ผู้เขียน หัวข้อ: โรคกรดไหลย้อน Gastroesophageal Reflux Disease  (อ่าน 906 ครั้ง)

ออฟไลน์ tikky

  • Global Moderator
  • medtech ปี เอก
  • *****
  • กระทู้: 1985
โรคกรดไหลย้อน Gastroesophageal Reflux Disease
« เมื่อ: กรกฎาคม 03, 2011, 09:33:14 am »

เมื่อเรารับประทานอาหารทางปาก อาหารจะถูกเคี้ยวและกลืนเข้าหลอดอาหาร อาหารจะถูกบีบไล่ไปยังกระเพาะอาหาร ระหว่างรอยต่อของกระเพาะอาหารและหลอดอาหารจะมีหูรูดหรือที่เรียกว่า Sphincter ทำให้ที่ปิดมิให้อาหารหรือกรดไหลย้อนกลับไปยังหลอดอาหาร เมื่ออาหารอยู่ในกระเพาะจะมีกรดออกมาจำนวนมาก เมื่ออาหารได้รับการย่อยแล้วจะถูกการบีบไปยังลำไส้เล็ก ดังนั้นหากมีกรดไหลย้อนไปยังหลอดอาหารก็จะมีอาการเจ็บหน้าอก
โรคกรดไหลย้อนคืออะไร

คือภาวะที่กรดไหลย้อนจากกระเพาะอาหารไปยังหลอดอาหาร ทำให้เกิดอาการเจ็บแน่นหน้าอก หรือแสบหน้าอก บางครั้งอาจจะรู้สึกรสเปรี้ยว
สาเหตุของกรดไหลย้อน

    Hiatus hernia (คือโรคที่เกิดจากกระเพาะอาหารส่วนต้นเข้าไปในกำบังลม)
    ดื่มสุรา
    อ้วน
    ตั้งครรภ์
    สูบบุหรี่
    อาหารรสเปรี้ยว เผ็ด
    ช้อกโกแลต
    อาหารมัน ของทอด
    หอมกระเทียม
    มะเขือเทศ


เป็นที่ทราบกันดีว่า เมื่อโลกของเราเปลี่ยนไป รูปแบบของโรคภัยไข้เจ็บก็จะเปลี่ยนไปตามยุคสมัยด้วยกล่าวกันว่า ยุคนี้เป็นยุคที่โรคแผลกระเพาะอาหารและแผลลำไส้จากน้ำย่อย (peptic ulcer disease / PU) ลดลง เปิดโอกาสให้คลื่นลูกใหม่คือ โรคกรดไหลย้อนหรือเจ้า "เกิร์ด (gastroesophageal reflux disease / GERD) ได้แจ้ง "เกิด" จนกลายเป็นโรคสุดฮิตแทน

    โปรดสังเกตว่า ด้านบนหลอดอาหารจะมีหูรูด (sphinctor) ซึ่งมีรูปร่างคล้าย "คอคอดขวด (bottle neck)" ทำหน้าที่เปิดให้อาหารและน้ำไหลลงได้ อากาศหรือลมไหลขึ้นได้ (เวลาเรอหรืออาเจียน)
    ปกติหูรูดนี้จะไม่ยอมให้อาหาร น้ำ และกรดไหลย้อนขึ้นไปทำให้หลอดอาหารอักเสบ เนื่องจากหลอดอาหารของคนเราไม่ทนกรด (จากกระเพาะอาหาร)
    คนที่เป็นโรคกรดไหลย้อนจะมีการ "ขย้อน" หรือไหลย้อนกลับของอาหาร น้ำ หรือน้ำย่อยจากด้านล่างขึ้นด้านบน
ปกติร่างกายคนเรามีกลไกป้องกันโรคกรดไหลย้อนจากล่างขึ้นบนหลายกลไกได้แก่

