Thaimedtechjob.com

TMTJ : NEWS => ข่าวเทคโนโลยี => ข้อความที่เริ่มโดย: webmaster ที่ ตุลาคม 09, 2015, 10:11:08 am

หัวข้อ: หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดแม่นยำ-เชื่อถือได้
เริ่มหัวข้อโดย: webmaster ที่ ตุลาคม 09, 2015, 10:11:08 am
(https://www.thairath.co.th/media/EyWwB5WU57MYnKOuXq9IsZN0EwErvDO7nyyhwB7g9NnWCLbYr8bC0H.jpg)

"หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดประสาทศัลยศาสตร์"...สะพานเชื่อมช่องว่างสำหรับประสาทศัลยศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์

หัวข้อสนทนาสำคัญของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นาวาโท นายแพทย์สรยุทธ ชำนาญเวช ประสาทศัลยแพทย์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

นายแพทย์สรยุทธ บอกว่า ปัจจุบันนี้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการรักษาสุขภาพ โดยเฉพาะทางการแพทย์และวิศวกรรมศาสตร์ชีวการแพทย์มีความก้าวหน้าไปอย่างมาก อีกทั้งเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในบทบาทของสหวิทยาการสำหรับการแก้ปัญหาทางการแพทย์ ที่ซับซ้อน

และ...นำไปสู่ความต้องการในการดูแลรักษาสุขภาพ ทำให้อายุของประชากรในโลกยืนยาวขึ้น

“วิศวกรรมชีวการแพทย์” คือสะพานเชื่อมช่องว่างระหว่างงานด้านการแพทย์และวิศวกรรมศาสตร์ จึงเป็นสาขาวิชาหนึ่งที่สามารถตอบสนองความต้องการ...ผสานงานด้านการแพทย์และวิศวกรรมศาสตร์ได้เป็นอย่างดี โดยสาขาวิชานี้ครอบคลุมสาขาวิชาหลัก เช่น วิศวกรรม, ชีววิทยา, วิทยาการคอมพิวเตอร์ ฟิสิกส์ เคมีและสรีรวิทยา

มุ่งเน้นวิธีการของสหวิทยาการที่กล่าวมา เพื่อการศึกษาและการวิจัย เพื่อแก้ปัญหาทางการแพทย์ เพื่อการตอบโจทย์ด้านความแม่นยำ ถูกต้อง ด้วยงานด้านวิศวกรรมในการให้การวินิจฉัยและการรักษาในทุกๆด้านทั้งทางอายุรกรรมและศัลยกรรม

งานศัลยกรรมคลินิก...จุดประสงค์หลักเพื่อความถูกต้องแม่นยำจึงมีบทบาทอย่างสูงที่จะอำนวยความสะดวกและทำให้งานด้านการผ่าตัด สามารถทำซ้ำได้ ไม่เกิดการล้า และมีความแม่นยำสูง

ผล...ทำให้มีบทบาทสำคัญในการเตรียมผู้ป่วยและการวางแผนก่อนการผ่าตัด การจัดเตรียมอุปกรณ์ การกำหนดทิศทาง ขอบเขต เป้าหมาย รวมทั้งการวางแผนเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหา หรือความเสี่ยงต่ออวัยวะสำคัญ

การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีด้านการถ่ายภาพทางการแพทย์ชนิดต่างๆ เช่น เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือการถ่ายภาพคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า นอกจากนี้บทบาทของงานวิศวกรรมยังมีส่วนช่วยเป็นอย่างยิ่งในระหว่างผ่าตัด เช่น เครื่องมือวัดและติดตามสัญญาณชีวภาพต่างๆ อาทิ คลื่นไฟฟ้าหัวใจ...สมอง คลื่นไฟฟ้าทางระบบประสาทต่างๆ

หรือแม้กระทั่ง...การใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด ทำให้ศัลยแพทย์สามารถตรวจสอบ ทราบพิกัดของตนเองในปัจจุบันกาล ลดการเกิดอุบัติเหตุต่ออวัยวะสำคัญข้างเคียงของบริเวณที่ทำการผ่าตัดได้ สร้างความแม่นยำถูกต้อง ปลอดภัยสูงในระหว่างผ่าตัด

สุดท้ายนี้ “งานวิศวกรรมชีวการแพทย์” ยังมีบทบาทในการวิเคราะห์ ประเมิน ติดตามหลังการผ่าตัด...มีส่วนในการช่วยเหลือเพื่อการบำบัดฟื้นฟู

คุณหมอสรยุทธ บอกว่า วันนี้การใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดโดยเฉพาะในสาขาประสาทศัลยศาสตร์ นับเป็นสิ่งที่ท้าทายและไม่สามารถที่จะเปรียบเทียบศักยภาพของหุ่นยนต์ กับทักษะการผ่าตัดในระดับจุลศัลยกรรมของประสาทศัลยแพทย์ได้ หากแต่เป็นการนำเทคโนโลยีของหุ่นยนต์มาเติมเต็ม แก้ไขข้อบกพร่องของมนุษย์

“ทำให้เกิดความปลอดภัย...แม่นยำในการผ่าตัดโดยเฉพาะในสาขาประสาทศัลยศาสตร์ แก่ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดสมองหรือกระดูกสันหลัง อันเนื่องมาจากการพัฒนาทางเทคโนโลยีของการถ่ายภาพทางการแพทย์ เช่น การถ่ายภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า”

