ผู้เขียน หัวข้อ: ความพยายามย่อมไม่ไร้ค่า แนวทางเพื่อรับมือแบคทีเรียดื้อยา  (อ่าน 3692 ครั้ง)

ออฟไลน์ Por-MedTech

  • Global Moderator
  • medtech ปี เอก
  • *****
  • กระทู้: 1192
    • อีเมล์
ความพยพื่อรับมือแบคทีเรียดื้อายามย่อมไม่ไร้ค่า แนวทางเยา


Mon, 2015-08-17 17:49 -- hfocus
ดารา โมฮัมมัด : The Guardian
เดอะ การ์เดียน : กำไรที่น้อยนิดและความยากลำบากในการพัฒนายาใหม่ทำให้บริษัทยายักษ์ใหญ่พากันล้มเลิกโครงการพัฒนายาปฏิชีวนะ แต่ล่าสุดนักวิจัยกำลังพลิกแนวทางใหม่เพื่อการรับมือแบคทีเรียดื้อยา



แมตต์ คูเปอร์ นักเคมีการแพทย์ของมหาวิทยาลัยควินส์แลนด์ในประเทศออสเตรเลียทำหน้ามุ่ยพลางเกาศีรษะ  เขากำลังพยายามเค้นคำตอบว่าเหตุใดการพัฒนายาปฏิชีวนะตัวใหม่จึงเหือดแห้งถึงขนาดนี้ และกล่าวว่า “ปัญหาก็คือ การพัฒนายาปฏิชีวนะตัวใหม่ทุกวันนี้กลายเป็นเรื่องยากถึงยากมาก”

การขาดแคลนยาใหม่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ โดยมีข้อมูลชี้ว่าแบคทีเรียดื้อยาได้คร่าชีวิตผู้คนแล้วปีละหลายแสนคน และข้อมูลจากการศึกษาทบทวนการดื้อยายาต้านจุลชีพ (เอเอ็มอาร์) ซึ่ง จิม โอนีล เป็นประธานได้ชี้ว่า  แบคทีเรียดื้อยาจะเป็นสาเหตุให้มีผู้เสียชีวิตราวปีละสิบล้านคนหากยังคงไม่มีมาตรการรองรับ อันเป็นตัวเลขที่สูงกว่าการเสียชีวิตจากมะเร็ง อุจจาระร่วง หรืออุบัติเหตุจราจร

คูเปอร์เผยว่า การขาดแคลนงบประมาณมาตั้งแต่ปลายคริสตทศวรรษที่ 70 เป็นสาเหตุหนึ่งทำให้การพัฒนายาใหม่เป็นไปได้ยาก บริษัทยายักษ์ใหญ่อันเป็นตัวจักรสำคัญในกระบวนการพัฒนายาใหม่เริ่มหยุดโครงการยาปฏิชีวนะและหันไปทุ่มเทกับยาที่ทำกำไรได้มากกว่า ซึ่งสามารถจำหน่ายในราคาที่สูงกว่าและผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้ยาไปตลอดชีวิต เช่น ยารักษาโรคเบาหวาน มะเร็ง และโรคหัวใจ โดยยกตัวอย่างยา Lipitor อันเป็นยาลดโคเลสเตอรอลที่สามารถทำรายได้ให้กับบริษัทไฟเซอร์ถึงปีละ 13,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่บริษัทไม่สามารถสร้างรายได้ในระดับเดียวกันด้วยยาปฏิชีวนะซึ่งมีราคาต่อเม็ดยาที่ต่ำกว่า และมีระยะการใช้ยาราวหนึ่งสัปดาห์

ความยากลำบากของกระบวนการพัฒนายาใหม่เป็นสาเหตุอีกประการหนึ่งที่ทำให้บริษัทยาขนาดใหญ่ถอนตัวจากการพัฒนายาปฏิชีวนะ “เราสอยผลไม้ลูกเตี้ยๆ มาเกือบหมดแล้วระหว่างยุคทองของยาปฏิชีวนะในช่วงคริสต์ทศวรรษ 50-70” คูเปอร์กล่าว

