ผู้เขียน หัวข้อ: ‘นิมิตร์’ หวั่น สปสช.ถอยหลัง ลืมเจตนารมณ์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า  (อ่าน 1067 ครั้ง)

ออฟไลน์ Por-MedTech

  • Global Moderator
  • medtech ปี เอก
  • *****
  • กระทู้: 1192
    • อีเมล์
‘นิมิตร์’ หวั่น สปสช.ถอยหลัง ลืมเจตนารมณ์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า


“นิมิตร์” ห่วงสถานการณ์ สปสช. หลังบทบาทสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าตามเจตนารมณ์ก่อตั้งองค์กรเจือจาง เหตุมุ่งทำโครงการตามตัวชี้วัด ใช้วิธีบริหารเงิน ไม่ใช่บริหารหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ขณะที่คน สปสช.ขาดความเชื่อต่อระบบ ต่างจากยุคเริ่มต้น แนะ สปสช.ต้องปฏิรูปองค์กร เน้นหล่อหลอมคน สปสช. สร้างศรัทธาต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สร้างความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ ก่อนกลายเป็นเพียงแค่คนทำงานออฟฟิศ


นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ อดีตกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสัดส่วนภาคประชาชน กล่าวถึงการทำงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ว่า ส่วนตัวมองว่าการทำหน้าที่มันเจือจางไป ต่างไปจากในยุคแรกภายหลังจากที่ได้มีการจัดตั้งระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะคนทำงานในรุ่นแรกและร่วมผลักดันจนเกิดระบบนี้ได้เกษียณไปแล้วหรือบางคนก็หันไปทำงานด้านอื่นแทน เหลือแต่เพียงคนรุ่นกลางที่เข้ามาบริหาร แม้ว่าภาพรวมจะยังเห็นความตั้งใจของคน สปสช. ที่ยังต้องการทำระบบนี้อยู่ แต่เรื่องใหญ่ที่เห็นขณะนี้ คือความเชื่อของคนทำงานที่มีต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วหน้า

“เท่าที่เห็นการทำงานของ สปสช. คิดว่ายังขาดกระบวนการที่จะหล่อหลอมหรือบ่มเพาะคนเพื่อยึดโยงกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เป็นสมบัติของทุกคนในประเทศ อีกทั้งคนใน สปสช.เองก็ไม่ได้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จึงไม่รู้ว่าระบบนี้มีจุดอ่อนจุดแข็งอย่างไร ทำให้คนใน สปสช.เป็นเพียงแค่คนทำงานในระบบ แต่ไม่ได้เป็นหนึ่งในคนที่ร่วมสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่แตกต่างจากคนในยุคแรก และแม้ว่าจะมีคนที่อยู่ในช่วงเริ่มระบบอยู่บ้าง แต่เพียงแค่ไม่กี่คนก็คงขับเคลื่อนไม่ไหว ดังนั้น สปสช.ต้องสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ทุกคนต่างร่วมรู้สึกเป็นเจ้าของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไปด้วยกัน”

นายนิมิตร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาสิ่งหนึ่งที่ สปสช.มักถูกวิจารณ์จากคนภายนอก คือ สปสช.ทำตัวเป็นเจ้าของเงิน เป็นแหล่งทุนโครงการ และเวลา สปสช.ลงไปพูดคุยกับคนทำงาน รู้สึกได้ถึงการทำงานที่ต่างไปจากเดิม จากที่ในอดีตที่เป็นการทำงานร่วมกัน ร่วมกันคิดและคลุกคลีด้วยกัน อย่างเช่น งานด้านเอดส์ โดยในยุค นพ.สงวน นิติยารัมภ์พงศ์ อดีตเลขาธิการ สปสช. ได้มีการลงมาร่วมพูดคุยและวางแผน มาร่วมกันมองว่าสิทธิประโยชน์นี้ควรเป็นอย่างไร เรียกว่าอยู่บนความร่วมทุกข์ร่วมสุขและร่วมกันคิด โดย สปสช.ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ถือเงินและนำโครงการมาให้ทำเท่านั้น จนมีคำพูดจากผู้ให้บริการว่า รูปแบบการทำงานกับ สปสช.เป็นการทำงานแลกเงิน และเชื่อว่าคำพูดเหล่านี้ไม่ได้มาลอยๆ เพราะน่าจะมีวิธีปฏิบัติต่อกันจนทำให้เกิดความรู้สึก อย่างไรก็ตามในส่วนของภาคประชาชนยังไม่เห็นมุมนี้มากเพราะยังไม่มีรูปแบบทำงานโครงการ แต่ก็เริ่มมีให้เห็นมากขึ้น

