Thaimedtechjob.com

TMTJ : NEWS => ข่าวแวดวงสาธารณสุข => ข้อความที่เริ่มโดย: Por-MedTech ที่ มีนาคม 15, 2015, 02:16:07 pm

หัวข้อ: สธ.เผยหญิงไทยป่วย “มะเร็งเต้านม” เพิ่มชั่วโมงละเกือบ 4 คน
เริ่มหัวข้อโดย: Por-MedTech ที่ มีนาคม 15, 2015, 02:16:07 pm
สธ.เผยหญิงไทยป่วย “มะเร็งเต้านม” เพิ่มชั่วโมงละเกือบ 4 คน ย้ำเตือนวัย 20 ปีขึ้น คลำเต้าทุกเดือน!!!



กระทรวงสาธารณสุข เผยมะเร็งเต้านมเป็นภัยเงียบใกล้ตัว คร่าชีวิตหญิงไทยสูงเป็นอันดับ 1 ปีละเกือบ 3,000 คน ป่วยปีละกว่า 34,000 คน เฉลี่ยชั่วโมงละเกือบ 4 คน มักพบอายุ 35 ปีขึ้นไป กระทรวงสาธารณสุข เร่งรณรงค์ให้ผู้หญิงอายุ 20 ปีขึ้นไป ตรวจเต้านมด้วย 3 นิ้วของตนเองทุกเดือน เพื่อค้นหาก้อนมะเร็ง หากพบก้อนผิดปกติ อย่าอายหมอ ขอให้รีบพบแพทย์ที่โรงพยาบาล ชี้หากรักษาเร็วขณะก้อนยังเล็กไม่ลุกลาม โอกาสรักษาหายขาดและรอดชีวิตสูง 

           แพทย์หญิงพรรณพิมล วิลาปุกร โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในวันที่ 8 มีนาคม ทุกปี เป็นวันสตรีสากล ซึ่งขณะนี้ประชากรของไทยกว่าครึ่งเป็นสตรี โดยผลการสำรวจล่าสุดในปี 2557 มีจำนวน 32 ล้านกว่าคน นับเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีและกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ความสำคัญและเป็นกลุ่มเป้าหมายใหญ่ในการดูแล เพื่อให้ผู้หญิงมีสุขภาพดีทั้งกายและใจ เป็นหลักให้กับครอบครัว ชุมชน และสังคม

         แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าวต่อว่า จากการวิเคราะห์สุขภาพของผู้หญิงในขณะนี้ พบว่ามีภัยเงียบที่คุกคามสุขภาพโดยไม่มีสัญญาณเตือนให้รู้ล่วงหน้า ที่สำคัญได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก เบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โดยมะเร็งเต้านมเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของผู้หญิงไทยมากเป็นอันดับ 1 พบปีละประมาณ 3,000 ราย และป่วยปีละ 34,000 คน เฉลี่ยป่วยเพิ่มชั่วโมงละเกือบ 4 คน และมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี โรคนี้พบมากในผู้หญิงอายุ 35 ปีขึ้นไป 

          กลุ่มที่มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม ได้แก่ หรือผู้หญิงที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม โดยเฉพาะวงญาติใกล้ชิด ได้แก่ แม่ พี่สาว น้องสาว ผู้หญิงที่เป็นประจำเดือนเร็ว ตั้งแต่อายุก่อน 12 ปี  หรือประจำเดือนหมดช้าหลังอายุ 55 ปี ผู้หญิงสูบบุหรี่จัด ดื่มสุรา ไม่ออกกำลังกาย โดยพบว่าผู้หญิงอายุ 15-49   ปี ที่น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น10 กิโลกรัม จะมีโอกาสเกิดมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นร้อยละ18     