ยาปฏิชีวนะส่วนใหญ่ผลิตจากสารประกอบซึ่งได้จากจุลชีพในดิน ในช่วงนั้นนักวิทยาศาสตร์ก็ใช้วิธีการเดียวกับเด็กๆ ที่เล่นทรายอยู่บนชายหาด อาศัยแค่ถังสักใบบวกกับพลั่วสักอันสำหรับเก็บตัวอย่างดิน จากนั้นก็เอามาเพาะเชื้อในห้องปฏิบัติการและลองดูว่าสารประกอบตัวไหนจะฆ่าเชื้อได้บ้าง

“ตอนนั้นเราผลิตยาปฏิชีวนะได้ถึงปีละ 12 ตัว ไม่มีใครกังวลเรื่องการดื้อยาหรือใช้ยามากเกินไปเพราะคิดว่าเดี๋ยวเดียวก็ผลิตยาตัวใหม่ได้อีก”




ก่อนหน้านี้ไม่มีใครกังวลเรื่องการดื้อยาหรือใช้ยามากเกินไปเพราะคิดว่าเดี๋ยวเดียวก็ผลิตยาตัวใหม่ได้อีก ภาพประกอบโดย : Alamy

ที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์พยายามตะลุยก้นทะเลลึกเพื่อเสาะหาจุลชีพสำหรับผลิตสารประกอบตัวใหม่แต่ก็ล้วนกลับมามือเปล่า จนกระทั่งเมื่อต้นปีนี้ซึ่งทีมจากมหาวิทยาลัยนอร์ธอิสเทิร์นในเมืองบอสตันของสหรัฐอเมริกาประกาศว่าค้นพบสารประกอบใหม่ 25 ตัวจากตัวอย่างดิน โดยหนึ่งในนั้นคือ teixobactin ซึ่งผลการทดสอบในห้องปฏิบัติการชี้ว่ามีประสิทธิภาพต่อเชื้อวัณโรคดื้อยา และเอ็มอาร์เอสเอ (methicillin-resistant Staphylococcus aureus) ที่พบในโรงพยาบาล และแม้ teixobactin ไม่มีผลต่อแบคทีเรียแกรมลบซึ่งรักษาได้ยากกว่า แต่การค้นพบครั้งนี้ก็นับว่าเป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่ง  โดยคาดว่าหาก teixobactin ผ่านการรับรองตามคาดหมายภายใน 5 ปีนับจากนี้ก็จะกลายเป็นยาปฏิชีวนะตัวใหม่ที่พัฒนาขึ้นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2530

นักวิจัยใช้เทคโนโลยีไอชิป (iChup) อันเป็นลิขสิทธิ์ของบริษัทโนโวไบโอติกฟาร์มาซูติคอลส์ในการใช้ประโยชน์จากจุลชีพ “สสารมืด” ในดิน ตามที่ประเมินว่าราวร้อยละ 99 ของจุลชีพไม่สามารถนำมาเพาะเชื้อในห้องปฏิบัติการได้และเป็นเหตุให้ผู้พัฒนายาปฏิชีวนะในยุคแรกๆ มองไม่เห็น ซึ่งเทคโนโลยีไอชิปนี้ช่วยให้สามารถเพาะจุลชีพได้แม้อยู่ภายในดิน 

“หลักการก็คือ คุณต้องมีสารประกอบที่มีแนวโน้มเป็นไปได้สัก 50 ตัวเพื่อที่จะพัฒนายาใหม่สักตัวหนึ่ง” คิม เลวิส ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนายาต้านจุลชีพของมหาวิทยาลัยนอร์ธอิสเทิร์นและหัวหน้าคณะวิจัยเผย “เพราะฉะนั้นเราจึงไม่ได้คาดหวังมากนักจากสารประกอบที่มีอยู่ 25 ตัว แต่เราก็จะพยายามค้นหากันต่อไป”

