ผู้เขียน หัวข้อ: กรมควบคุมโรค เตือนเฝ้าระวังโรคมือ เท้า ปาก ในเด็กเล็ก  (อ่าน 611 ครั้ง)

ออฟไลน์ Por-MedTech

  • Global Moderator
  • medtech ปี เอก
  • *****
  • กระทู้: 1192
    • อีเมล์
กรมควบคุมโรค เตือนเฝ้าระวังโรคมือ เท้า ปาก ในเด็กเล็ก หลังพบผู้ป่วยกว่าร้อยละ 70 ในอายุ 1-3 ปี หากพบเด็กป่วยหรือสงสัย ให้แยกเด็กป่วยและหยุดเรียนจนกว่าจะหายเป็นปกติ



วันนี้ (3 กุมภาพันธ์ 2558) นายแพทย์โสภณ  เมฆธน  อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงฤดูหนาว ที่มีสภาพอากาศหนาวเย็น ทำให้เอื้อต่อการระบาดของโรคมือ เท้า ปาก ซึ่งสามารถพบได้ตลอดทั้งปี  จากรายงานการเฝ้าระวังโรคมือ เท้า ปาก โดยสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1-26 มกราคม 2558 พบผู้ป่วย 1,418 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิต และพบว่าช่วงอายุ 1-3 ปี มีผู้ป่วยรวมกันกว่าร้อยละ 70 โดยแยกเป็นผู้ป่วยอายุ 1 ปี (ร้อยละ 32.16) 2 ปี (ร้อยละ 25.88) 3 ปี (ร้อยละ 15.87) จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก คือ สุราษฎร์ธานี รองลงมา คือ ประจวบคีรีขันธ์ ศรีสะเกษ นครสวรรค์ และพะเยา ตามลำดับ และจังหวัดที่ไม่มีผู้ป่วย คือ ตราด แม่ฮ่องสอน และบึงกาฬ
สำหรับโรคมือ เท้า ปาก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในกลุ่มเอนเทอโรไวรัส ซึ่งเชื้อโรคนี้จะเข้าทางปากจากการที่มือสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย น้ำในตุ่มพองหรือแผลของผู้ป่วย และอุจจาระของผู้ป่วย อาการของโรคที่พบ เช่น มีไข้  ตุ่มแดงอักเสบในปาก มักพบที่ลิ้น เหงือก และกระพุ้งแก้ม ทำให้เจ็บปากไม่อยากทานอาหาร อาจพบที่บริเวณฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า และอาจพบที่อื่น เช่น ก้น หัวเข่า เป็นต้น มักไม่คัน แต่เวลากดจะเจ็บ ต่อมาจะแตกออกเป็นหลุมตื้นๆ อาการจะดีขึ้นและแผลหายไปใน 7-10 วัน ส่วนใหญ่โรคนี้พบในสถานที่เด็กอยู่รวมกันจำนวนมาก เช่น สถานรับเลี้ยงเด็ก ศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาล โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ไม่ถูกสุขลักษณะและอยู่กันอย่างแออัด
นายแพทย์โสภณ  กล่าวต่อไปว่า โรคนี้ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรงและหายได้เอง การรักษาเพื่อบรรเทาอาการ เช่น การใช้ยาลดไข้ ยาแก้ปวด ยาทาแก้ปวดแผลที่ลิ้นและกระพุ้งแก้ม ผู้ปกครองหรือผู้เลี้ยงดูเด็กควรเช็ดตัวผู้ป่วย เพื่อลดไข้เป็นระยะและให้รับประทานอาหารอ่อนๆ รสไม่จัด ดื่มน้ำ น้ำผลไม้และนอนพักผ่อนมากๆ ถ้าเป็นเด็กอ่อนอาจต้องป้อนนมให้แทนการดูดนม เพื่อลดการปวดแผลในปาก ที่สำคัญคือการป้องกันอาการแทรกซ้อนที่อาจรุนแรงถึงเสียชีวิต
          โรคนี้ไม่มียารักษาเฉพาะ ไม่มีวัคซีนป้องกันโรค วิธีที่ลดการเจ็บป่วยดีที่สุดคือการป้องกัน โดยการรักษาสุขอนามัยที่ดี ตัดเล็บให้สั้น หมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ โดยเฉพาะหลังการขับถ่ายและก่อนรับประทานอาหาร รวมทั้งใช้ช้อนกลาง และไม่ใช้สิ่งของร่วมกัน ส่วนการป้องกัน ถ้าพบเด็กป่วยหรือสงสัย ต้องแยกเด็กป่วยที่เป็นโรคมือ เท้า ปาก ออกจากกลุ่มเพื่อน โดยให้หยุดพักที่บ้านเป็นเวลา 1 สัปดาห์จนกว่าจะหายเป็นปกติ และหากมีเด็กป่วยในเวลาไล่เลี่ยกันมากกว่า 2 คน ขอให้พิจารณาปิดเรียนและทำความสะอาด เช่น พื้นห้องเรียน ห้องน้ำ สุขา เครื่องใช้ ของเล่น สนามเด็กเล่น ตลอดจนเสื้อผ้าที่อาจปนเปื้อนเชื้อ ด้วยนํ้ายาฆ่าเชื้อที่ใช้ทั่วไปภายในบ้าน  เพื่อควบคุมป้องกันไม่ให้โรคแพร่ระบาด
            “ที่สำคัญ หากผู้ปกครองสังเกตเห็นลูกมีอาการที่อาจมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ไข้สูง ซึม อาเจียนบ่อยๆ หอบ แขนขาอ่อนแรง ไม่ยอมรับประทานอาหารและนํ้า รีบพาบุตรหลานมาพบแพทย์ทันที เพื่อรับการรักษา  หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422” นายแพทย์โสภณ กล่าวปิดท้าย





*****************************************
ที่มา : http://www.moph.go.th/moph2/index4.php