          อย่างไรก็ดี  โรคนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้ ถ้าพบตั้งแต่อยู่ในระยะเริ่มต้น กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้ทุกจังหวัด ทุกชุมชน ทุกหมู่บ้าน รณรงค์ปลูกฝังให้ผู้หญิงอายุ 20 ปีขึ้นไปทุกคน ตรวจคลำเต้านมด้วยตนเองทุกเดือน การตรวจเต้านมเป็นประจำนั้น จะทำให้รู้ถึงสภาพที่เป็นปกติของเต้านม หากเกิดความผิดปกติของเต้านมจะสามารถพบได้ตั้งแต่เนิ่นๆ โดยตั้งเป้าให้มีอัตราครอบคลุม ผู้หญิงกลุ่มอายุดังกล่าว ให้ได้ร้อยละ 80 เพื่อลดการสูญเสียชีวิตและลดความรุนแรงของมะเร็งเต้านมให้ได้มากที่สุด หากคลำแล้วพบก้อนผิดปกติ ขอให้รีบไปพบแพทย์ อย่าอายหมอหรือปล่อยให้ก้อนโตขึ้นเรื่อยๆ  เพราะแสดงว่าก้อนเรื้อร้ายมีโอกาสแพร่กระจายไปอวัยวะอื่น โอกาสรักษาหายจะมีน้อยลง ที่ผ่านมาผู้หญิงที่เสียชีวิตจากโรคมะเร็งชนิดนี้ส่วนใหญ่มาพบแพทย์เมื่อก้อนลุกลามไปแล้ว อาการที่มักไปพบแพทย์มากอันดับ1 คือมีก้อนที่เต้านม พบร้อยละ69 รองลงมาคือ เจ็บปวดเต้านม พบร้อยละ 14 เต้านมมีก้อนดึงรั้ง เป็นรอยบุ๋ม ร้อยละ 2   

           ทางด้านนายแพทย์ดนัย  ธีวันดา ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสุขภาพ กล่าวว่า การตรวจหามะเร็งเต้านมมี 3 วิธี ประกอบด้วย 1.การตรวจเต้านมด้วยตนเอง 2.การตรวจโดยบุคลากรทางการแพทย์ และ 3.การตรวจหาด้วยเครื่องเอกซเรย์เต้านมและเครื่องอัลตราซาวด์เต้านม ซึ่งผู้หญิงทุกคนสามารถตรวจเต้านมด้วยตนเองได้ วิธีการตรวจไม่ยุ่งยาก โดยตรวจหลังประจำเดือนหมดแล้ว 3- 7 วัน ตรวจทุกเดือน ซึ่งเป็นวิธีประหยัด และเป็นที่ยอมรับในระดับโลกว่าได้ผลดีที่สุด ใช้เพียง 3 นิ้วสัมผัสคือนิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง คลำเต้านม 2 ข้าง ตามเข็มนาฬิกา หากพบว่ามีก้อนผิดปกติ ขอให้รีบไปพบอสม.หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้านหรือโรงพยาบาลทุกแห่ง เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยต่อที่โรงพยาบาล หากพบว่าเป็นจะได้รับการรักษาทันที โอกาสการหายขาดมีสูง จะสามารถยับยั้งตัดโอกาสก้อนเนื้อมะเร็งลุกลามไปอวัยวะอื่นๆ   

         นายแพทย์ดนัย กล่าวต่อว่า ในปีนี้ กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย เร่งรณรงค์สร้างกระแส ให้ผู้หญิงไทย ตระหนักถึงความสำคัญของการตรวจเต้านมด้วยตนเอง โดยอาศัยพลังของกลุ่มสตรีในชุมชน และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหรืออสม.ที่มีกว่า 1ล้านคนทั่วประเทศและส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง เพื่อเฝ้าระวังสตรีไทยจากมะเร็งเต้านม โดยได้จัดทำคู่มือให้แก่อสม.จัดทำภาพสาธิตการตรวจเต้านมด้วยตนเองง่ายๆ ทั้งเป็นรูปภาพโปสเตอร์ และภาพวีดิทัศน์ แผ่นพับ เพื่อให้ผู้หญิงใช้ตรวจเต้านมทั้ง 2 ข้างได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งแบบประเมินความเสี่ยงการเป็นมะเร็งเต้านม ซึ่งจะช่วยลดการเสียชีวิตหญิงไทยได้ สำหรับอาการผิดปกติที่สงสัยว่าอาจเป็นมะเร็งเต้านม คือพบก้อนที่เต้านม ผิวหนังเต้านมมีลักษณะเป็นรอยบุ๋ม ย่น หดตัว หรือหนาผิดปกติ มีสะเก็ด หัวนมหดตัว คัน หรือมีสีแดงผิดปกติ มีเลือดหรือน้ำไหลออกจากหัวนม โดยเฉพาะสีคล้ายเลือด ขอให้รีบพบแพทย์




***********************************
ที่มา : http://www.moph.go.th/moph2/index4.php