คูเปอร์เองก็อยู่บนเส้นทางตามล่ายาปฏิชีวนะเช่นกัน เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาเขาได้เปิดโครงการชื่อ “Community for Open Antimicrobial Drug Discovery” อันเป็นโครงการความร่วมมือโดยไม่หวังผลกำไรและมีเป้าหมายเพื่อรวบรวมสารเคมีหลายพันตัวซึ่งผลิตขึ้นโดยนักวิจัยของสถาบันการศึกษาต่างๆ และนำมาคัดกรองหาสารเคมีที่มีศักยภาพนำไปใช้เป็นยาปฎิชีวนะ 

“เรามีธนาคารเมล็ดพันธ์...ธนาคารเนื้อเยื่อ...แล้วทำไมจะมีธนาคารสารเคมีไม่ได้ล่ะ” เขากล่าว “บางทีคำตอบอาจอยู่ตรงหน้าเรามาตั้งนานแล้ว ซึ่งเราจะไม่มีทางรู้ได้หากไม่เริ่มต้นเสาะหาจากชั้นวางทุกชั้นในห้องปฏิบัติการทุกแห่งทั่วโลก”

ลองยกเรื่องการเสาะแสวงหายาปฏิชีวนะตัวใหม่มาคุยกับนักวิจัยยาปฏิชีวนะสักคน เชื่อได้เลยว่าเขาจะบรรยายความยากลำบากนั้นในระดับเดียวกับการตามค้นหา “จอกศักดิ์สิทธิ์” ซึ่งนั่นไม่เพียงสะท้อนว่าการค้นพบยาปฏิชีวนะตัวใหม่ถือเป็นความสำเร็จอันน่าอัศจรรย์ หากเป็นการยอมรับด้วยว่ายาปฏิชีวนะตัวใหม่นั้นยังคงอยู่ไกลเกินกว่าแพทย์จะเอื้อมถึง แม้ด้วยการคาดการณ์เส้นเวลาอย่างเข้าข้างตัวเองที่สุดแล้วก็ตาม

การพยายามยืดอายุขัยของยาปฏิชีวนะที่มีอยู่ ดูจะเป็นแนวทางที่พอจะทำได้ในขณะนี้ และเป็นที่มาของการพัฒนาสารต้านการดื้อยา รวมถึงสาร HT61 ซึ่งอยู่ระหว่างขั้นตอนการพัฒนาโดยบริษัทเฮลเพอร์บีของอังกฤษซึ่งดำเนินธุรกิจด้านเทคโนโลยีชีวภาพ   

“สาร HT61 ออกฤทธิ์โดยการเจาะเมมเบรนของแบคทีเรียเพื่อเปิดทางให้ยาปฏิชีวนะเก่าสามารถเข้าสู่เชื้อโดยตรงด้วยระดับความเข้มข้นที่สูง” แอนโธนี โคตส์ หัวหน้าแผนกวิทยาศาสตร์ของเฮลเพอร์บีและนักจุลชีววิทยาทางการแพทย์ของมหาวิทยาลยเซนต์จอร์จในกรุงลอนดอนเผย

สาร HT61 ยังช่วยกระตุ้นยาปฏิชีวนะบางตัวให้ออกฤทธิ์ต่อแบคทีเรียดื้อยา เช่น เอ็มอาร์เอสเอ และอาจวางจำหน่ายได้ภายในสองถึงสี่ปีนี้ และแม้สารตัวนี้ไม่สามารถใช้แบบยารับประทานแต่ก็อาจใช้โดยทาป้องกันภายในจมูกของผู้ป่วยเพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อร้ายแรง

บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพบางแห่งก็กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาสารต้านการดื้อยาตัวอื่น ซึ่งบางตัวสามารถใช้แบบยารับประทานหรือให้ร่วมกับยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำ

“เราต้องการสารต้านการดื้อยาราวห้าหรือหกชนิด” โคตส์เผย “โดยแต่ละชนิดต้องสามารถกระตุ้นฤทธิ์ยาปฏิชีวนะที่ต่างกันเพื่อที่จะสร้างโอกาสให้เราสามารถใช้ยาที่มีอยู่ในปัจจุบันต่อไปได้”

