ผู้เขียน หัวข้อ: คนอ้วนระวังโรคผิวหนังถามหา - ผิวหนังเป็นวัณโรคได้ด้วยหรือ?  (อ่าน 981 ครั้ง)

ออฟไลน์ tikky

  • Global Moderator
  • medtech ปี เอก
  • *****
  • กระทู้: 1985

คนอ้วนระวังโรคผิวหนังถามหา - ผิวหนังเป็นวัณโรคได้ด้วยหรือ?
นพ.ประวิตร พิศาลบุตร อายุรแพทย์ด้านโรคผิวหนัง


คนอ้วนระวังโรคผิวหนังถามหา!?!

Q : ลูกชายเริ่มเข้าวัยรุ่นอายุ 14 ปี มีผิวแตกลายที่ท้องและต้นขามาก ที่คอด้านหลังมีรอยดำ พาไปพบคุณหมอบอกว่าน่าจะเกิดจากความอ้วน แนะนำให้จำกัดอาหารและให้ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อยากเรียนถามว่าความอ้วนทำให้เป็นโรคผิวหนังอะไรได้บ้างคะ?
พวงน้อย/ปทุมธานี

A : คำถามนี้น่าสนใจมากครับ เพราะนอกจากความอ้วนจะก่อโรคทางกายได้มากมายแล้ว คนอ้วนยังมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคผิวหนังสูงขึ้นอีกด้วย กล่าวคือคนอ้วนอาจพบผิวเป็นผื่นดำ แบบที่พบในลูกชายคุณพวงน้อยนั่นแหละครับ ภาวะนี้ศัพท์แพทย์เรียกว่า acanthosis nigricans ผื่นดำนี้สัมพันธ์กับโรคอ้วนและโรคเบาหวานอย่างชัดเจน เกิดเนื่องจากการมีอินซูลินในเลือดสูงกระตุ้นให้เซลล์ผิวหนังหนาตัวขึ้น จึงเห็นเป็นปื้นหนาดำที่ต้นคอ รักแร้ และใต้ราวนม คนอ้วนยังอาจมีติ่งเนื้อซึ่งพบบ่อยที่คอและรักแร้ อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการเป็นโรคติดเชื้อของผิวหนังเพราะคนอ้วนเกิดความอับชื้นของบริเวณซอกพับง่าย จึงทำให้พบโรคเชื้อราโดยเฉพาะบริเวณซอกพับ เช่น ขาหนีบ ที่ชาวบ้านเรียกว่าสังคัง เห็นเป็นผื่นแดงมีขุยและมักมีขอบนูน หรือติดเชื้อยีสต์ เช่น ที่ขาหนีบและใต้ราวนม เห็นเป็นผื่นแดง มักมีจุดเล็กๆ กระจายอยู่รอบผื่น และติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น ที่ขาหนีบ รักแร้ โดยเห็นเป็นผื่นแดง นอกจากนี้คนอ้วนอาจเป็นโรคสะเก็ดเงินเห็นเป็นผื่นแดงนูนมีสะเก็ดหนาสีเงิน มักเป็นตามข้อศอก หัวเข่า แนวไรผม อย่างไรก็ตามพบว่าหากลดน้ำหนักลงอาการของโรคสะเก็ดเงินมักดีขึ้น

     ความอ้วนยังจัดเป็นปัญหาความงามที่สำคัญ ทำให้ไม่ได้สัดส่วน ใส่เสื้อผ้าหรือแต่งหน้าแล้วดูไม่สวยไม่หล่อ นอกจากนั้นโรคอ้วนยังมีผลเสียต่อความงามและบุคลิกภาพอย่างอื่นอีก คือทำให้เกิดผิวแตกลาย พบบ่อยในคนที่อ้วนมากหรือในเด็กวัยรุ่นที่โตเร็ว เห็นเป็นรอยแตกเป็นเส้น เริ่มแรกเป็นสีชมพูแล้วต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีขาว มักพบรอยแตกลายที่ท้อง หลัง สะโพก ต้นแขน ต้นขา พบว่าคนอ้วนอาจมีขนดก ฝ่าเท้าด้านหนา ตุ่มขนคุด (keratosis pilaris) เห็นเป็นตุ่มเล็กๆ ที่ตามต้นแขนต้นขา ทำให้ผิวดูไม่เรียบเนียน และคนอ้วนยังเกิดกลิ่นตัวได้ง่าย

ผิวหนังเป็นวัณโรคได้ด้วยหรือ?!?

