ผู้เขียน หัวข้อ: จีนคลายกฎเหล็กนโยบายลูกคนเดียว พร้อมปิดค่ายแรงงาน  (อ่าน 290 ครั้ง)

ออฟไลน์ nongpoint

  • medtech ปี เอก
  • ******
  • กระทู้: 1204
    • อีเมล์



   
จีนคลายกฎเหล็กนโยบายลูกคนเดียว พร้อมปิดค่ายแรงงาน
« เมื่อ: วันนี้ เวลา 04:34:49 PM »

ชายจีนเดินผ่านป้ายประชาสัมพันธ์ “ความฝันจีน” (Chinese Dream) ในกรุงปักกิ่ง วันที่ 18 พ.ย.ขณะที่จีนประกาศแผนการปฏิรูปใหญ่ของประเทศออกมา เป็นการเปลี่ยนแปลงรอบทิศทางที่ดูจะบรรเทาเยียวยาผลพวงในด้านลบจากการปฏิรูปตลอด 30 กว่าปีที่ผ่านมา เพื่อรักษาการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนของประเทศ (ภาพ เอเอฟพี)

    เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ประชุมเต็มคณะของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ชุดที่ 18 ครั้งที่ 3 ได้ประกาศการปฏิรูปใหญ่นับจากผู้นำเติ้ง เสี่ยวผิงประกาศปฏิรูปเศรษฐกิจและเปิดประเทศในปลายทศวรรษที่1970 โดยเป็นการปฏิรูปทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม เป็นการเปลี่ยนแปลงรอบทิศทางที่ดูจะบรรเทาเยียวยาผลพวงในด้านลบจากการปฏิรูปตลอด 30 กว่าปีที่ผ่านมา เพื่อรักษาการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนของประเทศ ที่ขณะนี้มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกแล้ว ด้วยการเปิดกว้างระบบตลาดมากยิ่งขึ้น
   
   ผู้นำจีนประกาศคำมั่นหลายๆอย่างที่ตอบสนองความหวังของประชาชน ทั้งการระบบสำมะโนครัวและที่ดินเพื่อช่วยเหลือประชาชนเขตเมืองที่กำลังขยายใหญ่อย่างรวดเร็ว โดยผลักดันให้เกิดภาคบริการแบบตะวันตก ตลอดจนการสร้างระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยการบริโภคภายในเป็นหลัก ผู้นำจีนคาดว่าการดำเนินการปฏิรูปทั้งหมดนี้จะออกดอกผลเต็มที่ภายในปี 2563

อาหมวยวิ่งเล่นหน้าป้ายโฆษณาในเมืองไท่โว มณฑลเจ้อเจียง เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2556 (ภาพ เอเอฟพี)

    ในชุดการปฏิรูปครั้งนี้ การปฏิรูปที่มีผลบังคับใช้ในทันที คือ การผ่อนปรนนโยบายลูกคนเดียว และเลิกค่ายแรงงานเพื่ออบรมการศึกษาใหม่
   
   นโยบายลูกคนเดียว ระเบิดเวลาที่ต้องปลดชนวนแล้ว
   จากความคิด “มีลูกมาก ยากจน” ผู้นำเติ้ง เสี่ยวผิง คลอดนโยบายลูกคนเดียวในปี 2522 กำหนดให้ครอบครัวเขตเมืองซึ่งมีสัดส่วนเท่ากับ 35.9 เปอร์เซนต์ของประชากรจีนทั้งหมด มีลูกได้คนเดียว โดยมีข้อยกเว้นให้แก่บางครอบครัวในชนบทที่มีลูกคนแรกเป็นผู้หญิงสามารถมีลูกคนที่สองได้ ชนชาติส่วนน้อย และครอบครัวที่ทั้งพ่อแม่เป็นลูกคนเดียว ผู้ฝ่าฝืนจะถูกปรับเป็นจำนวนเงินตามระดับรายได้สุทธิ
   