โคตส์ย้ำว่าแนวทางนี้เป็นเพียงการแก้ปัญหาชั่วคราว เพราะเมื่อแบคทีเรียเกิดดื้อยาขึ้นมาอีกก็จำเป็นต้องพัฒนาสารต้านการดื้อยาตัวใหม่อีกห้าหรือหกตัว ประเด็นนี้ก็เป็นเรื่องที่ เดวิด ลิเวอร์มอร์กังวลอยู่เช่นกัน

“การแสวงหายาปฏิชีวนะได้ตัวหนึ่งยังไม่เพียงพอ” ลิเวอร์มอร์ซึ่งเป็นนักจุลชีววิทยาทางการแพทย์ของมหาวิทยาลัยอีสต์แองเกลียและอดีตผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการติดตามการดื้อยาปฏิชีวนะของรัฐบาลอังกฤษกล่าว “แบคทีเรียจะหาทางรอดจนได้ ดังนั้นจึงต้องเน้นไปที่การพัฒนาสารประกอบตัวใหม่ หรือไม่ก็เปลี่ยนรูปแบบการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะไปในลักษณะที่ก่อให้เกิดการดื้อยาต่ำกว่าวิธีที่เราเคยใช้กันมา”

              การรักษาโดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง แนวทางหนึ่งที่มักมองข้ามไปก็คือการพัฒนายาใหม่ที่ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อกำจัดแบคทีเรียซึ่งอาจกระตุ้นให้เกิดการดื้อยาตามมา แต่มุ่งไปที่การยับยั้งไม่ให้แบคทีเรียทวีจำนวนมากขึ้นจนเป็นอันตราย เปรียบได้กับแฟนฟุตบอลซึ่งไม่มีพิษมีภัยเมื่อต่างคนต่างอยู่แต่จะสร้างความรำคาญก็ต่อเมื่อรวมตัวกันเป็นกลุ่มใหญ่ ซึ่งเมื่อแบคทีเรียอยู่รวมกันเป็นจำนวนมากพอก็จะหลั่งโมเลกุลเรียกว่า virulence factors อันเป็นตัวการทำให้เกิดโรค ในข้อนี้นักวิจัยบางกลุ่มกำลังทดสอบสารประกอบที่สามารถแทรกแซงกระบวนการสื่อสารระหว่างเชื้อแบคทีเรียเพื่อหลอกให้แบคทีเรียคิดว่าอยู่โดดเดี่ยวและไม่หลั่งปัจจัยก่อโรค ขณะที่อีกส่วนหนึ่งก็กำลังพยายามหาวิธีเหนี่ยวนำให้แบคทีเรียขาดธาตุอาหารที่จำเป็นจนกระทั่งตายไปเอง





แนวทางใหม่ในการรับมือกับแบคทีเรียดื้อยา แม้ว่าจะมีผลลัพธ์ที่ดีในจานเพาะเชื้อ แต่ยังคงอีกยาวไกลกว่าที่จะนำมาใช้ได้จริง ภาพประกอบโดย : Greg Wood/AFP/Getty Images

แม้แนวทางข้างต้นได้ผลลัพธ์ที่ดีในจานเพาะเชื้อแต่ลิเวอร์มอร์ก็มองว่ายังคงอีกยาวไกลกว่าที่จะนำมาใช้ได้จริง  โดยยอมรับว่า “เป็นธรรมดาที่แนวคิดทางวิทยาศาสตร์ที่ล้ำเลิศกับเวชปฏิบัติในความเป็นจริงมักต่อกันไม่ติด”

