ผู้เขียน หัวข้อ: แพทย์แนะประชาชน ดูแลสุขภาพ ห่างไกลโรคไต  (อ่าน 387 ครั้ง)

ออฟไลน์ Por-MedTech

  • Global Moderator
  • medtech ปี เอก
  • *****
  • กระทู้: 1192
    • อีเมล์
แพทย์แนะประชาชน ดูแลสุขภาพ ห่างไกลโรคไต



อธิบดีกรมการแพทย์ห่วงคนไทยป่วยเป็นโรคไตเรื้อรัง เตือนผู้ป่วยควรกินยาภายใต้การดูแลของแพทย์ พร้อมแนะประชาชนหันมาดูแลสุขภาพ ลดอาหารเค็ม ออกกำลังกาย ห่างไกลโรคไต             

        นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า สมาคมโรคไตนานาชาติกำหนดให้ทุกวันพฤหัสบดีที่ 2 ของเดือนมีนาคมเป็นวันไตโลก (World Kidney Day) กรมการแพทย์ตระหนักถึงปัญหาผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด ผู้ป่วยมักมีภาวะแทรกซ้อนทางร่างกายอย่างรุนแรง ส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัว โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้ไต เกิดความผิดปกติ คือ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคพันธุกรรมทางไต หรือการใช้ยามากเกินปริมาณที่กำหนด โดยเฉพาะยาที่เป็นพิษต่อไต ประเภทยาแก้ปวดข้อ ยาคลายกล้ามเนื้อ ซึ่งโดยปกติคนทั่วไปมักเข้าใจว่ายาในกลุ่ม OTC(Over-The-Counter Drugs)หรือยาที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านยาเพื่อบรรเทาอาการเจ็บป่วยเป็นยาที่ปลอดภัยเนื่องจากสามารถหาซื้อได้เองโดยไม่ต้องมีใบสั่งยา แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยาเหล่านี้อาจสะสมในร่างกายและก่อให้เกิดอันตรายต่อไตได้ ซึ่งโดยปกติแล้วร่างกายคนเราจะมีไต 2 ข้าง ไตจะทำหน้าที่กรองของเสียในเลือดและควบคุมจำนวนน้ำ เกลือแร่และสารต่างๆในร่างกายให้อยู่ในภาวะสมดุล แต่หากไตเสื่อมสภาพลงเหลือเพียง 25 เปอร์เซ็นต์ จะแสดงอาการของโรค คือ ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะขัด ปัสสาวะสีเข้มแบบสีน้ำล้างเนื้อ บวมที่หน้า เท้า ปวดหลัง ปวดเอว เบื่ออาหาร คลื่นไส้ และความดันโลหิตสูง หากพบอาการดังกล่าวให้รีบพบแพทย์ โดยแพทย์จะทำการวินิจฉัยโรคจากการตรวจปัสสาวะเพื่อหาโปรตีนที่รั่วออกมาหรือตรวจเลือดหาสารที่เป็นของเสียที่คั่งอยู่ ซึ่งไตไม่สามารถกรองออกมาได้ตามปกติ การตรวจภาพทางรังสีเพื่อเอกซเรย์ดูไต  ซึ่งหากพบว่าเป็นโรคไตในระยะเริ่มต้นจะเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาและชะลอความเสื่อมของไตให้อยู่ในเกณฑ์ใกล้เคียงปกติได้ แต่หากไม่ได้รับการรักษาไตจะเสื่อมลงเรื่อยๆจนเหลือไม่ถึง 10-15 เปอร์เซ็นต์ จนเกิดอาการไตวายระยะสุดท้าย ทำให้ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาด้วยการล้างไตหรือการผ่าตัดปลูกถ่ายไต ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที ผู้ป่วยมักเสียชีวิตในที่สุด ดังนั้นผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคไตที่ควรได้รับการตรวจคัดกรอง ได้แก่ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน ผู้ป่วยที่เป็นโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ เป็นซ้ำๆหลายครั้ง ผู้ป่วยที่รับประทานยาบางชนิดโดยเฉพาะยาแก้ปวดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ รวมไปถึงผู้ที่มีประวัติสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคไต

        อธิบดีกรมการแพทย์กล่าวเพิ่มเติมว่า หลักการดูแลสุขภาพไตในเบื้องต้นด้วยตนเองคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค หลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่มีรสเค็มจัด เช่น อาหารจานด่วน อาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง อาหารกึ่งสำเร็จรูป ควบคุมระดับโลหิตและระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ดื่มน้ำสะอาดวันละ 6-8 แก้ว งดบุหรี่และสุรา ออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน วันละ 30 นาที หลีกเลี่ยงการกลั้นปัสสาวะ ตลอดจนหมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี จะทำให้ห่างไกลจากโรคไต




***********************************************
ที่มา : http://www.moph.go.th/moph2/index4.php