพร่ระบาดของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รูปแบบใหม่ในหมู่วัยรุ่นและเยาวชน ที่มีลักษณะคล้ายเหล้าปั่น โดยใช้ส่วนผสมของยาบำรุงกำลังที่วางขายในร้านสะดวกซื้อ ซึ่งจัดอยู่ในประเภท “ยาสมุนไพรโบราณ” แต่ด้วยสูตรยาดังกล่าว บางยี่ห้อที่มีอยู่ในท้องตลาดมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์สูงถึง 16 % นั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอชี้แจงว่า ในตำรับยาแผนไทยอาจจะมีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบในหลายวัตถุประสงค์ เช่น ใช้สกัดสารออกฤทธิ์ทางยาจากสมุนไพรต่าง ๆ หรือช่วยป้องกันการบูดเสียของผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ทั้งนี้ อย.ได้ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น โดยการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2562 ให้ยาแผนโบราณที่เป็นยาสามัญประจำบ้านซึ่งจำหน่ายได้ทั่วไปตามร้านสะดวกซื้อ ต้องไม่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2562 เป็นต้นมา แต่ปัจจุบันยังพบปัญหาการจำหน่ายยาแผนโบราณที่มีแอลกอฮอล์ในสูตรตำรับในร้านสะดวกซื้อที่รั่วไหลมาจากร้านขายยา อย. จึงขอเตือนร้านขายยาประเภทต่าง ๆ ต้องควบคุมการขายยาแผนโบราณที่มีแอลกอฮอล์ในสูตรตำรับ ให้ใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นทางการแพทย์เท่านั้น โดยการจำหน่ายยาแผนโบราณจะต้องมีใบอนุญาต ขณะที่ยาแผนโบราณที่ไม่มีแอลกอฮอล์สามารถจำหน่ายตามร้านสะดวกซื้อได้แต่ต้องได้รับการรับรองตามประกาศกฎกระทรวงว่าเป็น “ยาสามัญประจำบ้าน” เท่านั้น ซึ่งหากละเลยการปฏิบัติจะมีโทษทั้งทางอาญาและทางจรรยาบรรณวิชาชีพ
 
อย่างไรก็ดี นอกจากมาตรการควบคุมการกระจายยาแล้ว อย. ยังมุ่งแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน โดยร่วมกับคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโครงการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม สวทช. จัดให้มีการ    ให้คำแนะนำด้านวิชาการ เพื่อช่วยผู้ประกอบการในการพัฒนาสูตรตำรับให้สามารถลดหรือจำกัดปริมาณแอลกอฮอล์ลง โดยยังคงประสิทธิภาพ คุณภาพ ความปลอดภัยไว้ ไม่ให้กระทบต่อภูมิปัญญาดั้งเดิมที่มีคุณค่า
 
นพ.สุรโชค กล่าวในตอนท้ายว่า การบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรโบราณ ต้องรับประทานตามข้อบ่งใช้ และวิธีรับประทานที่ปรากฏบนฉลากและเอกสารกำกับผลิตภัณฑ์ ไม่ใช้ในลักษณะของการเป็นเครื่องดื่มในปริมาณที่มากเกินกว่ากำหนด หรือใช้ไปในทางที่ไม่เหมาะสม มอมเมาเยาวชน ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ และเป็นปัญหาสังคมตามมา หากผู้บริโภคพบเห็นผลิตภัณฑ์ต้องสงสัย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย.1556 หรือผ่านทาง Oryor Smart Application หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ


ที่มา...https://pr.moph.go.th/?url=pr/detail/2/02/145120/