สำหรับลิเวอร์มอร์แล้วความจำเป็นเร่งด่วนที่สุดในขณะนี้อยู่ที่การพัฒนาเทคโนโลยีซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยการติดเชื้อดื้อยาได้อย่างรวดเร็วและให้การรักษาที่เหมาะสม “ด้วยวิธีนี้แพทย์จะสามารถหลีกเลี่ยงการใช้ยาปฏิชีวนะทั่วไปในลักษณะการทิ้งระเบิดปูพรมในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองซึ่งนับเป็นการสูญเปล่าอย่างยิ่ง เพราะนั่นหมายถึงการระดมระเบิดทิ้งลงไปและหวังว่าจะโดนเป้าหมายโดยไม่แยแสว่าจะก่อความเสียหายมากขนาดไหน” เขากล่าว

การใช้ยาปฏิชีวนะโดยขาดความรอบคอบเป็นสาเหตุกระตุ้นให้เกิดแบคทีเรียดื้อยา เนื่องจากยาจะกำจัดแบคทีเรียชนิดดีในลำไส้ของผู้ป่วยและเปิดช่องให้แบคทีเรียตัวปัญหา เช่น Clostridium difficile เกาะกลุ่มกันหนาแน่น หากแพทย์ทราบชนิดของเชื้อโรคและกลไกการดื้อยาที่แน่ชัดก็จะสามารถปรับการรักษาให้สอดคล้องกัน และแม้ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่สามารถตรวจจีโนมทั้งหมดของตัวอย่างแบคทีเรียได้ในไม่กี่ชั่วโมง แต่เทคโนโลยีดังกล่าวก็ยังไม่พร้อมสำหรับนำมาใช้ในทางคลินิกเนื่องจากอุปสรรคด้านค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ตามที่ประเมินกันว่าค่าตรวจต่อหนึ่งตัวอย่างอาจมีราคาไล่ตั้งแต่ไม่กี่ร้อยปอนด์จนถึงหลายพันปอนด์ อีกทั้งประสิทธิภาพตรวจการกลายพันธ์ที่บ่งชี้การดื้อยาก็ยังไม่อาจมั่นใจได้เพียงพอ

“ปัญหาที่ว่ามา ล้วนเป็นโจทย์ใหญ่ในกระบวนการพัฒนาเทคโนโลยีข้างต้น” ลิเวอร์มอร์ กล่าว “แต่ผมก็มั่นใจว่าเทคโนโลยีจะก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ” เขามองว่าแนวทางนี้ยังมีประโยชน์ด้านอื่นด้วย เพราะเมื่อเทคโนโลยีที่ช่วยให้วินิจฉัยได้อย่างรวดเร็วมีใช้กันทั่วไปก็จะเป็นการเติมเต็มส่วนที่ขาดหาย นอกจากนี้ยังช่วยให้การกำหนดผู้ป่วยที่เหมาะสมสำหรับการศึกษาทางคลินิกทำได้ง่าย อันจะเป็นการดึงบริษัทยาที่ทิ้งการพัฒนายาปฏิชีวนะให้กลับเข้ามาอีกครั้ง

“การศึกษาทางคลินิกของยาปฏิชีวนะนั้นสิ้นเปลืองงบประมาณอย่างยิ่ง การศึกษาหนึ่งอาจต้องใช้งบประมาณตั้งแต่ 60-100 ล้านปอนด์ และเมื่อมองความจริงว่าจากผู้ป่วยหลายพันคนที่รวบรวมไว้ในการศึกษานั้นมีเพียงหยิบมือที่ติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาอันเป็นเป้าหมายสำหรับทดสอบยาที่ศึกษา ซึ่งนั่นก็อาจหมายถึงต้นทุนราวหนึ่งล้านปอนด์ต่อผู้ป่วยเป้าหมายแต่ละคน ด้วยขนาดและต้นทุนของการศึกษาในลักษณะนี้จึงกลายเป็นภาระการเงินก้อนโตสำหรับบริษัทยาขนาดใหญ่ และเป็นกำแพงขัดขวางการเข้ามามีส่วนร่วมของบริษัทยาขนาดเล็ก” เขากล่าว

