ผู้เขียน หัวข้อ: มติสภาเทคนิคการแพทย์ กรณีตรวจเลือด ๑ หยด บอกอะไรกับสังคม  (อ่าน 1180 ครั้ง)

ออฟไลน์ Por-MedTech

  • Global Moderator
  • medtech ปี เอก
  • *****
  • กระทู้: 1192
    • อีเมล์
มติสภาเทคนิคการแพทย์ กรณีตรวจเลือด ๑ หยด บอกอะไรกับสังคม



กรณีคลิปตรวจเลือด ๑ หยด ที่สภาเทคนิคการแพทย์ได้นำเข้าพิจารณาในการประชุมคณะกรรมการสภาฯ ครั้งที่ ๑๐/๒๕๕๗ เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๗ ที่ผ่านมา และ มีมติให้ดำเนินการตรวจสอบบุคคลที่ปรากฎในคลิปว่าเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์หรือไม่ ถ้าเป็น จะดำเนินการกล่าวโทษด้านจรรยาบรรณ ถ้าไม่ใช่ จะไปแจ้งความดำเนินคดีฐานประกอบวิชาชีพโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามข่าวที่ “เมดเทคทูเดย์” นำมาเสนอให้ทราบนั้น

แม้จะไม่ปรากฏรายละเอียดอื่นๆ ที่นอกเหนือจากการตอบข้อซักถามของ ทนพ.สมชัย เจิดเสริมอนันต์ เลขาธิการสภาฯ ว่าบุคคลในคลิปถ้าไม่ใช่เทคนิคการแพทย์ จะมีความผิดฐานประกอบวิชาชีพโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๓ ปี ปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่การที่มติสภาเทคนิคการแพทย์ออกมาเช่นนี้ ย่อมสะท้อน “นัยยะ”ทางกฎหมายอย่างน้อย ๒ ประการ

ประการแรก สภาเทคนิคการแพทย์กำลังจะบอกกับสังคมว่า การที่บุคคลหนึ่งบุคคลใด กระทำการเจาะเลือด แม้เป็นเพียงการเจาะจากปลายนิ้วและใช้เลือดเพียงหยดเดียว แล้วนำไปตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ พร้อมการอธิบายผลการตรวจให้ผู้เข้ารับการตรวจฟัง ถือเป็น “การประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์” ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ พ.ศ.๒๕๔๗ ซึ่งมาตรา ๒๘ ให้ความคุ้มครองไว้

ดังนั้น ผู้กระทำการที่ปรากฏในคลิป หากไม่ได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพฯ และไม่ได้รับการยกเว้นตามมาตรา ๒๘ (๑)-(๗) แล้ว ย่อมเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนมาตรา ๒๘ ซึ่งมาตรา ๕๐ กำหนดบทลงโทษไว้ว่า ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๓ ปี ปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามที่เลขาธิการสภาฯ ได้ให้ความเห็นไว้

นั่นหมายความว่า ต่อแต่นี้ไป การเจาะเลือด แล้วนำไปตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ แล้วแปลผลการตรวจให้ผู้เข้ารับการตรวจฟังเหมือนอย่างที่ปรากฏในคลิปที่เป็นข่าว หากไม่ได้กระทำโดยผู้ประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ หรือบุคคลที่ได้รับการยกเว้นตามมาตรา ๒๘ (๑)-(๗) แล้วย่อมถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ประการหนึ่ง

ประการที่สอง การที่สภาฯ มีมติให้ดำเนินการกล่าวโทษด้านจรรยาบรรณ ถ้าบุคคลในคลิปเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ ย่อมแสดงให้เห็นว่า แม้การกระทำดังกล่าวจะเป็นการประกอบวิชาชีพโดยผู้ประกอบวิชาชีพที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายก็ตาม แต่ก็เป็นการกระทำผิดข้อบังคับสภาฯว่าด้วยจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ พ.ศ.๒๕๕๓

แม้จะไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนว่า การดำเนินการกล่าวโทษด้านจรรยาบรรณจะเป็นไปในลักษณะใด แต่เมื่อนำมาเทียบเคียงกับข้อบังคับว่าด้วยจรรยาบรรณวิชาชีพแห่งวิชาชีพ หมวด ๓ การประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์แล้ว การกระทำดังกล่าวน่าจะเข้าข่าย กระทำผิดข้อบังคับใน ๓ ข้อนี้ กล่าวคือ

ข้อ ๑๔ ผู้ประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ต้องไม่หลอกลวงผู้รับบริการให้หลงเข้าใจผิดในการประกอบวิชาชีพเพื่อประโยชน์ของตน

ข้อ ๑๖ ผู้ประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ต้องอธิบายให้ผู้รับบริการเข้าใจถึงสาระสำคัญของการตรวจและการให้บริการทางวิชาชีพเทคนิคการแพทย์

ข้อ ๑๗ ผู้ประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ต้องไม่ออกใบรับรองอันเป็นความเท็จโดยเจตนาหรือให้ความเห็นไม่สุจริตในเรื่องใด ๆ อันเกี่ยวกับวิชาชีพแห่งตน

ซึ่งข้อบังคับฯ ทั้ง ๓ ข้อข้างต้นนั้น เป็นเรื่องของ “ความไม่สุจริต” และ “การหลอกลวง” ในการประกอบวิชาชีพ หากใช้ข้อบังคับฯ ที่ว่านี้มาเป็นฐานการพิจารณากล่าวโทษแล้ว ย่อมแสดงให้เห็นว่า สภาเทคนิคการแพทย์ กำลังจะบอกกับสังคมว่า การกระทำที่ปรากฎในคลิปนั้น เป็นการกระทำที่ “ไม่สุจริต” และ “หลอกลวง” (หรือปราศจากหลักฐานทางวิชาการรองรับ หรือการแปลผลการตรวจเกินจริง)

สภาเทคนิคการแพทย์ ควรใช้โอกาสนี้ อรรถาธิบายให้สังคมเข้าใจ ทั้งในแง่ของการประกอบวิชาชีพตามกฎหมาย และในแง่ของวิชาการ ว่าข้อมูลที่ถูกต้องของการตรวจเลือดดังกล่าวเป็นอย่างไร เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชน และคุ้มครองประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของการกระทำที่ว่านี้

เพราะเมื่อสภาฯ ได้ลงความเห็นไปแล้วว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ และการกระทำนั้น"ไม่สุจริต” และ “หลอกลวง” ก็จำเป็นที่สภาเทคนิคการแพทย์ จะต้องสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชนด้วย !!








**************************
ที่มา : https://www.facebook.com/Medtechtoday?fref=ts