ผู้เขียน หัวข้อ: ค่านิยมหลัก 11 ประการ ของการพัฒนาองค์กร (PMQA) กับสภาเทคนิคการแพทย์และ ศ.น.ทนพ.  (อ่าน 4017 ครั้ง)

ออฟไลน์ Por-MedTech

  • Global Moderator
  • medtech ปี เอก
  • *****
  • กระทู้: 1192
    • อีเมล์
ค่านิยมหลัก (core Value) 11 ประการ ของการพัฒนาองค์กร (PMQA) กับสภาเทคนิคการแพทย์ และ ศ.น.ทนพ.


บทความโดย : รศ.ทนพ.เทียนชัย ไชยเศรษฐ ประธานอนุกรรมการการศึกษาต่อเนื่องเทคนิคการแพทย์ และผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาต่อเนื่องฯ (ศ.น.ทนพ.) สภาเทคนิคการแพทย์

1. การนำองค์กรอย่างมีวิสัยทัศน์

องค์กรจะต้องมีเป้าหมายที่จะดำเนินงานอย่างชัดเจน(เป้าหมายเดียวกัน) มีทิศทางกระบวนการที่จะเดินไปสู่เป้าหมายนั้น และคนในองค์กรทุกคนต้องเดินไปพร้อม ๆ กัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้
สภาเทคนิคการแพทย์ควรเป็นต้นทาง ดังนั้นกรรมการสภาเทคนิคการแพทย์ต้องกำหนดเป้าหมายหลัก ประกาศให้ทุกคนในวิชาชีพ และประชาชนรับรู้ ว่าสภาเทคนิคการแพทย์จะดำเนินงานไปทิศทางใด จะเดินไปยังเป้าหมายนั้นอย่างไร บรรดาอนุกรรมการ หน่วยงานและเจ้าหน้าที่ในสภาทั้งหลายจะได้เดินไปในทิศทางเดียวกัน ในส่วนของ ศ.น.ทนพ. ก็ต้องกำหนดเป้าหมายระยะไกล ระยะใกล้ ของตนเองเช่นกัน ว่าศ.น.ทนพ.จะตั้งเข็มมุ่งไปทิศทางใด ซึ่งคงไม่วิ่งไปคนละทิศกับสภาเทคนิคการแพทย์

2. ความรับผิดชอบต่อสังคม

ทุกคนในองค์การจะดำเนินงานด้านใด ๆ ก็ตามจะต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเสมอ โดยการทำดีกว่าที่กฎหมายและกฎระเบียบบังคับ พร้อมสร้างเสริมให้บุคลากรในองค์กรมีจิตเป็นสาธารณะ

สภาเทคนิคการแพทย์ ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเป็นวิชาชีพที่ส่งผลโดยตรงต่อชีวิตและสุขภาพของประชาชนทั่วไป ไม่ใช่เฉพาะเพียงผู้มารับบริการทางวิชาชีพ การสร้างเสริมให้ผู้ประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์มีจิตสาธารณะจึงเป็นสิ่งที่ต้องทำ ศ.น.ทนพ. จะต้องมีส่วนร่วมโดยการมีกิจกรรมการศึกษาต่อเนื่องประเภทที่แสดงจิตสาธารณะ ความมีคุณธรรม จริยธรรม ด้วย

3. การให้ความสำคัญกับบุคลากรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

ทุกคนในองค์กรจะต้องคำนึงถึงการให้ความสำคัญกับบุคลากรทุกฝ่ายทุกแผนก ในการทำงานร่วมกันอย่างมีความสุข มีจิตใจบริการและเต็มใจที่จะให้บริการกับผู้รับบริการ โดยคำนึงถึงความพึงพอใจของผู้รับบริการ สร้างความรู้สึกการเป็นหุ้นส่วนให้กับบุคลากร