เทคนิคการวินิจฉัยที่รวดเร็วและเชื่อถือได้จะเป็นกุญแจให้บริษัทยารวบรวมเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นเป้าหมายในการศึกษาเพื่อดำเนินการศึกษาที่เล็กลงและด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า “เราต้องปรับปรุงเทคโนโลยีให้ฉลาดขึ้นอีกมากเพื่อที่จะเปิดทางให้บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพขนาดเล็กสามารถดำเนินการศึกษายาปฏิชีวนะ แทนที่จะเดินตามกลไกเดิมที่บีบให้บริษัทขนาดเล็กต้องไปขอพึ่งบริษัทใหญ่ ซึ่งไม่ทำให้เกิดแรงจูงใจในการพัฒนายาปฏิชีวนะ” ลิเวอร์มอร์ชี้

เรื่องเงินๆ ทองๆ ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่คูเปอร์ครุ่นคิด “เราจำเป็นต้องมองในระยะยาวและพิจารณาอย่างถี่ถ้วนในประเด็นการกำหนดราคายาปฏิชีวนะ และต้องตัดสินว่าเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ทางจริยธรรมหรือไม่กับการยินดีจ่ายเงินก้อนโตไปกับยาช่วยยืดชีวิต แต่กลับกระเหม็ดกระแหม่กับยาปฏิชีวนะที่มีไว้เพื่อการช่วยชีวิต” เขากล่าวว่า ราคายาสำหรับโรคมะเร็งและโรคที่พบได้ยากอาจพุ่งไปถึง 70,000 ปอนด์ต่อการรักษาแต่ละราย ขณะที่การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะครบตามกำหนดมีค่าใช้จ่ายน้อยนิดเพียง 10 ปอนด์เท่านั้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นความผิดฝาผิดตัวระหว่างคุณค่าต่อสังคมและคุณค่าต่อเศรษฐกิจทุนนิยม

คูเปอร์ชี้ว่า รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องให้ความเชื่อว่าการพัฒนายาปฏิชีวนะสามารถกลับมาคึกคักเหมือนยุคเฟื่องฟูในช่วงก่อนคริสตทศวรรษที่ 70 “เราพูดถึงเรื่องการดื้อยากันมา 20 ปีแล้ว และก็ยังคงไม่เห็นแรงผลักดันที่จะมากอบกู้สถานการณ์  ก็ได้แต่หวังว่าเราจะหาคำตอบได้ในเร็ววันเพราะประสิทธิภาพของยาในทุกวันนี้กำลังแขวนอยู่บนเส้นด้าย”

อนึ่ง การศึกษาทบทวนการดื้อยาต้านจุลชีพ (เอเอ็มอาร์) โดยการนำของจิม โอนีล นักเศรษฐศาสตร์ซึ่งมีบทบาทสำคัญในรัฐบาลอังกฤษมีขึ้นตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน เพื่อหาแนวทางคลี่คลายวิกฤติยาปฏิชีวนะ การศึกษาได้ตีพิมพ์ข้อมูลออกมาแล้วสามฉบับนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2557 โดยมีข้อมูลสำคัญบางส่วนดังต่อไปนี้

สถิติด้านการดื้อยา

10 ล้าน ตัวเลขคาดการณ์จำนวนผู้เสียชีวิตแต่ละปีจากการดื้อยาต้านจุลชีพภายในปี 2593

90% ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นประชากรในภูมิภาคเอเชียและแอฟริกา

100 ล้านล้านดอลลาร์ ประมาณการมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจทั่วโลกภายในปี 2593 หากไม่สามารถแก้ไขปัญหาการดื้อยาปฏิชีวนะ

2 พันล้านดอลลาร์ ขนาดของกองทุนเพื่อสนับสนุนการวิจัยการดื้อยาต้านจุลชีพที่โอนีลเสนอให้จัดตั้ง

2-3 พันล้านดอลลาร์ ผลตอบแทนที่โอนีลเสนอแก่บริษัทยาที่สามารถพัฒนายาปฏิชีวนะตัวใหม่ในลักษณะไม่หวังผลกำไร

ขอบคุณที่มา : www.theguardian.com





**********************************
ที่มา : http://www.hfocus.org/forward