   ในการผ่อนปรนนโยบายลูกคนเดียวครั้งนี้ อนุญาตให้ครอบครัว ที่สามีหรือภรรยา ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นลูกคนเดียว มีลูกคนที่สองได้ เจ้าหน้าที่หน่วยวิจัยของสำนักงานวางแผนครอบครัวจีน ประมาณว่าการผ่อนปรนฯนี้จะกระทบกลุ่มประชากร 15-20 ล้านคน และในจำนวนนี้ มีกลุ่มสามี-ภรรยาที่ต้องการมีลูกคนที่สอง ราว 50-60 เปอร์เซ็นต์
   
   นโยบายลูกคนเดียวนี้ ได้หยุดการเกิดได้ถึง 400 ล้านคน รักษาระดับประชากรได้ที่ราว 1,350 ล้านคนในปัจจุบัน แต่นโยบายลูกคนเดียวก็ส่งผลกระทบในเชิงลบอย่างชนิดรอบทิศทาง ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม กระทั่งกลุ่มผู้เชี่ยวชาญออกมาเตือนเสียงเข้มว่า นโยบายลูกคนเดียว เป็น“ระเบิดเวลา” ที่ต้องปลดชนวนแล้ว ทั้งนี้ ตัวเลขทางการระบุจำนวนประชากรจีน อยู่ที่ 1,350 ล้านคน
   
   ผลจากนโยบายลูกคนเดียวที่ดำเนินมากว่า 30 ปี อาจกระทบเศรษฐกิจแรงไม่ใช่เล่น คือ สัดส่วนประชากร กลุ่มผู้เชี่ยวชาญจากบรรดาหน่วยงานด้านสถิติออกโรงเตือนในนาทีสุดท้ายก่อนหน้าการประชุมเต็มคณะฯที่ดูเหมือนยังลังเลที่จะตัดสินผ่อนปรนฯ ระบุว่าขณะนี้กลุ่มประชากรวัยทำงานในจีน มีอยู่ราว 940 ล้านคน โดยช่วง 2-3 ปีมานี้ กลุ่มวัยทำงานลดลง 3.45 ล้านคนปีต่อปีจนถึงในปีที่แล้ว (2555) นับเป็นอัตราลดอย่างสมบูรณ์ (absolute decrease) เป็นครั้งแรก และคาดการณ์ว่าจะลดลงไปอีก ประมาณ 29 ล้านคนในทศวรรษนี้
   
   ในขณะที่กลุ่มประชากรวัยชรากว่า 60 ปี ขยายตัว ถึง 194 ล้านคน เท่ากับ 14.3 เปอร์เซ็นต์ของประชากรจีน เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าจากปี 2525 และคาดการณ์ว่าจะมีสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของประชากรจีนในปี 2593
   
   ความไม่สมดุลระหว่างเพศชายหญิง ก็เป็นอีกผลข้างเคียงหนึ่ง ด้วยพ่อแม่จีนนิยมลูกชาย ทำให้เกิดการทำแท้งทารกที่เป็นเพศหญิง จากตัวเลขเมื่อปีที่แล้ว (2555) อัตราเพศชายมีมากกว่าเพศหญิง เท่ากับ 6:5 และในปี 2573 ชายจีนนับล้านๆคนจะหาภรรยาไม่ได้

ศพทารกเพศหญิงอายุ 7 เดือนของนาง เฝิง ที่ถูกเจ้าหน้าที่หน่วยวางแผนครอบครัวเมืองจยาเฉิง มณฑลส่านซี ฉีดยาให้เด็กออกมา และนำมาให้แม่ที่นอนบอบช้ำอยู่บนเตียง เหตุเกิดเมื่อเดือนมิ.ย.2555 ช็อกสังคมจีนมาก (ภาพ เอเจนซี)

    นโยบายลูกคนเดียวยังนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างมโหฬาร โดยเจ้าหน้าที่หน่วยวางแผนครอบครัวได้อ้างมาตรการลูกคนเดียวบังคับทำแท้ง อาทิ เมื่อสิบปีที่แล้วในปี 2007 เกิดกรณีชาวบ้านนับพันในมณฑลก่วงซีที่ทนความโหดเ***้ยมของพวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบมาตรการลูกคนเดียวไม่ไหว บุกเผาสำนักงานวางแผนครอบครัว และกรณีช็อกโลกในเดือนมิ.ย.ปีที่แล้ว(2555)หญิงตั้งครรภ์ 7 เดือน โดนเจ้าหน้าที่หน่วยวางแผนครอบครัวประจำเมืองจยาเฉิง มณฑลส่านซี จับทำแท้งโดยฉีดยาให้เด็กออกมา และยังขูดรีดค่าปรับ 2 แสนบาท ฐานที่มีลูกเกินโดยไม่มีใบอนุญาต
   
   โจอัน คูฟ์แมน (Joan Kaufman) ผู้อำนวยการโคลัมเบีย โกลบอล เซนเตอร์ ในกรุงปักกิ่ง และผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข ชี้การผ่อนปรนฯนี้ เป็นความเคลื่อนไหว “ที่ช้ามาก” ในการขจัดความวิตกกังวลเกี่ยวกับการดูแลกลุ่มประชากรวัยชรา
   
   “ตอนนี้ ไม่มีความวิตกเกี่ยวกับปัญหาประชากรล้นเกิน คู่สามีภรรยามีลูกกันน้อยไป ซึ่งไม่สามารถทดแทนพวกเขาได้ ” คูฟ์แมน กล่าว พร้อมชี้ว่า อัตราทดแทนประชากรจีน เท่ากับ 2:1
   
   นโยบายลูกคนเดียวของจีนยังสร้าง “โรคจักรพรรดิน้อย” (Little Emperor Syndrome) กลุ่มลูกโทนในครอบครัวจีน ได้รับการพะเน้าพะนอจากพ่อ-แม่ ปู่-ย่า ตา-ยาย ที่ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าเป็น “ระเบิดเวลาทางพฤติกรรม” อย่างหนึ่ง
   
   นอกจากนี้ยังมีงานศึกษาวิจัยของลิซ่า คาเมรอน แห่งมหาวิทยาลัยโมนาชในออสเตรเลียและคณะ ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนม.ค.ที่ผ่านมา เสนอหลักฐานใหม่ว่า บรรดาจักรพรรดิน้อยมีความเชื่อใจผู้อื่น ความกระตือรือร้นในการแข่งขัน และความรู้สึกผิดชอบในใจ น้อยกว่าผู้ที่เกิดก่อนนโยบายดังกล่าวออกมาบังคับใช้ อีกทั้งยังเป็นคนมองโลกในแง่ร้ายและชอบหลีกเลี่ยงความเสี่ยงมากกว่าอีกด้วย
   
   กลุ่มนักประชากรศาสตร์จีนซึ่งถกเถียงนโนบายลูกคนเดียวกันมานับสิบปี ยังได้ชี้ปรากฏการณ์ “ชั่วรุ่น 4-2-1” กล่าวคือ คนรุ่นที่ได้รับการประคบประหงมจาก ปู่-ย่า ตา-ยาย(4) และพ่อ-แม่(2) และลูก(1) เมื่อเด็กๆลูกคนเดียวเติบโตแต่งงานมีครอบครัว ก็ต้องแบกภาระเลี้ยงดูคนแก่ถึง 12 คน อันนับเป็นแรงกดดันในอนาคตของ“ชั่วรุ่น 4-2-1” ที่จินตนาการไม่ออก
   
   จากข้อมูลสถิติสำนักวางแผนครอบครัวจีน ปี 2550 ระบุนโยบายลูกคนเดียว ได้สร้างกลุ่มประชากรลูกคนเดียว กว่า 90 ล้านคน

แฟ้มภาพ ปี ค.ศ.1986 ค่ายแรงงานถวนเหอ ใกล้กรุงปักกิ่ง นักวิเคราะห์ชี้ว่าพวกที่ต่อต้านการปิดค่ายแรงงานเพราะจะต้องสูญเสียประโยชน์จากการใช้แรงงานักโทษผลิตสินค้า และค่ายแรงงานนี้ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือปิดปากกลุ่มรณรงค์เคลื่อนไหวที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล (ภาพ เอเอฟพี)