เมื่อรวมกับวิวัฒนาการคอมพิวเตอร์ การยอมรับอย่างกว้างขวางของประสาทศัลยแพทย์และผู้ป่วยทั่วโลก ทำให้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเป็นที่ยอมรับ...พัฒนาอย่างต่อเนื่องจนนำไปสู่การใช้งานจริงทางคลินิกต่อไป

ย้อนอดีตวันวาน ในปี ค.ศ.2007 องค์การอาหารและยาประเทศสหรัฐอเมริกาได้ยอมรับหุ่นยนต์ชื่อ SpineAssist หรือ Renaissance จากประเทศอิสราเอล โดยมีความสามารถในการกำหนดเป้าและทิศทางเพื่อช่วยในการใส่สกรูเข้าสู่กระดูกสันหลังช่วงอกและเอวได้อย่างแม่นยำ... ลดโอกาสการผิดพลาด ซึ่งมีความแม่นยำสูงถึง 98.3%

และในปี 2012 หุ่นยนต์ชนิดนี้ก็ได้รับการยอมรับจากองค์การอาหารและยาประเทศสหรัฐอเมริกาให้สามารถทำการผ่าตัดในสมองมนุษย์ได้

ถึงตรงนี้...เทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนาสำหรับหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดประสาทศัลยศาสตร์นั้นมีหลักการที่สามารถเข้าใจได้ง่ายๆ สองหลักการใหญ่ๆ คือ ประการแรก...หุ่นยนต์มีความสามารถในการกำหนดเป้าหมายและ แนวทางการเดินทางและทำงานได้อย่างแม่นยำ ถูกต้อง และเชื่อถือได้

“แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับระบบนำร่อง สำหรับการผ่าตัดหรือ Surgical Navigation System จะทำงานบนโลกเสมือนจริงเท่านั้น แต่หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดจะทำงานประสานทั้งโลกเสมือนจริงและโลกแห่งความเป็นจริงในทันที...เป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประสาทศัลยแพทย์อย่างแท้จริง”

ประการที่สอง...หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดยังมีความสามารถและประสิทธิภาพในการช่วยถือหรือจับเครื่องมือในขณะผ่าตัด จึงลดความคลาดเคลื่อนที่เกิดจากมนุษย์ลงได้อย่างมาก ความสามารถประสิทธิภาพหุ่นยนต์ที่เกิดจากการพัฒนาเทคโนโลยีนั้นอยู่บนพื้นฐานของวิทยาการทางหุ่นยนต์ เพื่อการแพทย์ที่ได้รับการพัฒนาต่อเนื่อง

เทคโนโลยีพื้นฐานนี้...เป็นความสามารถที่หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดสามารถรู้ถึงพิกัดของตนเอง จึงทำให้เกิดความแม่นยำ ถูกต้องในการทำงานในแต่ละขั้นตอนที่ได้รับการกำหนดไว้ล่วงหน้าและเป็นความจำเป็นขั้นพื้นฐาน

“ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นเมื่อใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดทางประสาทศัลยศาสตร์มีมากมายหลายประการ ทั้งทางด้านการผ่าตัดไขสันหลัง กระดูกสันหลัง และเส้นประสาทส่วนปลาย รวมถึงการผ่าตัดสมอง ซึ่งความแม่นยำและประสิทธิภาพของการผ่าตัดเพื่อใส่สกรูเข้าไปในกระดูกสันหลัง”

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อน ทรุด หรือช่องไขสันหลังตีบแคบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง...โรคกระดูกสันหลังคดงอทั้งในเด็กและผู้สูงอายุ

ปัจจุบันมีอัตราความเสี่ยง 10-40 เปอร์เซ็นต์ ที่เกิดจากสกรูนั้นหลุดออกนอกกระดูกสันหลังไปกดทับหรือตัดขาดเส้นประสาทหรือไขสันหลัง อาจทำให้เกิดความพิการหรือกระดูกสันหลังเสียหายได้ นอกจากนี้ยังอาจได้ประโยชน์จากความแม่นยำในการผ่าตัดชิ้นเนื้อในสมองเพื่อการวินิจฉัย รักษาโรคบางชนิด...

สำหรับการผ่าตัดสมอง ซึ่งต้องอาศัยความแม่นยำและถูกต้องอย่างสูง ได้แก่ การรักษาภาวะโรคซึมเศร้า โรคลมชัก หรือโรคพาร์กินสัน

สุดท้ายนี้ นายแพทย์สรยุทธ ขออนุญาตบอกบุญแก่ผู้มีจิตศรัทธาที่ต้องการจะทำบุญร่วมกันเพื่อจัดซื้อหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดประสาทศัลยศาสตร์ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้ป่วยเด็กและผู้สูงอายุในประเทศไทยให้ได้รับการรักษาที่ปลอดภัย แม่นยำ เข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูงทางการแพทย์

ผมขอเรียนเชิญร่วมงานทอดผ้าป่า “โครงการจัดซื้อหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดประสาทศัลยศาสตร์” โดยพระเดชพระคุณ พระพรหมเวที เจ้าคณะภาค 15 เจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม ได้เมตตาอนุเคราะห์เป็นประธานเพื่อดำเนินการหาทุนเพื่อจัดซื้อ “หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดประสาทศัลยศาสตร์”




ที่มา /www.thairath.co.th