สภาเทคนิคการแพทย์เป็นองค์กรที่ประกอบด้วยสมาชิกสภาเทคนิคการแพทย์ ซึ่งได้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับเลือกจากสมาชิกให้เป็นกรรมการสภาเทคนิคการแพทย์ รวมทั้งที่เป็นตัวแทนองค์กรต่างๆ และเจ้าหน้าที่ของสภาเทคนิคการแพทย์ กรรมการ และผู้บริหารสภาเทคนิคการแพทย์จึงต้องให้ความสำคัญกับบุคลากรทุกคนในองค์กรเป็นอันดับแรก เพราะการไม่ให้ความสำคัญ การละเลย หรือการมองบุคลากรเป็นเพียงผู้ที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่ง ไม่ใช้หลักการบริหารจัดการที่ดี ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพการบริการสมาชิก การพัฒนาของสมาชิก ความร่วมมิอของสมาชิก ไปจนอาจถึงขั้นเป็นปฏิปักษ์ ซึ่งส่งผลลบกับองค์กร นอกจากบุคลากรภายในของสภาเทคนิคการแพทย์ ซึ่งหลักการบริหารถือว่าเป็นลูกค้าภายใน (Employee) ของการบริการแล้ว การที่วิชาชีพนี้ต้องให้บริการทางเทคนิคการแพทย์ต่อประชาชน ดังนั้นประชาชนทั่วไปถือว่าเป็นลูกค้าภายนอก (Customer) ที่มาใช้บริการทางวิชาชีพโดยตรง แพทย์ต้องใช้ผลการบริการตรวจทางเทคนิคการแพทย์ในการตรวจรักษาผู้ป่วย แพทย์ก็เป็นผู้ใช้บริการเช่นกัน การที่รัฐต้องให้งบประมาณกับห้องปฏิบัติการต่างๆ ก็ถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้เช่นกัน ซึ่งต้องให้ความสำคัญ

สำหรับ ศ.น.ทนพ. ผู้บริหารก็ต้องให้ความสำคัญกับทุกคนที่เข้ามาทำงานให้ ศ.น.ทนพ. ไม่ว่าจะในฐานะอนุกรรมการ ซึ่งต้องเป็นผู้ปฏิบัติไปด้วย หรือเจ้าหน้าที่ประจำของสภาเทคนิคการแพทย์ที่ทำงานในศ.น.ทนพ. และให้ความสำคัญกับสมาชิกสภาเทคนิคการแพทย์ทุกคนด้วยการพยายามสนับสนุนการเรียนรู้ด้วยกิจกรรมการศึกษาต่อเนื่องที่หลากหลาย เข้าถึงได้ง่าย รวมทั้งการสร้างขวัญกำลังใจให้มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆด้วยกิจกรรมการศึกษาต่อเนื่องที่นอกจากเป็นการพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพแล้ว ยังเป็นประโยชน์โดยตรงต่อชุมชน เพื่อนร่วมวิชาชีพทางการแพทย์ และประชาชนทั่วไป ทั้งการเผยแพร่ความรู้และการให้บริการ

4. ความเป็นเลิศขององค์กรที่มุ่งเน้นผู้รับบริการ

มุ่งเน้นการให้บริการเป็นประการสำคัญ จะต้องสำรวจความต้องการของผู้รับบริการ ว่าเขาต้องการอะไรจากเราโดยการรับฟัง สอบถาม การสำรวจความต้องการของผู้รับบริการ และสนองตอบต่อความต้องการของผู้รับบริการให้ตรงตามวัตถุประสงค์ สร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อผู้รับบริการ มุ่งมั่นในการกําจัดความไม่พึงพอใจของผู้รับบริการ ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของผู้รับบริการ

สภาเทคนิคการแพทย์ และศ.น.ทนพ. ต้องมุ่งเน้นการให้บริการ โดยให้ความสำคัญกับผู้รับบริการ ต้องมีการสำรวจความต้องการของลูกค้าภายใน และลูกค้าภายนอก เพื่อนำมาปรับปรุง พัฒนาการให้บริการลูกค้าที่มารับบริการให้ตรงตามวัตถุประสงค์ได้ถูกต้อง ทั้งสภาเทคนิคการแพทย์ และ ศ.น.ทนพ. ต่างก็มีลูกค้าภายในคือสมาชิกสภาเทคนิคการแพทย์ ลูกค้าภายนอกคือแพทย์ และประชาชน การพัฒนาการทำงานของสภาเทคนิคการแพทย์และศ.น.ทนพ. ก็ต้องมุ่งเน้นผู้รับบริการเช่นกันจึงจะไปสู่ความเป็นเลิศศขององค์กรได้

5. การมุ่งเน้นอนาคต

ทุกคนในองค์กรจะต้องมองเป้าหมายขององค์กรไปให้ไกล ๆ และพยายามไปให้ถึงเป้าหมายนั้นให้ได้

การเป็นองค์กรระดับนำได้ต้องมุ่งเน้นอนาคตยาวๆ มองให้ไกล และไปให้ถึง นั่นคือต้องเปลี่ยนวิธีการ
บริหารและการทำงานแบบตั้งรับปัญหา หรือการเรียกร้อง (passive) ให้เป็นการบริหารและการทำงานแบบก้าวหน้า (active) ไม่รอให้ปัญหาเกิด แต่ไปไกลกว่าที่ปัญหาจะตามทัน ดังคำที่ว่าการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือการทำไม่ให้เกิดปัญหามุ่งป้องกันแทนนการตามแก้ปัญหา

