ผู้เขียน หัวข้อ: อีโบลา : เชื้อไวรัสมรณะ นานาชาติผวา ระบาดทั่วโลก  (อ่าน 758 ครั้ง)

ออฟไลน์ Por-MedTech

  • Global Moderator
  • medtech ปี เอก
  • *****
  • กระทู้: 1192
    • อีเมล์
อีโบลา : เชื้อไวรัสมรณะ นานาชาติผวา ระบาดทั่วโลก


         การระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลาทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ และยังไม่มีท่าทีว่าจะยุติลงในเร็ว ๆ นี้ สร้างความหวาดวิตกไปทั่วโลกว่า เชื้อมรณะดังกล่าวอาจแพร่กระจายออกนอกภูมิภาคแอฟริกากลาง โดยเฉพาะในยุคโลกไร้พรมแดนเช่นทุกวันนี้

         ซีเอ็นเอ็นระบุว่า การระบาดครั้งล่าสุดปะทุขึ้นในประเทศกินี ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา จากผู้ติดเชื้อหยิบมือเดียวเพิ่มจำนวนเป็นเกือบพันคนอย่างรวดเร็ว และมีผู้เข้าข่ายต้องสงสัยว่าติดเชื้ออีกกว่า 400 คน ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างไลบีเรีย เซียร์ราลีโอน รวมถึงไนจีเรียก็พบการระบาดของโรค และมีผู้เสียชีวิตไล่หลังมาติด ๆ

         ล่าสุด องค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยว่า มีผู้ที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อ 1,440 คน และมีผู้เสียชีวิตแล้วทั้งหมด 826 คน ซึ่งสูงกว่าการระบาดครั้งร้ายแรงที่สุดครั้งก่อนเกือบ 2 เท่า โดยในช่วง 28-30 กรกฎาคม มีผู้ติดเชื้ออีโบลาต้องสังเวยชีวิตกว่า 50 ราย กินี ไลบีเรีย และเซียร์ราลีโอน ประกาศใช้มาตรการเข้มข้นต่อสู้กับไวรัสอีโบลา โดยเน้นไปที่พื้นที่ตามแนวชายแดน ซึ่งเป็นบริเวณที่พบผู้ติดเชื้อราว 70% ของทั้งหมด ส่วนไอวอรีโคสต์ แม้ยังไม่พบการแพร่ระบาดของโรค แต่ก็เตรียมการรับมือเชื้อไวรัสมรณะอย่างเต็มที่ ในฐานะเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกับกินีและไลบีเรีย

          ด้าน WHO ทุ่มงบฯ 100 ล้านดอลลาร์ เพื่อป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคนี้ โดย ดร.มาร์กาเร็ต ชาน ผู้อำนวยการใหญ่ของหน่วยงานดังกล่าวยอมรับว่า การแพร่ระบาดเป็นไปอย่างรวดเร็วกว่าความพยายามในการควบคุมเชื้อโรค และรอบนี้ เป็นการระบาดครั้งใหญ่สุดของไวรัสอีโบลา ในรอบเกือบ 40 ปีนับจากค้นพบโรค "ถ้าสถานการณ์ยังคงเลวร้ายลงอีก ผลที่ตามมาอาจเป็นหายนะครั้งใหญ่ ทั้งในด้านจำนวนผู้เสียชีวิต รวมถึงความสูญเสียด้านสังคม-เศรษฐกิจ และความเสี่ยงสูงที่โรคจะแพร่กระจายไปยังประเทศอื่น ๆ"

          เหยื่อของไวรัสอีโบลาไม่ใช่เพียงคนในพื้นที่เท่านั้น นายแพทริก ซอว์เยอร์ ชาวอเมริกันที่ทำงานในไลบีเรีย กลายเป็นพลเมืองของสหรัฐคนแรกที่เสียชีวิตจากโรคดังกล่าวระหว่างเดินทางไปไนจีเรีย และมีชาวอเมริกันอีกอย่างน้อย 2 คน ได้รับการยืนยันแล้วว่าติดเชื้ออีโบลา ได้แก่ นายแพทย์เคนท์ เบรนต์ลีย์ และนางแนนซี ไวต์โบล มิชชันนารีที่เข้าไปทำงานช่วยเหลือผู้ยากไร้ในไลบีเรีย ซึ่ง น.พ.เบรนต์ลีย์ นั้นถูกส่งตัวจากแอฟริกาไปรักษาที่ โรงพยาบาลในเมืองแอตแลนตา มลรัฐจอร์เจียของสหรัฐแล้ว เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนนางไวต์โบลตามมาในอีก 2 วัน

           การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยดังกล่าวสร้าง ความกังวลให้กับชาวอเมริกันว่า ไวรัสอีโบลา อาจข้ามทวีปมาแพร่ระบาดในสหรัฐได้ แต่เจ้าหน้าที่รัฐบาลยืนยันว่า กระบวนการเป็นไปอย่างระมัดระวังสูงสุด โดยใช้เครื่องบินเช่าเหมาลำ และขณะนี้ผู้ป่วยถูกกักตัวอยู่ในอาคารซึ่งแยกจากส่วนอื่น ๆ ของ โรงพยาบาล นอกจากนี้เครื่องไม้เครื่องมือที่ ทันสมัยตลอดจนบุคลากรทางการแพทย์ที่พรั่งพร้อมจะช่วยให้การรักษาผู้ป่วยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีโอกาสต่ำมากที่เชื้อไวรัสจะเล็ดลอดออกไปสู่สาธารณชน