    หลอดอาหารจะมีการบีบไล่อาหารและน้ำในทิศทางจากบนลงล่าง  ทำให้อาหาร น้ำ และน้ำย่อยไหลจากหลอดอาหารลงสู่กระเพาะอาหารหูรูดส่วนล่าง (บริเวณคอคอดขวดในภาพ) ของหลอดอาหาร (อยู่เหนือกระเพาะอาหารเล็กน้อย) คอยบีบตัว คล้ายๆ เชือกที่รูดปากถุงข้าวสารไว้ไม่ให้ข้าวหกกระเพาะอาหารจะมีการบีบไล่อาหาร น้ำ และน้ำย่อยในทิศทางจากบนลงล่าง > ทำให้อาหาร น้ำ และน้ำย่อยไหลลงสู่ลำไส้เล็ก (อยู่ถัดจากกระเพาะอาหารลงไปด้านล่าง)เรื่องของเรื่องคือ กลไกป้องกันเหล่านี้ทำงานได้น้อยลง หรือไม่ดีเท่าที่ควรในคนบางคน ซึ่งพบได้ประมาณ 1 ใน 5 จนถึง 1 ใน 6 ของประชากรทั่วไป นั่นหมายความว่า ถ้าเราพบคน 5-6 คนจะมีคนที่มีโอกาสเป็นโรคกรดไหลย้อน 1 คน ซึ่ง 1 ในผู้โชคร้ายนี้คือ ผู้เขียนนี่เอง

กลไกที่โรคกรดไหลย้อนทำให้เกิดอาการต่างๆ อย่างกว้างขวางมีทั้งการทำให้เกิดการอักเสบจากกรดหรือน้ำย่อย และการกระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติทำให้อวัยวะภายในเรรวน (ทำไมไปคล้ายใจคนก็ไม่ทราบเหมือนกัน)

อาการที่พบบ่อยจากโรคเกิร์ดหรือกรดไหลย้อนขึ้นหลอดอาหาร คอหอย หรือช่องปากได้แก่

    ปวดแสบร้อนบริเวณหน้าอก > ฝรั่งจึงเรียกว่า 'heartburn' หรือร้อนเหมือนไฟลนหัวใจ เนื่องจากกรดไปทำให้หลอดอาหารอักเสบ
รู้สึกคล้ายมีก้อนจุกอยู่ในคอ เนื่องจากบางคนกรดไหลย้อนสูงหน่อย ทำให้กล่องเสียง หรือคอหอยอักเสบเลย กลืนลำบากติดๆ ขัดๆ หรือกลืนเจ็บ เนื่องจากกรดไปทำให้หลอดอาหารอักเสบ แต่ถ้ากลืนอะไรไม่ลงนี่... ต้องรีบไปปรึกษาหมอใกล้บ้าน เนื่องจากอาจเป็นอาการของเนื้องอกในหลอดอาหารได้

    เจ็บคอ แสบปาก แสบลิ้นเรื้อรัง โดยเฉพาะตอนเช้า เนื่องจากเวลานอนกรดจะไหลย้อนได้มากกว่าเวลาอื่นๆ
    บางคนได้รสขมของน้ำดี หรือรสเปรี้ยวของกรด เนื่องจากกรดไหลย้อนสูงมากๆ > ถ้ากรดไหลย้อนมากจริงๆ อาจทำให้ฟันสึกกร่อน เสียวฟัน หรือฟันผุได้

อาการที่พบบ่อยจากโรคเกิร์ดหรือกรดไหลย้อนขึ้นกล่องเสียงได้แก่

    เสียงแหบ โดยเฉพาะเสียงแหบตอนเช้า

    ไอเรื้อรัง หรือหายใจไม่ออกตอนกลลางคืน
    เป็นโรคปอดอักเสบบ่อยๆ > ข้อนี้พบในคนที่กรดไหลย้อนมากจนเอ่อล้นเข้าไปในหลอดลม

ทีนี้วิธีสู้ภัยพิบัติจากโรคกรดไหลย้อนหรือเจ้าเกิร์ดได้แก่

(1). ทำใจไม่ว่าจะมีภัยพิบัติใดเกิดขึ้น... ขั้นแรกคือ ต้องทำใจให้ได้ เช่น ปลอบใจตัวเองว่า ไม่เป็นไร

