
อาหารการกินก็เหมือนกัน หากกินแต่เค็ม เปรี้ยว เผ็ด ไม่ใส่น้ำตาลให้ปะแล่มๆ ให้ลิ้นได้รับรู้ครบทุกรสชาติก็ไม่อร่อย ครั้นประเคนน้ำตาลลงไปเป็นช้อนๆ ก็เกินไป ยิ่งผลสำรวจการบริโภคน้ำตาลของคนไทยพบว่าสูงถึงปีละ 32 กิโลกรัม คงไม่แปลกใจแล้วละว่าทำไมยารักษาเบาหวานถึงติดอันดับยายอดนิยมของประชาชาวไทย
ไม่เฉพาะคนไทยหรอก เบาหวานเป็นโรคที่พบได้มากทั่วโลก คนที่มีญาติพี่น้องในครอบครัวเคยเป็นมาก่อนยิ่งมีความเสี่ยงมากกว่าคนปกติทั่วไป และที่เข้าใจกันมาผิดๆ ตลอดว่าคนที่น้ำหนักมากหรือคนอ้วนเท่านั้นที่เป็นเบาหวาน ความจริงแล้ว คนผอมก็เป็นเบาหวานได้เช่นกัน
นพ.ภาวิทย์ เพียรวิจิตร อายุรแพทย์จากหน่วยโรคหัวใจ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ยืนยันว่า โรคเบาหวานไม่ได้พบเฉพาะกับคนที่มีน้ำหนักมากเท่านั้น แต่ในคนที่มีน้ำหนักน้อยก็สามารถเป็นโรคนี้ได้ เพราะความอ้วนไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้ว่าเป็นโรค แต่ขึ้นอยู่กับความผิดปกติของระบบการทำงานของตับต่างหาก
“การกินของหวานในปริมาณมาก หรือในคนที่มีน้ำหนักมาก ไม่ได้หมายความว่าเขาจะเป็นโรคเบาหวานเสมอไป หากตับทำงานปกติ ร่างกายสามารถควบคุมปริมาณน้ำตาลในเลือดได้เป็นปกติ ไม่ว่าจะกินอาหารที่มีน้ำตาลมากเท่าไหร่ ตับอ่อนก็สามารถควบคุมปริมาณน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่พอดีต่อร่างกายได้” อายุรแพทย์จากหน่วยโรคหัวใจ โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ความกระจ่าง
โรคเบาหวาน มีสาเหตุหลักมาจากพันธุกรรม และยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยมีปัจจัยเสี่ยงอยู่ที่อายุ 45 อ้วนลงพุงแถมไม่ชอบออกกำลังกาย จะมีโอกาสเกิดโรคมากกว่าคนที่ชอบออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน
โรคเบาหวานเกิดจากการกินอาหารที่มีรสหวานต่อเนื่องในปริมาณมากจนตับอ่อนซึ่งเคยผลิตอินซูลินมาทำหน้าที่ควบคุมปริมาณน้ำตาลในเลือดให้พอดีกับความต้องการของร่างกายเกิดความผิดปกติ จนเกิดการสะสมของน้ำตาลในเลือดในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง นั่นคือที่มาของโรคเบาหวาน
วิธีสังเกตตัวเองหรือคนรอบข้างว่าอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานหรือไม่ สามารถทำเองได้ที่บ้าน ด้วยการหมั่นสังเกตว่าเวลากลางคืนที่นอนหลับ ตื่นมาเข้าห้องน้ำบ่อยหรือไม่ เพราะคนปกติมักตื่นมาเข้าห้องน้ำเพียง 1-2 ครั้งเท่านั้น
นอกจากนี้ให้สังเกตน้ำหนักร่างกายด้วย เพราะในคนที่เป็นโรคเบาหวานแฝง ระยะเริ่มแรกจะไม่มีอาการ แต่น้ำหนักจะลดลงมากผิดปกติ ตามด้วยปัสสาวะบ่อยมีฟองและหิวน้ำบ่อยด้วย รวมถึงอาจมีอาการหน้ามืดเป็นลม ชาที่บริเวณปลายเท้า ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองโอกาสการเกิดโรคทันที
หากพบว่าตัวเองต้องสงสัยว่าจะเป็นโรคเบาหวานควรไปตรวจเลือดที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน โดยอดอาหารและเครื่องดื่มทุกชนิด ตั้งแต่เที่ยงคืนแล้วไปเจาะเลือดในตอนเช้า เพื่อดูระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร 6 ชั่วโมง (FPG) ซึ่งคนปกติจะมีค่าต่ำกว่า 110 มิลลิกรัม ต่อเลือด 100 มิลลิลิตร หากพบมีค่าเท่ากับหรือมากกว่า 126 มิลลิกรัม ในการตรวจอย่างน้อย 2 ครั้ง ก็วินิจฉัยได้ว่าเป็นเบาหวาน และยิ่งมีค่าสูงเท่าใดก็แสดงว่ามีความรุนแรงของการเป็นเบาหวานเพิ่มมากขึ้น
โรคที่อาจตามมาหลังเบาหวานเข้ามามีบทบาทในชีวิต อายุรแพทย์รามาธิบดี บอกว่า มีทั้งโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดอุดตัน จนถึงขั้นอัมพฤกษ์อัมพาตได้ โดยสถิติที่ผ่านมาพบว่ามีคนไข้ที่เป็นโรคเบาหวานมากถึง 65% ที่เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ และหลอดเลือดอุดตัน
“คนที่เป็นโรคเบาหวานไม่ควรซื้อยากินเอง เนื่องจากยาบางประเภทมีผลต่อค่าน้ำตาลในเลือดต่ำกว่าปกติ และอาจทำให้ฤทธิ์ของยารักษาเบาหวานแรงขึ้นได้ ก่อนทานยาประเภทใดควรจะต้องแน่ใจว่ายานั้นไม่มีผลต่อค่าน้ำตาลในเลือดด้วยการปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเพื่อป้องกันอาการข้างเคียงที่อาจขึ้นกับตัวเรา” แพทย์จากหน่วยโรคหัวใจ ร.พ.รามาธิบดี กล่าว
วิธีป้องกันให้ร่างกายห่างไกลโรคเบาหวาน ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า หากเลือกได้ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีความหวานให้น้อย หรือเลือกกินอาหารที่ใช้สารทดแทนน้ำตาลเป็นส่วนผสม เพื่อคงประสิทธิภาพการทำงานของตับอ่อนในการผลิตอินซูลินมาควบคุมปริมาณน้ำตาลในเลือดให้มีความพอดีในระยะยาว
ที่ขาดไม่ได้ คือ ควรหมั่นออกกำลังกายทุกวัน หรือ 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ 20-30 นาทีต่อครั้ง โดยเฉพาะในคนที่เป็นเบาหวานแล้ว หากปฏิบัติด้วยวิธีดังกล่าว พร้อมกับพบแพทย์เพื่อตรวจดูระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำหรือตามที่แพทย์นัด รวมถึงตรวจโรคแฝงที่อาจตามมาแทรกซ้อนในภายหลังที่เป็นโรคเบาหวาน ก็จะมีสุขภาพที่ดีอยู่เคียงคู่กับโรคได้อย่างมีความสุขในระยะยาว
ืั้ที่มา กรุงเทพธุึระกิจ