ผู้เขียน หัวข้อ: 5 โรคร้ายและอันตรายข้างเคียง หากเป็น “เบาหวาน”  (อ่าน 1724 ครั้ง)

ออฟไลน์ admin

  • Administrator
  • medtech ปี เอก
  • *****
  • กระทู้: 2325
    • อีเมล์



โรคเบาหวานเป็นโรคอันตรายที่พบคนไทยเป็นกันอยู่เรื่อยๆ สาเหตุมาได้ทั้งจากพันธุกรรม และจากพฤติกรรมการกินอาหาร รวมถึงการออกกำลังกายที่เหมาะสม

แม้ว่าจะเป็นโรคเรื้อรังที่รักษาหายได้ลำบาก แต่หากเป็นโรคเบาหวานแล้วควรพยายามควบคุมอาการให้ดี ไม่ให้อาการกำเริบหรือมีอาการหนัก เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงให้กับโรคร้าย และอันตรายจากทางสุขภาพอื่นๆ ได้

1.   ความจำเสื่อม
สมองเสื่อมหรือ Dementia คือ ภาวะที่สมองถดถอยจนไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ อัลไซเมอร์คือโรคในกลุ่มนี้ที่พบบ่อยที่สุดและคนไข้เบาหวานก็มีโอกาสเป็นอัลไซเมอร์หรือกลุ่มอาการสมองเสื่อมมากถึงร้อยละ 50 เกิดจากหลายสาเหตุไม่ว่าจะด้วยความสัมพันธ์ระหว่างระดับน้ำตาลในเลือดและความดันเลือดที่ส่งผลกับสมอง ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia) ที่สร้างความเสียหายต่อสมองส่วน hippocampus ซึ่งกระทบกับความจำโดยตรง ยังมีอีกทฤษฎีที่เรียกโรคอัลไซเมอร์ว่าเบาหวานประเภทที่ 3 เพราะการทำงานของอินซูลินที่ผิดปกติมีผลต่อการสะสมของโปรตีนอะมัยลอยด์ (Amyloid plaques) และ เทาว์โปรตีน (Tau protein) ซึ่งสันนิษฐานกันว่าเป็นสาเหตุของอัลไซเมอร์นั่นเอง

2.  ตาบอด สูญเสียการมองเห็น
เบาหวานขึ้นตา (Diabetic Retinopathy) เป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน ทำให้เส้นเลือดที่เรตินาหรือจอตาได้รับความเสียหายจากน้ำตาลอุดตันและเลือดไม่สามารถไหลเวียนได้ตามปกติจนกระทบกับการมองเห็น หลายคนอาจจะรู้จักภาวะนี้อยู่บ้างและอาจมองว่าไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ แต่จากสถิติผู้ป่วยโรคเบาหวานในประเทศไทยพบว่า ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 มีโอกาสมีภาวะเบาหวานขึ้นตาได้มากถึงร้อยละ 98 ขณะที่ผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 2 มีโอกาสมีภาวะเบาหวานขึ้นตาได้มากถึงร้อยละ 60 เลยทีเดียว

3.  กระดูกพรุน/กระดูกหัก
หากผู้ป่วยเบาหวานปล่อยให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานานๆ น้ำตาลที่อยู่ในเลือดจะค่อยๆ ทำลายโครงสร้างคอลลาเจนของกระดูก ทำให้กระดูกแตกหักได้ง่ายขึ้น ทนต่อแรงกระทบกระแทกได้น้อยลง ความหนาแน่นของกระดูกก็ลดลง นำไปสู่ความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุนและกระดูกหักได้ นอกจากนี้ผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 2 อาจได้รับผลกระทบจากยากลุ่มไพโอกลิตาโซน (TZD – Pioglitazone) โดยยากลุ่มนี้จะไปยับยั้งการสร้างของมวลกระดูกเกิดใหม่ เป็นเหตุให้กระดูกแตกเปราะ อีกทั้งยังทำให้มวลกระดูกและฟันเสื่อมลง บางลง และหักได้ง่ายอีกด้วย

4.  สมรรถภาพทางเพศลดลง
ภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศเป็นผลข้างเคียงที่ผู้ป่วยเบาหวานผู้ชายมีโอกาสพบได้ร้อยละ 50-90  เกิดจากหลายสาเหตุเช่น ผลข้างเคียงของยารักษาเบาหวานที่ไปกระทบกับความดันเลือดซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการแข็งตัวขององคชาต พลังงานในร่างกายไม่คงที่เพราะระดับน้ำตาลในเลือดไม่ปกติ หรือฮอร์โมนเพศชายลดลงจนขาดความต้องการไปจนถึงมีสภาวะเครียด ซึมเศร้าในจิตใจจนกระทบกับกิจกรรมทางเพศได้ สามารถเยียวยาได้ด้วยการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดแต่จะไม่หายขาด

5.  หวานตัดขาจากแผลเรื้อรัง
ผลข้างเคียงนี้เกิดจากการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดีทำให้ระบบประสาทส่วนปลายเสื่อม สูญเสียประสาทรับความรู้สึก โดยจะรู้สึกชาคล้ายเป็นเหน็บ ถ้าอาการรุนแรงระบบประสาทอัตโนมัติอาจเสื่อมร่วมด้วย ทำให้ผิวหนังบริเวณเท้าปริแตกได้ง่ายและเสี่ยงต่อการเกิดแผลเรื้อรัง หากมีอาการไปนานๆ กล้ามเนื้อเล็กๆ บางมัดบริเวณเท้าจะฝ่อลงจนเกิดเท้าบิดผิดรูป ซึ่งจะส่งผลต่อน้ำหนักที่กดทับเวลาเดิน ยิ่งทำให้เกิดแผลเรื้อรังที่เท้าและเพิ่มความเสี่ยงต่อการถูกตัดนิ้วเท้าหรือขาได้

จะเห็นได้ว่า แม้เบาหวานจะไม่ได้ทำให้เราล้มป่วยหรือเสียชีวิตโดยเฉียบพลัน แต่ผลลัพธ์ที่ตามมานั้นกระทบต่อชีวิตรอบด้านจนบอกได้เลยว่า “ไม่คุ้มค่า” ถ้าไม่ดูแลตัวเองตั้งแต่ต้น แค่เริ่มก้าวแรกวันนี้ด้วยการลดน้ำตาล อาหารพวกแป้งและอาหารแปรรูป ขยับร่างกายให้มากขึ้นและหมั่นไปตรวจสุขภาพก็ลดความเสี่ยงลงได้มากแล้ว

ขอขอบคุณ

ข้อมูล :โรงพยาบาลวิมุต

ภาพ :iStock


ที่มา...https://www.sanook.com/health/31281/