Q : คุณพ่ออายุ 60 ปี เป็นตุ่มสีน้ำตาลเรื้อรังที่หลังมือ ตุ่มโตขึ้นเรื่อยๆ พาไปพบคุณหมอที่โรงพยาบาล คุณหมอขอตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ ผลตรวจปรากฏว่าเป็นวัณโรค อยากถามว่าผิวหนังเป็นวัณโรคได้ด้วยหรือคะ?
แววดี/สมุทรสาคร

A : ผิวหนังเป็นวัณโรคได้จริงครับ และก็พบเห็นกันได้บ่อยพอควรโดยเฉพาะในบ้านเรา แม้ว่าอวัยวะที่เป็นวัณโรคที่พบบ่อยและรู้จักกันดีที่สุดคือปอด แต่ก็ยังพบวัณโรคของระบบประสาทส่วนกลาง ระบบน้ำเหลือง ระบบการไหลเวียนโลหิต ระบบทางเดินปัสสาวะและอวัยวะสืบพันธุ์ ระบบทางเดินอาหาร กระดูก ข้อ และแม้แต่ผิวหนังก็เป็นวัณโรคได้

     วัณโรคผิวหนังเกิดจากการที่ผิวหนังและเยื่อบุสัมผัสรับเชื้อ ช่วงแรกจะเกิดแผล ต่อมาการเปลี่ยนแปลงขึ้นอยู่กับความรุนแรงของเชื้อและภูมิต้านทานของผู้ที่ได้รับเชื้อ จึงทำให้วัณโรคผิวหนังมีหลายรูปแบบดังนี้คือ เป็นตุ่ม มีผิวขรุขระคล้ายหูด หรือมีชื่อเฉพาะว่า ทูเบอร์คูโลสิส เวอร์รูโคซ่าคิวติส (tuberculosis verrucosa cutis) มักพบตามตำแหน่งของผิวหนังที่บาดเจ็บง่ายจึงติดเชื้อ เช่น หัวเข่า ข้อศอก มือ เท้า และก้น พบในผู้ที่สัก เจาะ ใส่ห่วง ที่ใช้เครื่องมือไม่สะอาดได้ หรือจากอุบัติเหตุทำให้ผิวหนังมีแผล สันนิษฐานว่าคุณพ่อของคุณแววดีน่าจะเป็นวัณโรคผิวหนังชนิดนี้ครับ อีกชนิดคือเป็นก้อนนูนโตหรือเป็นแผลลุกลามทำให้เกิดแผลและเสียโฉมเหมือนโดนหมาป่ากัดแทะ เรียกว่า ลูปัส วัลการิส (lupus vulgaris)  โดยคำว่า lupus แปลว่า หมาป่า หรืออาจเกิดจากการลุกลามแพร่กระจายโดยตรงจากอวัยวะที่อยู่ใกล้เคียงผิวหนัง เช่น ต่อมน้ำเหลือง กระดูกและข้อ พบเป็นก้อนแข็ง แตกเป็นแผล และแผลเป็น เรียกว่า สโครฟูโลเดอร์มา (scrofuloderma) ส่วนชนิดเป็นตุ่มกระจายทั่วตัวเหมือนเม็ดข้าวฟ่าง หรือเรียกว่า มิเลียรี (miliary TB)  เกิดจากเชื้อวัณโรคแพร่กระจายจากปอดไปตามกระแสเลือดสู่อวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย รวมถึงผิวหนังด้วย วัณโรคผิวหนังชนิดนี้รุนแรงมากทำให้เสียชีวิตได้ และวัณโรคผิวหนังชนิดสุดท้ายคือชนิด ทูเบอร์คิวลิด (tuberculid)  พบเป็นตุ่มหรือก้อนใต้ผิวหนังที่น่อง อาจแตกออกเป็นแผลหรืออาจมีลักษณะเป็นตุ่ม มีสะเก็ดที่หัวเข่า ข้อศอก ก้น และลำตัวช่วงล่าง ตุ่มเหล่านี้หายได้เองแต่จะทิ้งรอยแผลเป็นไว้

     การวินิจฉัยโรควัณโรคผิวหนังนั้น นอกจากการดูลักษณะรอยโรคและประวัติดังกล่าวไปแล้ว แพทย์อาจตัดผิวหนังตำแหน่งที่เป็นส่งตรวจทางพยาธิวิทยา ทำการทดสอบผิวหนัง (tuberculin skin test) เพาะเชื้อจากเสมหะ และตรวจเอกซเรย์ปอด เมื่อผลการตรวจยืนยันว่าเป็นวัณโรคผิวหนังจริง แพทย์จะให้การรักษาคือให้ยาฆ่าเชื้อวัณโรค ในบางรายอาจผ่าตัดตำแหน่งที่เป็นวัณโรคผิวหนังออกด้วย ขอฝากไว้ว่าวันที่ 24 มีนาคมของทุกปีเป็นวันวัณโรคโลก (World Tuberculosis Day) มีการกำหนดให้วันนี้เป็นวันสำคัญตั้งแต่ปี พ.ศ.2525 ซึ่งเป็นปีที่ครบรอบร้อยปีที่นายแพทย์ Robert Koch พบเชื้อต้นเหตุที่ก่อให้เกิดวัณโรค ปัจจุบันวัณโรคยังคงระบาดทั่วโลก และมีผู้เสียชีวิตด้วยวัณโรคปีละถึง 1.6 ล้านคน
ที่มาhttp://www.healthtoday.net