6. ความคล่องตัว

ทุกคนในองค์กรจะต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลง เพราะองค์กรของเราะมีสิ่งใหม่ ๆ มีปัญหาใหม่ ๆ เข้ามาหาองค์กรตลอดเวลา หากเราไม่ปรับตัวเข้ากับสิ่งใหม่ ๆ เราก็จะล้าหลัง พร้อมทั้งต้องลดกฎระเบียบ ขั้นตอนการทำงานที่ซ้ำซ้อนที่ไม่จำเป็นลงเพื่อการบริหารจัดการที่ดีขึ้น

สภาเทคนิคการแพทย์ และศ.น.ทนพ. ต้องพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงของสังคมรอบตัวเรา และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เต็มไปด้วยการแข่งขัน การปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการ การใช้ IT มาช่วยการบริหารจัดการและการสื่อสาร ลดขั้นตอนการทำงาน การกระจายอำนาจ การสร้างพันธมิตร การติดตามการเปลี่ยนแปลงของโลก ฯลฯ การเรียนรู้เร็ว ปรับตัวเร็วกว่าคู่แข่ง จำเป็นต้องเป็นองค์กรที่มีความคล่องตัวในการเปลี่ยนแปลง

7. การเรียนรู้ขององค์การและแต่ละบุคคล

ทุกคนในองค์กรจะต้องมีการปรับปรุงพัฒนาตนเองให้เป็นคนใฝ่รู้ ใฝ่เรียนรู้ เพื่อที่จะนำความรู้มาแก้ปัญหาใหม่ ๆ ขององค์กรให้ลุล่วงไปได้ ตลอดจนเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ (LO) Learning Organization
ทุกคนในสภาเทคนิคการแพทย์ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร กรรมการ อนุกรรมการ สมาชิกสภาเทคนิคการแพทย์ไปจนถึงเจ้าหน้าที่ประจำ ต้องมีการปรับปรุงพัฒนาตนเองให้เป็นคนใฝ่รู้ มีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ทั้งทางกว้างและทางลึก เพื่อนำความรู้มาช่วยกันนำองค์กรไปสู่การเป็นองค์กรระดับนำ เป็นองค์กรเรียนรู้ ศ.น.ทนพ. ต้องมีบทบาทสร้างเสริมสนับสนุนการเรียนรู้ของสมาชิกสภาเทคนิคการแพทย์ให้หลากหลายรูปแบบ เข้าถึงง่าย และเพียงพอ มีทั้งผู้ให้และผู้รับความรู้ ทั้งในวิชาการทางวิชาชีพโดยตรง และด้านอื่นๆ เช่นการบริหารจัดการ กฎหมาย ภาษา ศีลธรรมจริยธรรม เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง

8. การจัดการเพื่อวัตกรรม

มีการสร้างวัตกรรมใหม่ให้องค์กรอย่างต่อเนื่องอยู่เสมอ เช่น มีวิธีการปรับปรุงการทำงานขององค์กรให้ดีขึ้นอยู่ตลอดเวลา หาแนวทางใหม่ ๆ มาปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องในการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทุกภาคส่วน ทุกระดับของสภาเทคนิคการแพทย์ จำเป็นต้องหาวิธีการปรับปรุงการบริหารจัดการ และการทำงาน ด้วยการนำ PDCA cycle , e-office มาใช้ เพื่อให้มีการปรับปรุงพัฒนาต่อเนื่องตลอดเวลา

9. การจัดการโดยใช้ข้อมูลจริง

องค์กรจะต้องมีข้อมูลที่ถูกต้องและแม่นยำ เพื่อการตัดสินใจที่ถูกต้องของผู้บริหารและต้องไม่บิดเบือนข้อมูล

การบริหารจัดการที่ดีต้องมีข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำทันสมัย จึงจะสามารถตัดสินใจของผู้บริหารทุกระดับได้ถูกต้อง สภาเทคนิคการแพทย์จึงควรมีฐานข้อมูลกลาง ที่รวบรวมข้อมูลภายในองค์กรระดับสภา ระดับอนุกรรมการ และหน่วยงานต่างๆ มีฐานข้อมูลภายนอก ได้แก่ ข้อมูลจากส่วนราชการ กระทรวง กรม กอง ภาครัฐบาล และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ในส่วนของศ.น.ทนพ. ซึ่งมีความเคลื่อนไหวของกิจกรรมตลอดเวลา การเก็บข้อมูลให้ถูกต้อง แม่นยำ ทันสมัย สามารถเรียกใช้งานได้ทันทีเป็นสิ่งจำเป็น