    เลิก “ค่ายแรงงาน จอมโหด”
   พร้อมกันนี้ ผู้นำจีนได้ตัดสินยกเลิกระบบ “ค่ายแรงงาน เพื่ออบรมการศึกษาใหม่” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งดาวร้ายบนเวทีสิทธิมนุษยชน โดยระบบฯนี้เปิดทางให้ตำรวจจับกุมและตัดสินโทษผู้ถูกกล่าวหากระทำผิด คุมขังไว้ในค่ายแรงงานนานถึง 4 ปี โดยไม่ผ่านกระบวนการไต่สวนจากระบบศาลยุติธรรม นักโทษค่ายแรงงานจีนต้องทำงานหนักผลิตสินค้าและขุดดินทำเกษตร
   สื่อกระบอกเสียงเอกของจีน สำนักซินหวา รายงานว่าการยกเลิกค่ายแรงงาน เป็นส่วนหนึ่งของการปรับปรุงสิทธิมนุษย์ชนและกระบวนการศาลยุติธรรม ซึ่งจะรวมทั้งการลดจำนวนอาชญากรรม ที่จะถูกตัดสินโทษประหารชีวิต
   
   สำหรับระบบค่ายแรงงานนี้ จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2500 เป็นระบบจัดการลงโทษกลุ่มผู้กระทำผิดเล็กน้อย แต่ได้ตกเป็นเป้าโจมตี โดยเจ้าหน้าที่รัฐได้ใช้เป็นเครื่องมือในการจับกุม “กลุ่มที่มาร้องทุกข์” ที่กล่าวโทษเจ้าหน้าที่ระดับสูง กรณีล่าสุดที่กลายเป็นข่าวฮือฮาทั้งในสื่อจีนและเทศ คือกรณีในมณฑลหูหนัน เมื่อเดือนส.ค.ปีที่แล้ว(2555) นาง ถัง ฮุ่ย ถูกตัดสิน “เข้าคุกค่ายแรงงาน” หลังจากที่เธอพยายามร้องเรียนหลายครั้ง กรณีลูกสาววัย 11 ขวบ ถูกเจ้าหน้าที่รัฐลักพาตัวและบังคับให้ทำงานเป็นโสเภณี ในที่สุด นางถัง ฮุ่ย ได้รับการปล่อยตัวและชนะคดีฟ้องร้องเมื่อเดือนก.ค.ที่ผ่านมา
   
   ข้อมูลสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ปี 2552 ประมาณจำนวน “นักโทษ” ค่ายแรงงานจีน เท่ากับ 190,000 คน
   
   กลุ่มนักวิเคราะห์ชี้ว่าพวกที่ต่อต้านการปิดค่ายแรงงานเพราะจะต้องสูญเสียประโยชน์จากการใช้แรงงานักโทษผลิตสินค้า และค่ายแรงงานนี้ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือปิดปากกลุ่มรณรงค์เคลื่อนไหวที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล

ผู้นำสูงสุดจีน สี จิ้นผิง (กลาง), หลี่ เค่อเฉียง(คนที่สามจากขวา), จาง เต๋อเจียง(คนที่สามจากซ้าย), อี๋ว์ เจิงเซิง(คนที่สองจากขวา), หลิว อวิ๋นซาน (คนที่สองจากซ้าย), หวัง ฉีซัน(คนที่หนึ่งจากขวา), จาง เกาลี่ (คนที่หนึ่งจากซ้าย) ในการประชุมเต็มคณะของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ในกรุงปักกิ่ง วันที่ 12 พ.ย. ทั้งนี้การประชุมฯมี 4 วัน ระหว่างวันที่ 9-12 พ.ย.2556 (ภาพ ซินหวา)

    ทั้งนี้จีนประชุมเต็มคณะฯ 4 วัน ระหว่างวันที่ 9-12 พ.ย. สามวันต่อมาจึงได้แถลงการณ์ปฏิรูปเมื่อวันศุกร์ที่ 15 พ.ย.หลัง
   จากที่ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็น ได้ลงมติรับจีน เข้าเป็นสมาชิกในคณะกรรมาธิการสภาสิทธิมนุษยชนของยูเอ็น.