ทั้งนี้การที่ สปสช.อยู่ในสถานการณ์แบบนี้ ปัญหาอาจมาจากภาระงานของ สปสช.ที่ไปเน้นโครงการมากไป และยังต้องทำงานเพื่อตอบตัวชี้วัดจนทำให้คนจมอยู่กับงาน การเน้นบริหารงบที่ทำอย่างไรให้เพียงพอและมีผลงานโดยการใช้วิธีบริหารเงิน ไม่ใช่การบริหารหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เหล่านี้ทำให้ไม่ได้คิดถึงภาพรวมของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ควรเป็น ประกอบกับเมื่อฝ่ายการเมืองไม่เข้าใจและมักพูดอะไรที่บั่นทอนความคิด ส่วนคน สปสช.เองก็ไม่ได้ศรัทธาหรือเชื่อในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจริงๆ ทำให้ไม่มีพลังต่อสู้ที่จะทำให้ระบบเดินหน้าอย่างที่ควรจะเป็นได้ อย่างการสร้างความเท่าเทียมและลดความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพของประเทศ ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือคนข้างใน สปสช. ต้องมีความเชื่อต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อทำให้เป็นระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มีประสิทธิภาพและเป็นของคนทุกคน

อย่างไรก็ตามสิ่งที่พูดนี้ต้องบอกว่าเป็นจุดสำคัญ เพราะจะทำให้ทุกส่วนมาช่วยกันคิดช่วยกันทำ ส่งผลให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีความเข้มแข็ง เป็นเหมือนกับการสร้างพันธมิตรโดยเป็นเจ้าของระบบด้วยกัน และเมื่อใดที่เกิดวิกฤตต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็จะเข้ามาช่วยกันปกป้อง พร้อมช่วยกันทำให้ระบบดีขึ้น อย่างไรก็ตามไม่ปฏิเสธว่าในฝ่ายผู้ให้บริการหรือแม้แต่ภาคประชาชนเองก็มีที่เป็นปัญหาในการทำงานเช่นกัน แต่เพื่อให้ระบบเดินไปได้จำเป็นที่ต้องหาวิธีเพื่อปรับเข้าหากัน

“เท่าที่ติดตามการทำงานของ สปสช.อย่างต่อเนื่อง ต้องบอกว่ารู้สึกเป็นห่วง และหากยังปล่อยแบบนี้ต่อไป ในที่สุด สปสช.ก็จะกลายเป็นเพียงแค่สำนักงานหนึ่งที่คนข้างในต่างทำงานไปวันๆ ดูเงินตามโครงการไปเรื่อย โดยไม่คิดถึงภาพรวมระบบ ซึ่งผิดจากเจตนารมณ์ของการก่อตั้งองค์กร อย่างไรก็ตามส่วนตัวยังมีความหวังกับ สปสช. เพราะโดยรวมคนใน สปสช.เป็นคนดีมีฝีมือ เพียงแต่ต้องมีกระบวนการบ่มเพาะความคิดโดยการปฏิรูป สปสช.ให้เกิดการหล่อหลอมความเชื่อต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทำให้เกิดความเท่าเทียมการดูแลจากรัฐ เพราะไม่เช่นนั้นเราก็จะได้คนมีจิตใจดีมาทำงานในองค์กรเท่านั้น” นายนิมิตร์ กล่าว






************************************
ที่มา : http://www.hfocus.org/home