10. การมุ่งเน้นที่ผลลัพธ์และการสร้างคุณค่า

องค์กรจะต้องมีการสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับผลผลิตตลอดเวลา และมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ของงาน

สภาเทคนิคการแพทย์ และศ.น.ทนพ. ต้องมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ของงาน โดยปรับด้านการบริหารจัดการ ต่างๆได้แก่ การวางระบบงาน การออกระเบียบ การใช้เทคโนยีสารสนเทศ การมอบหมายงาน การกระจายอำนาจ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อให้งานประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย พร้อมด้วยคุณภาพงานและการบริการ มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของงาน และการบริการ รวมทั้งข้อมูลย้อนกลับจากสมาชิกสภาเทคนิคการแพทย์ และผู้ใช้บริการของศ.น.ทนพ. เพื่อนำมาปรับปรุงพัฒนาให้มีคุณค่าของงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

11.มุมมองเชิงระบบ

ทุกฝ่ายขององค์กรจะต้องมีการเชื่อมโยงและการประสานงานที่ดี เปรียบเสมือนฟันเฟืองทุกตัวต้องหมุนไปพร้อมกัน

สภาเทคนิคการแพทย์ ต้องจัดการให้ทุกฝ่ายขององค์กร ทั้งคณะกรรมการสภาเทคนิคการแพทย์ อนุกรรมการฝ่ายต่างๆ และ เจ้าหน้าที่ของสภาเทคนิคการแพทย์ มีการเชื่อมโยงกันอย่างทั่วถึง ได้รับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นในการดำเนินงานของสภาเทคนิคการแพทย์ทั่วถึงกัน โดยอาศัย e-office ช่วย เพื่อให้เกิดการประสานงานของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการดำเนินงานของศ.น.ทนพ. ต้องทำงานกับ สถาบันผลิตการศึกษาต่อเนื่อง และสมาชิกสภาเทคนิคการแพทย์ ในการดำเนินกิจกรรมการศึกษาต่อเนื่องตลอดเวลา ซึ่งมีเหตุการณ์ที่ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้างานได้ตลอดเวลา การรอนำเนื่องเข้าที่ประชุมอนุกรรมการ หรือกรรมการสภา ต้องใช้เวลาอย่างน้อย ๑ เดือน ซึ่งล่าช้าเกินไป การที่ให้อนุกรรมการปฏิบัติหน้าที่ในภารกิจของศ.น.ทนพ. มีข้อจำกัด เนื่องจากอนุกรรมการ เป็นบุคคลที่มีงานประจำอยู่มากแล้ว แม้เต็มใจอาสาสมัครมาทำงงานให้ศ.น.ทนพ. ก็ย่อมมีปัญหา จึงควรมีระบบเชื่อมโยงระหว่างอนุกรรมการ เจ้าหน้าที่ ศ.น.ทนพ. และผู้บริหารสภาเทคนิคการแพทย์

PMQA คืออะไร

ปัจจุบันเป็นยุคโลกาภิวัตน์ ที่คนทั้งโลกต้องแข่งขันกันด้วยคุณภาพ ทั้งภาคการผลิต และการบริการ จึงเกิดระบบคุณภาพต่างๆขึ้นมากมาย ที่เรารู้จักกันดีคือระบบคุณภาพ ISO 9000 ที่เฉพาะของห้องปฏิบัติการสอบเทียบคือ ISO/IEC Guide 25 ซึ่งต่อมาปรับปรุงเป็น ISO/IEC 17025 ซึ่งสภาเทคนิคการแพทย์ได้ ปรับมาใช้ในการรับรองห้องปฏิบัติการเทคนิคการแพทย์

ในระดับโลก ประเทศสหรัฐอเมริกาได้คิดค้นเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติขึ้นมีชื่อว่า The Malcolm Baldridge National Quality Award : MBNQA ขึ้น เพื่อมอบรางวัลให้องค์กรที่สามารถดำเนินการผ่านเกณฑ์ได้ ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก ต่อมาประเทศต่างๆนำมาปรับใช้กับประเทศของตนเอง สำหรับประเทศไทย ได้นำ MBNQA มาปรับเป็น Thailand Quality Award : TQA หรือรางวัลคุณภาพแห่งชาติ โดยมีสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติเป็นผู้ดำเนินการ ต่อมา สำนักงาน ก.พ.ร. ซึ่งมีหน้าที่พัฒนาการบริหารจัดการระบบราชการ นำหลักการ TQA มาปรับใช้ในการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ โดยเรียกว่า Public Sector Management Quality Award : PMQA ตั้งแต่พ.ศ. 2549