           อย่างไรก็ตาม การเสียชีวิตของนาย ซอว์เยอร์ซึ่งเดินทางโดยเครื่องบินจากกรุงมอนโรเวีย เมืองหลวงของไลบีเรีย ไปยังกานาและโตโก เพื่อเปลี่ยนเครื่องไปยังเมืองลาโกส ของไนจีเรีย ทำให้เกิดคำถามตามมาว่าเหตุใดสายการบินจึงอนุญาตให้ผู้ติดเชื้ออีโบลาเดินทางออกนอกพื้นที่ ซึ่งทำ ให้ลูกเรือและผู้โดยสารคนอื่น ๆ ที่โดยสารเครื่องบินลำเดียวกับนายซอว์เยอร์เสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสอีโบลา

           ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ชี้แจงว่า เนื่องจากไวรัสอีโบลาใช้ระยะเวลาฟักตัว 21 วัน ระหว่างนั้นผู้ติดเชื้ออาจไม่มีอาการ ผิดปกติใด ๆ ทางสายการบินจึงไม่มีเหตุผลที่จะห้ามผู้โดยสารที่ดูสุขภาพปกติ ไม่ให้เดินทางจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่งดังนั้นการโดยสารเครื่องบินจึงกลายเป็น ช่องทางที่เป็นไปได้มากที่สุดที่ไวรัสชนิดนี้จะแพร่กระจายจากแอฟริกาตะวันตกไปยังภูมิภาคอื่น ๆ ของโลก

           แต่การแพร่เชื้อภายในเครื่องบินที่มี ผู้โดยสารติดไวรัสอีโบลาไม่ได้เกิดขึ้นง่ายดายอย่างที่เข้าใจ นายมาร์ตี ซีตรอน ผู้อำนวยการฝ่ายอพยพและกักกันโรค ของศูนย์ ป้องกันและควบคุมโรคสหรัฐให้ข้อมูลว่า เชื้อโรคตัวนี้ไม่สามารถแพร่กระจายในอากาศ การส่งผ่านเชื้อไวรัสจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการสัมผัสกับของเหลวอย่างเลือดหรือน้ำลายจากร่างกายคนป่วยเท่านั้น

           ปัญหาที่น่ากังวลในแอฟริกาตะวันตกก็คือการขาดแคลนอุปกรณ์รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ ทำให้การควบคุมโรคเป็นไปอย่างยากลำบาก ญาติพี่น้องของผู้ป่วยต้องทำหน้าที่ดูแลผู้ติดเชื้อโดยขาดอุปกรณ์ป้องกัน ทำให้เสี่ยงสูงที่จะเป็นผู้ป่วย รายต่อไป ยิ่งไปกว่านั้นในพิธีฝังศพของชาวแอฟริกัน ผู้ไปร่วมงานต้องสัมผัสกับศพโดยตรงจึงเพิ่มโอกาสที่จะติดโรค

           นอกจากนี้จำนวนผู้เสียชีวิตที่พุ่งสูงอย่างรวดเร็ว ยังส่งผลให้คนในท้องถิ่นขาดความเชื่อมั่นในวิธีการแพทย์แผนปัจจุบัน แล้วหันไปใช้การรักษาแบบพื้นบ้าน หรือพึ่งพ่อมดหมอผี ซึ่งรังแต่จะทำให้การระบาดรุนแรงยิ่งขึ้น
ข้อเท็จจริงของโรคอีโบลา
1.โรคนี้พบครั้งแรกปี 2519 ในการระบาดที่เมืองซาราของซูดาน และเมืองยัมบูกู สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก โดยในประเทศหลังนั้นเกิดการแพร่ระบาดใกล้กับแม่น้ำ อีโบลา ซึ่งเป็นที่มาของชื่อเชื้อไวรัสชนิดนี้
2.เชื้อไวรัสอีโบลาเข้าสู่ประชากรมนุษย์ผ่านการสัมผัสกับเหงื่อ เลือด น้ำลาย หรือสารคัดหลั่งจากร่างกายของสัตว์ที่ที่ติดเชื้ออย่างชิมแปนซี กอลิลลา ลิง หรือค้างคาวผลไม้ในแถบป่าฝนเขตร้อน ส่วนการแพร่เชื้อจากคนสู่คน มีทั้งแบบทางตรงคือสัมผัสกับของเหลวจากร่างกายผู้ป่วย และทางอ้อมโดยสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่ง จากร่างกายคนป่วย
3.อาการของโรคเริ่มจากมีไข้ ปวดกล้ามเนื้อและเจ็บคอ จากนั้นจะพัฒนาไปสู่อาการอาเจียน ท้องร่วงและเลือดออกทั้งภายในและภายนอกร่างกาย อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 50-90% ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด
4.ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนหรือยารักษาโรคนี้โดยตรง ทำได้เพียงรักษาตามอาการ ผู้ป่วยมักขาดน้ำจึงต้องให้น้ำเกลือแร่ ทางปากหรือฉีดเข้าหลอดเลือดดำ





ที่มาข่าว:นสพ.ประชาชาติธุรกิจ
ที่มาภาพ:Internet