    คนที่ตายด้วยโรคนี้ (เกิร์ดหรือกรดไหลย้อน) มีน้อยมากๆ คือ หลอดอาหารบางคนอักเสบเรื้อรัง กลายเป็นมะเร็งหลอดอาหาร แต่ก็พบน้อยมากๆ ไม่อย่างนั้นเพื่อนๆ "ร่วมโรค" ของเราอีก 1 พันล้านคนคงจะตายเรียบไปหมดแล้ว
    พอทำใจได้แล้วจะได้ตั้งใจอยู่กับมันให้ได้ และตั้งหน้าตั้งตาปรับเปลี่ยนแบบแผนการใช้ชีวิต (ไลฟ์สไตล์ / lifestyle) ให้เรื่องหนักกลายเป็นเรื่องเบาต่อไป


(2). ลดความอ้วน

    ถ้าอ้วน > ควรหาทางลดน้ำหนัก เนื่องจากไขมันในช่องท้อง และไขมันรอบพุงต่างก็มีส่วนเพิ่มแรงดันในช่องท้อง ทำให้กรดไหลย้อนได้ง่ายขึ้น


(3). ลดเครียด

    ถ้าเครียดง่าย > ควรหาทางลดความเครียด เช่น ออกแรง-ออกกำลังเป็นประจำ ฝึกหายใจช้าๆ ไม่เกิน 10 ครั้งต่อนาที วันละ 15 นาที ฝึกไทเกก-ไทชิ มวยจีน โยคะ ฯลฯ

    เวลาดู TV ไทยต้องมีรีโมตไว้ใกล้ตัว > พอเห็นข่าวร้ายๆ เช่น ข่าวพวกประท้วงทั้ง 2 ฝ่าย ข่าว 3 จังหวัดภาคใต้ ข่าวชายแดนเขมร ฯลฯ จะได้รีบปิด TV หรือเปลี่ยนช่องทันที
    ถ้ารู้ตัวว่า ขวัญอ่อน... อย่าไปดูข่าวการเมืองมากเกิน เพราะความเครียดจะทำให้เกิดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารออกมามากขึ้นได้

(4). เลิกบุหรี่

    ถ้าสูบบุหรี่... ควรเลิกบุหรี่ เนื่องจากบุหรี่เพิ่มการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร

(5). ไม่สวมเสื้อผ้าคับ

    การสวมเสื้อผ้าคับเพิ่มความดันในช่องท้อง ทำให้กรดไหลย้อนขึ้นเบื้องบนได้ง่ายขึ้น

(6). ระวังท้องผูก

    การเบ่งอะไรนานๆ โดยเฉพาะเบ่งถ่ายอุจจาระเวลาท้องผูก มีส่วนเพิ่มแรงดันในช่องท้อง ทำให้กรดไหลย้อนขึ้นเบื้องบนได้ง่ายขึ้น

    วิธีป้องกันท้องผูกที่ดีคือ กินเส้นใย(ไฟเบอร์)จากพืชผักให้มากพอทุกวัน ดื่มน้ำให้มากพอ และออกแรง-ออกกำลังเป็นประจำ

(7). ระวังโรคไอ

    โรคอะไรก็ได้ที่ทำให้ไอเรื้อรังจะทำให้กรดไหลย้อนขึ้นเบื้องบนได้ง่ายขึ้น เนื่องจากแรงดันในช่องท้องจะเพิ่มขึ้นมากเวลาไอ

(8). ไม่กินอิ่มเกิน

    คนที่เป็นโรคกรดไหลย้อนหรือเกิร์ดควรแบ่งอาหารเป็นมื้อเล็กหน่อย วันละหลายๆ มื้อ เช่น วันละ 4-5 มื้อ ฯลฯ


(9). ไม่กินข้าวคำน้ำคำ

    การกินข้าวคำน้ำคำ หรือการดื่มน้ำตามหลังอาหารแทบทุกคำจะทำให้ปริมาณอาหาร น้ำ และน้ำย่อยในกระเพาะอาหารเพิ่มขึ้น ผลคือ กรดไหลย้อนขึ้นเบื้องบนมาก

...

    ถ้าเป็นไปได้... ควรกินอาหารแค่พออิ่ม อย่าให้อิ่มเกิน อิ่มแล้วรอสักพัก 10-15 นาทีค่อยดื่มน้ำตาม

...