ระบบ MBNQA , TQA และ PMQA มีหลักการเหมือนกันโดยประกอบด้วย 7 ด้าน คือ

1) การนำองค์การ

เป็นการประเมินการดำเนินการของผู้บริหารในเรื่องวิสัยทัศน์ เป้าประสงค์ ค่านิยม ความคาดหวังในผลการดำเนินการ การให้ความสำคัญกับผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การกระจายอำนาจการตัดสินใจ การสร้างนวัตกรรมและการเรียนรู้ในส่วนราชการ การกำกับดูแลตนเองที่ดี และดำเนินการเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชน

2) การวางแผนเชิงยุทธศาสตร์

เป็นการประเมินวิธีการกำหนดและถ่ายทอดประเด็นยุทธศาสตร์ เป้าประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ กลยุทธ์หลัก และแผนปฏิบัติราชการ เพื่อนำไปปฏิบัติและวัดผลความก้าวหน้าของการดำเนินการ

(3) การให้ความสำคัญกับผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

เป็นการประเมินการกำหนดความต้องการ ความคาดหวัง และความนิยมชมชอบ การสร้างความสัมพันธ์ และการกำหนดปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้รับบริการและ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีความพึงพอใจ

(4) การวัด การวิเคราะห์ และการจัดการความรู้

เป็นการประเมินการเลือก รวบรวม วิเคราะห์ จัดการ และปรับปรุงข้อมูลและสารสนเทศ และการจัดการความรู้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการปรับปรุงผลการดำเนินการขององค์การ

(5) การมุ่งเน้นทรัพยากรบุคคล

เป็นการประเมินระบบงาน ระบบการเรียนรู้ การสร้างความผาสุกและแรงจูงใจของบุคลากร เพื่อให้บุคลากรพัฒนาตนเองและใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่ตามทิศทางองค์การ

(6) การจัดการกระบวนการ

เป็นการประเมินการจัดการกระบวนการ การให้บริการ และกระบวนการอื่นที่ช่วยสร้างคุณค่าแก่ผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และกระบวนการสนับสนุน เพื่อให้บรรลุพันธกิจขององค์การ

(7) ผลลัพธ์การดำเนินการ

เป็นการประเมินผลการดำเนินการและแนวโน้มของส่วนราชการในมิติด้านประสิทธิผล มิติด้านคุณภาพการให้บริการ มิติด้านประสิทธิภาพ และมิติด้านการพัฒนาองค์การ

PDCA cycle หรือ Deming’ cycle

เทคนิคการแพทย์ โดยเฉพาะที่ทำงานทางเคมีคลินิก รู้จัก Shewhart chart ที่ใช้ในการควบคุมคุณภาพ (Quality Control : Q.C.) กันทุกคน ด้านคุณภาพการบริหารจัดการ นักสถิตชื่อ Walter Shewhart ก็คิดวิธีนำสถิติมาช่วยในการควบคุมกระบวนการผลิตที่ Bell Laboratories สหรัฐอเมริกา ในปี 1930 โดยใช้ชื่อว่า Shewhart cycle ต่อมาในปี1950 W.Edwards Deming ปรมาจารย์ด้านการบริหารคุณภาพ เอาหลักการของ Shewhart มาปรับใช้ในการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คุณภาพสินค้าเป็นไปตามความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ในชื่อว่า Deming’ cycle เมื่อวงการบริหารนำมาใช้ในการพัฒนาการบริหารคุณภาพอย่างต่อเนื่องจึงเรียกกันว่า PDCA cycle จนเป็นที่นิยมแพร่หลายกันทั่วโลก

PDCA cycle ประกอบด้วย
P = Plan การวางแผน
D = Do การปฏิบัติตามแผน
C = Check การตรวจสอบผลการปฏิบัติ เปรียบเทียบกับแผน
A = Act การแก้ปัญหา การพัฒนา การปรับปรุง เพื่อเข้าสู่วงจร PDCA cycle รอบต่อไป

PDCA cycle จึงเป็นเสมือนวงล้อที่หมุนไปรอบแล้วรอบเล่าไม่มีที่สิ้นสุด เช่นเดียวกับการพัฒนาคุณภาพก็ไม่มีวันจบ






******************************
ที่มา : https://www.facebook.com/Medtechtoday?fref=ts