ผู้เขียน หัวข้อ: เตรียมต่อยอดทันตาภิบาลเป็น นวก.ทันตสาธารณสุข พร้อมปรับบทบาทเน้นป้องกัน80รักษา20  (อ่าน 2555 ครั้ง)

ออฟไลน์ Por-MedTech

  • Global Moderator
  • medtech ปี เอก
  • *****
  • กระทู้: 1192
    • อีเมล์
เตรียมต่อยอดทันตาภิบาลเป็น นวก.ทันตสาธารณสุข พร้อมปรับบทบาทเน้นป้องกัน 80 รักษา 20


          คกก.พัฒนาระบบทันตสุขภาพต่อยอดทันตาภิบาลเป็นนักวิชาการทันตสาธารณสุข พร้อมเตรียมหารือ ก.พ.ขยายกรอบรองรับ และปรับบทบาททันตาภิบาลมาเน้นส่งเสริมป้องกัน 80 ต่องานรักษา 20 จากเดิมรักษา 80 ป้องกัน 20 พร้อมตั้งเป้าใน 5 ปีนี้ต้องปรับบทบาททั้งส่วนนี้ให้ได้อย่างน้อย 50 : 50





รายงานข่าวจากการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบทันตสุขภาพ ซึ่งประกอบด้วยทีมเครือข่ายทันตาภิบาล 77 จังหวัด เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมา ระบุว่าแกนนำเครือข่ายทันตาภิบาล 77 จังหวัด ซึ่งเป็นเครือข่ายของทันตาภิบาล ระดับผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ ทั้งในโรงพยาบาล และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ได้เข้าพบและหารือกับ ศ.พิเศษ ทพญ.ท่านผู้หญิงเพ็ชรา เตชะกัมพุช ผู้อำนวยการหน่วยทันตกรรมพระราชทาน และประธานมูลนิธิทันตนวัตกรรม นายวรวุฒิ กุลแก้ว เลขาธิการมูลนิธิทันตนวัตกรรม และผู้บริหารจากกระทรวงสาธารณสุข เพื่อร่วมปรึกษาหารือเรื่องการพัฒนาระบบทันตสุขภาพแก่ประชาชนทุกกลุ่มวัย  ทั้งนี้ในแผนการพัฒนาระบบทันตสุขภาพ จะมีประเด็นการพัฒนาทันตบุคลากร ดังนี้ 1.ทันตแพทย์ 2.ทันตาภิบาล 3.ผู้ช่วยทันตแพทย์/ช่างทันตกรรม 4. อาสาสมัครสาธารณสุขเชี่ยวชาญทันตสาธารณสุข (อสมท.)

สำหรับประเด็นน่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับทันตาภิบาล มีดังนี้

1.พัฒนาต่อยอดทันตาภิบาล 2 ปี ให้เรียนต่อเป็นระดับปริญญาตรี โดยสถาบันที่ร่วมผลิตทันตาภิบาล 4 ปี ต้องเป็นมหาวิทยาลัยที่มีการผลิตทันตแพทย์ด้วย ขณะนี้มี  2 มหาวิทยาลัย คือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เพื่อก้าวสู่การเป็นนักวิชาการทันตสาธารณสุข โดยใช้ระบบการเรียนการสอนแบบทางไกล (Distance Learning)

2.คณะกรรมการพัฒนาระบบทันตสุขภาพ ได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เพื่อขยายกรอบรองรับตำแหน่งนักวิชาการทันตสาธารณสุข

3.การปรับบทบาทการทำงานของทันตาภิบาล เน้นส่งเสริมป้องกันโรคต่องานรักษา อัตราส่วน 80 ต่อ 20 โดยเน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพช่องปากของตนเองและครอบครัวและชุมชนอย่างยั่งยืน

นางณัฏฐชญา ศิลากุล เจ้าพนักงานทันตสาธารณสุขชำนาญงาน รพ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ แกนนำทันตาภิบาล เปิดเผยว่า ในแต่ละปีสถาบันการศึกษาภาครัฐจะผลิตทันตาภิบาล ออกมาประมาณปีละ 1,000 คน ซึ่งบาบทของทันตาภิบาลนั้นควรจะต้องปรับการทำงานมาทำงานส่งเสริมป้องกันโรคมากขึ้น ส่วนการรักษาให้เป็นหน้าที่ของทันตแพทย์

“จำนวนทันตาภิบาลที่ให้บริการในตำบล/เทศบาลทั่วประเทศขณะนี้มีประมาณ 90 % ของจำนวนเทศบาล/ตำบลทั่วประเทศ ซึ่งในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) นั้น ทันตาภิบาลยังต้องให้การรักษาอยู่ แต่ในอนาคตทันตาภิบาลจะต้องปรับลดการรักษาลงมาเรื่อยๆ ให้เหลือการส่งเสริมป้องกันเป็นรายบุคคล ตามโปรแกรมข้อมูลการให้บริการผู้ป่วยนอกและส่งเสริมป้องกันโรครายบุคคล (OP/PP individual Data) ส่วนการรักษาจะส่งต่อให้ทันตแพทย์ที่อยู่ในพื้นที่โรงพยาบาลเดียวกัน เมื่อทำงานด้านการส่งเสริมป้องกันที่เด่นชัดมากขึ้น ความก้าวหน้าในวิชาชีพก็จะเพิ่มขึ้น เช่น จากทันตาภิบาลที่เป็นระดับอนุปริญญา 2 ปี ก็สามารถก้าวมาเป็นนักวิชาการทันตสาธารณสุข (ปริญญาตรี) ซึ่งในอนาคตจะต้องมีใบประกอบโรคศิลป์ เพื่อควบคุมให้เกิดความปลอดภัยทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ” นางณัฏฐชญากล่าว

นางณัฏฐชญา กล่าวต่อว่า คณะกรรมการพัฒนาระบบทันตสุขภาพได้กำหนดแผนปฏิบัติการไว้ว่าในช่วง 5 ปีจากนี้  จะต้องปรับลดสัดส่วนการทำงานจากเดิมมีอัตราส่วนการรักษาร้อยละ 80 และส่งเสริมสุขภาพร้อยละ 20 เป็น อัตราส่วน 50 : 50 และเน้นแผนพัฒนาทันตสุขภาพในกลุ่มผู้สูงอายุ แต่อย่างไรก็ตามจะต้องพัฒนาทันตสุขภาพทุกกลุ่มวัยไปพร้อมๆ กัน จากนั้นคณะกรรมการจะดูนโยบายการดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุขว่า จะเน้นเรื่องการรักษาหรือการส่งเสริมป้องกันเป็นหลัก หากเน้นการส่งเสริมป้องกัน การขับเคลื่อนจะไปได้ง่ายมากขึ้น

ทั้งนี้ทันตาภิบาลจะต้องเตรียมตัวเองให้พร้อมเพื่อการพัฒนาศักยภาพของตนเองรองรับระบบการเปลี่ยนแปลง เช่น การอบรม ศึกษาต่อ และขอให้ทุกคนปฏิบัติงานให้เต็มที่ตามความสามารถ เพื่อให้บริการประชาชนมากที่สุด ส่วนเรื่องความก้าวหน้า ทางคณะกรรมการพัฒนาระบบทันตสุขภาพจะเร่งทำงานอย่างต่อเนื่อง ไม่ทอดทิ้งอย่างแน่นอน




*****************************************
ที่มา : http://www.hfocus.org/home