(10). ไม่กินไปพูดไป

    การกินไปพูดไปจะทำให้เผลอกลืนลม(อากาศ)เข้าไปพร้อมอาหาร ทำให้ปริมาณอาหาร น้ำ และลมรวมกันมากเกิน ผลคือ กรดไหลย้อนขึ้นเบื้องบนมาก

...

(11). มื้อค่ำคำเล็กๆ

    อาหารมื้อเย็นหรือมื้อค่ำควรฝึกกินคำเล็กๆ กินช้าๆ เคี้ยวให้ละเอียด และกินให้เร็วขึ้น เช่น ถ้ากินตอน 2 ทุ่มควรเปลี่ยนเป็น 1 ทุ่ม ฯลฯ และเปลี่ยนเวลากินข้าวเย็นให้เร็วขึ้นเรื่อยๆ จนอาการทุเลาลง

...

    การกินอาหารใกล้เวลานอนจะทำให้อาหารที่ตกค้างอยู่ในกระเพาะอาหาร น้ำ และน้ำย่อยไหลย้อนขึ้นเบื้องบนได้ง่าย เนื่องจากหลอดอาหารจะเปลี่ยนแกนจากแนวตั้งเป็นแนวนอน

...

    เปรียบคล้ายขวดน้ำ... ถ้าเปลี่ยนจากแนวตั้งเป็นแนวนอนแล้ว น้ำจะไหลออกจากขวดได้ง่ายขึ้น
    ยิ่งถ้าไม่กินข้าวเย็นแบบพระได้ยิ่งดี เพราะโรคเกิร์ดไม่ถูกกับข้าวเย็น และที่เสี่ยงแบบสุดๆ คือ มื้อดึก ซึ่งควรงดไปเลย

...

ภาพที่ 2 > แสดงแนวแกนของหลอดอาหารในท่านอน

    การนอนหลังอาหารทันทีทำให้กรดไหลย้อนได้ง่าย เปรียบคล้ายการเอียงขวดใส่น้ำให้อยู่ในแนวราบ น้ำจะหกได้ง่าย
    ทางที่ดีคือ ควรกินอาหารก่อนนอนอย่างน้อย 3 ชั่วโมง และไม่ควรดื่มน้ำมากๆ ก่อนนอนเช่นกัน

...

(12). ยืน เดิน หรือนั่งหลังอาหาร

    การก้มตัว โดยเฉพาะการยกของหนักมีส่วนทำให้กรดไหลย้อนได้ง่าย

ภาพที่ 3 > แสดงแนวแกนของหลอดอาหารในท่าก้มตัวไปข้างหน้า

    การก้มตัวไปข้างหน้า หรือเอี้ยวตัวไปด้านข้างหลังอาหารทันทีทำให้กรดไหลย้อนได้ง่าย เปรียบคล้ายการเอียงขวดใส่น้ำให้อยู่ในแนวราบ น้ำจะหกได้ง่าย

...

(13). ไม่ยกของหนัก

    การยกของหนักหลังอาหารทันทีจะทำให้แรงดันในช่องท้องเพิ่มขึ้นมาก ผลคือ กรดไหลย้อนขึ้นเบื้องบนได้ง่ายขึ้นมาก

ภาพที่ 4 > แสดงการยกของหนักหลังอาหาร

    การยกของหนักทำให้แรงดันในช่องท้องเพิ่มขึ้น ทำให้กรดไหลย้อนขึ้นเบื้องบนได้ง่ายขึ้น ทางที่ปลอดภัยกว่าคือ ไม่ยกของหนักภายใน 2 ชั่วโมงแรกหลังอาหาร

...

(14). กินอาหารไขมันต่ำ

    อาหารไขมันสูง โดยเฉพาะอาหารประเภท "ผัดๆ ทอดๆ" หรืออาหารที่มีน้ำมันมาก เช่น กินสลัดผักแบบเทน้ำสลัดโชกหยาดเยิ้ม หรือกินแกงกะทิมากๆ ฯลฯ มีส่วนทำให้กรดไหลย้อนขึ้นเบื้องบนได้ง่ายขึ้น

...

