ผู้เขียน หัวข้อ: ออกกำลังกาย สไตล์เบาหวาน  (อ่าน 1372 ครั้ง)

ออฟไลน์ beebee

  • medtech ปี เอก
  • ******
  • กระทู้: 1550
    • อีเมล์
ออกกำลังกาย สไตล์เบาหวาน
« เมื่อ: กรกฎาคม 18, 2011, 01:52:43 pm »


>>More Article...
 
   

ชื่อเรื่อง: ออกกำลังกาย สไตล์เบาหวาน
Article : สมพัฒน์ จำรัสโรมรัน ที่ปรึกษาด้านการออกกำลังกาย

     หากไม่มีการดูแลสุขภาพที่เหมาะสม ผู้ป่วยเบาหวานมักจะประสบกับปัญหาสุขภาพอื่นๆ ตามมา ด้วยเหตุนี้นอกจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตและการใช้ยาให้ถูกต้องแล้ว การออกกำลังกายยังเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่คนเป็นเบาหวานไม่ควรมองข้าม

     เพราะการออกกำลังกายจะทำให้เซลล์กล้ามเนื้อไวต่ออินซูลิน และนำน้ำตาลจากเลือดเข้าสู่เซลล์ได้มากขึ้น ระดับน้ำตาลในเลือดจึงลดลง นอกจากนี้ยังทำให้การหมุนเวียนของเลือดดีขึ้น รวมถึงทำให้ระบบของหัวใจ ปอด และเส้นเลือดดีขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ การออกกำลังกายยังมีประโยชน์ในแง่อื่น ๆ เช่น ช่วยให้มีรูปร่างดีขึ้น น้ำหนักตัวลดลง และเป็นวิธีการจัดการกับความเครียดได้ดีอีกด้วย
อย่างไรก็ดี ก่อนการออกกำลังกายควรปรึกษาแพทย์ก่อน ถ้าแพทย์อนุญาตผู้ป่วยเบาหวานก็สามารถออกกำลังกายตามโปรแกรมง่าย ๆ ได้ดังนี้

     - ชนิดของการออกกำลังกาย เน้นรูปแบบการออกกำลังกายแบบแอโรบิก เช่น การเดินเร็ว ว่ายน้ำ หรือปั่นจักรยาน เป็นต้น

      - ความหนัก ช่วงเริ่มต้นควรออกกำลังกายในระดับความหนักปานกลาง ไม่เหนื่อยมากจนเกินไป หลังจากนั้นอาจจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นตามความสามารถ

     - ความถี่ ประมาณ 4 - 7 วัน/สัปดาห์

     - ระยะเวลา สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานประเภทที่ 1ซึ่งตับอ่อนไม่สามารถผลิตอินซูลินได้ ให้ค่อยๆ ใช้เวลาเพิ่มขึ้นจนถึง 20 – 30 นาที ขณะที่ผู้ป่วยโรคเบาหวานประเภทที่ 2 ซึ่งเกิดจากอินซูลินมีการตอบสนองที่ไม่ดี สามารถออกกำลังกายได้นานถึง 40 – 60 นาที

ข้อควรระวังสำหรับเบาหวานประเภทที่ 1

     แม้ว่าจะยังไม่มีผลรับรองแน่ชัดว่า การออกกำลังกายจะสามารถช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในโรคเบาหวานประเภทที่ 1ได้ แต่การออกกำลังกายก็จะช่วยให้ประสิทธิภาพและระบบการทำงานต่างๆ ในร่างกายดีขึ้น รวมถึงยังสามารถช่วยลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ เช่น โรคหัวใจ ได้ด้วย เพียงแต่มีข้อพึงระวังคือ

      - ก่อนออกกำลังกาย ไม่ควรฉีดอินซูลินเข้าสู่กล้ามเนื้อที่จะใช้ในการออกกำลังกาย และควรออกกำลังกายหลังจากฉีดอินซูลินไปแล้วประมาณ 90 – 120 นาที

      - ควรออกกำลังกายหลังมื้ออาหารหรือของว่างภายใน 1 ชั่วโมง โดยออกกำลังในรูปแบบเดิมทุกวัน

ข้อควรระวังสำหรับเบาหวานประเภทที่ 2

     การออกกำลังกาย มีความสำคัญต่อการรักษาโรคเบาหวานประเภทที่ 2 คือทั้งช่วยลดระดับของน้ำตาล คอเลสเตอรอล และน้ำหนักตัว แต่ก็ยังมีข้อที่ควรระวังดังนี้

      - ควรตรวจเช็กปริมาณของน้ำตาลในเลือดบ่อย ๆ และคอยปรึกษาแพทย์อย่างสม่ำเสมอ

      - ควรพกน้ำผลไม้หรือลูกอมติดตัวอยู่เสมอ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะ“Hypoglycemia” หรือน้ำตาลในเลือดต่ำ ที่มักจะเกิดขึ้นในขณะออกกำลังกาย โดยมีอาการที่บ่งบอกคือ หน้ามืด เวียนศีรษะ เหงื่อออกมาก ตัวสั่น คล้ายจะเป็นลม

      - ไม่ควรฉีดอินซูลินในกล้ามเนื้อที่จะใช้ออกกำลังกาย เพราะจะถูกดูดซึมได้เร็วและทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในร่างกายต่ำ

      - ควรออกกำลังกายในช่วงเวลาเดียวกันทุกครั้ง เพื่อง่ายต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในร่างกาย

      - หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายในช่วงที่อินซูลินทำงานอย่างเต็มที่

      - ควรรับประทานขนมหรือของว่างก่อนและระหว่างการออกกำลังกาย

      - ระวังการบาดเจ็บที่จะเกิดขึ้นที่เท้า เพราะจะเกิดการติดเชื้อได้ง่าย

      - ควรหยุดหรืองดการออกกำลังกาย ถ้าระดับน้ำตาลในเลือดก่อนออกกำลังกายต่ำกว่า 100 mg/dL ยกเว้นถ้ามีการบริโภคคาร์โบไฮเดรตเพิ่มเติม ขณะเดียวกันถ้ามีระดับน้ำตาลในเลือดเกินกว่า 250 mg/dL หรือมีปริมาณของคีโตนที่พบในปัสสาวะมากกว่า 240 mg/dL ก็ให้หยุดหรืองดการออกกำลังกายเช่นเดียวกัน

พูดง่าย ๆ ก็คือจะออกกำลังกายได้ก็ต่อเมื่อมีการควบคุมปริมาณของน้ำตาลในเลือดให้ได้เสียก่อน เพื่อความปลอดภัยนั่นเอง
ที่มาhttp://www.healthtoday.ne