(15). หลีกเลี่ยงอาหารบางอย่าง

    อาหารบางอย่างอาจทำให้กรดไหลย้อนขึ้นเบื้องบนได้ง่ายขึ้น พวกเราที่เป็นโรคเกิร์ดควรสังเกตว่า เราถูกกับอาหารอะไร ไม่ถูกกับอาหารอะไร จดบันทึกไว้ ต่อไปจะได้ปรับเปลี่ยนได้ ฯลฯ

...

    อาหารที่ไม่ถูกหรือแสลงกับโรคก็ควรกินแต่น้อย ไม่ต้องถึงกับงดจนเป็นศูนย์ เดี๋ยวชีวิตจะไม่มีความสุข
    หลักการคือ ขอให้ชีวิตเรามีความสุขที่ได้มีโดยชอบธรรม ไม่ไปคดโกง ไม่ไปเบียดเบียนใคร และขอให้แสวงหาความสุขที่ได้โดยชอบธรรมนี้แต่พอดี ไม่เสพสุขมากจนทำให้ตัวเรา หรือคนอื่นเดือดร้อน

...

    อาหารที่อาการทำให้โรคเกิร์ดหรือกรดไหลย้อนแย่ลงได้แก่ หัวหอม กระเทียม มะเขือเทศ อาหารจานด่วน(ฟาสต์ฟูด) ชอคโกแลต ถั่ว ลูกอม เนย ไข่ นม หรืออาหารรสจัดบางอย่าง
    ถ้าดื่มนม... ควรเปลี่ยนนมเป็นนมไขมันต่ำ หรือนมไม่มีไขมัน

...

(16). ไม่ดื่มน้ำคราวละมากเกิน

    การดื่มน้ำคราวละมากๆ เช่น 4-5 แก้วรวดเดียว ฯลฯ จะทำให้ปริมาตรอาหาร น้ำ และน้ำย่อยในกระเพาะอาหารเพิ่มขึ้น ทำให้กรดไหลย้อนขึ้นเบื้องบนได้ง่าย

...

(17). ไม่ดื่มเครื่องดื่มมากเกิน

    ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มมากเกินด้วยเหตุผลเดียวกับข้อ (16) เครื่องดื่มที่อาจทำให้กรดไหลย้อนได้ง่ายคือ กาแฟ ชา น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง แอลกอฮอล์ เช่น เหล้า เบียร์ ไวน์ สาโท ฯลฯ

...

(18). ลดน้ำอัดลม

    น้ำอัดลมทำให้ปริมาตรของลม(อากาศ)และน้ำในกระเพาะอาหารเพิ่มขึ้น ผลคือ กรดไหลย้อนขึ้นเบื้องบนได้ง่ายขึ้น นอกจากนั้นยังทำให้อ้วนง่ายด้วย

...

(19). ลดน้ำผลไม้

    น้ำผลไม้มีน้ำตาลมาก ทำให้อิ่มได้น้อย ทำให้ปริมาตรของลม(อากาศ)และน้ำในกระเพาะอาหารเพิ่มขึ้น ผลคือ กรดไหลย้อนขึ้นเบื้องบนได้ง่ายขึ้น นอกจากนั้นยังทำให้อ้วนง่ายด้วย

...

(20). นอนหัวสูง

    นอนหัวสูงในที่นี้ไม่ใช่หนุนหมอนหลายๆ ใบ เนื่องจากการหนุนหมอนหลายๆ ใบจะทำให้ปวดคอได้ง่าย

    วิธีที่ดีกว่าคือ การหาแผ่นไม้หรือแผ่นโลหะที่แข็งแรงมั่นคงมารองขาเตียงด้านหัวให้สูงขึ้น 6-10 นิ้ว เพื่อให้หลอดอาหารอยู่ในแนวตั้งมากขึ้นดังภาพ
ถ้าทำทุกวิธีแล้วอะไรๆ ยังไม่ดีขึ้น เรียนเสนอให้ปรึกษาหมอ เภสัชกร พยาบาล หรือหมออนามัยใกล้บ้าน เพื่อพิจารณาใช้ยาลดกรด (ทำให้การหลั่งกรดลดลง) และยาเสริมการทำงานของหูรูดหลอดอาหาร (ทำให้กรดไหลย้อนได้น้อยลง)

http://www.healthmee.com