ผู้เขียน หัวข้อ: ข้อเสนอ SAFE ‘ร่วมจ่ายหรือไม่’ ต้องเหมือนกันทุกระบบ  (อ่าน 1077 ครั้ง)

ออฟไลน์ Por-MedTech

  • Global Moderator
  • medtech ปี เอก
  • *****
  • กระทู้: 1192
    • อีเมล์
ข้อเสนอ SAFE ‘ร่วมจ่ายหรือไม่’ ต้องเหมือนกันทุกระบบ ‘หากไม่’ ประกันสังคมต้องเลิกสมทบค่ารักษาด้วย



             เปิดข้อเสนอ SAFE หากร่วมจ่าย ต้องร่วมจ่ายทุกระบบ ทั้ง ขรก. ประกันสังคม 30 บาท หากไม่ร่วมจ่าย ต้องไม่จ่ายทุกระบบ ประกันสังคมก็ไม่ต้องสมทบสิทธิรักษาพยาบาล ส่วนการระดมงบเพิ่ม หากผ่านภาษี แนะเก็บเพิ่มจาก vat พร้อมพิจารณาภาษีเฉพาะอื่น แต่ไม่ใช่ earmark tax แต่หากต้องการงบเพิ่มผ่านร่วมจ่าย ต้องไม่กระทบต่อการรักษาโรค ปกป้องผู้มีรายได้ต่ำ รายการพิเศษเพื่อความสะดวกต้องจ่าย ทุกระบบเป็นปลายปิด เพิ่มประสิทธิภาพยาและเทคโนโลยี จัดซื้อยาแพง ใช้น้อย ระดับประเทศ ส่วนยาอื่นจัดซื้อระดับเขต จังหวัด

เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2558 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ประธานกรรมการจัดทำแนวทางการระดมทรัพยากรเพื่อความยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินำเสนอ ข้อเสนอการคลังสุขภาพเพื่อความยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพให้ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข ซึ่งภายหลังรับฟังข้อเสนอดังกล่าวปล้ว นพ.ปิยะสกล ระบุว่า รับข้อเสนอทั้งหมด และหลังปีใหม่จะตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาแนวทางต่อไป

ข้อเสนอดังกล่าวได้ให้ข้อมูลพื้นฐานระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศไทยว่า รายจ่ายสุขภาพทั้งหมดคิดเป็น 4.6% ของ GDP และเป็นรายจ่ายที่เพิ่มเร็วกว่า GDP ซึ่ง นพ.สุวิทย์ระบุว่าเป็นทุกประเทศที่มีระบบหลักประกันสุขภาพล้วนเป็นไปในลักษณะนี้ คือรายจ่ายสุขภาพเพิ่มเร็วกว่า GDP

สำหรับรายจ่ายสุขภาพทั้งหมดของไทยนั้น รัฐรับภาระ 80% คิดเป็น 17.5% ของงบประมาณแผ่นดินประเทศไทย และคิดเป็น percentile ที่ประมาณ 90 ของประเทศทั่วโลก

งบประมาณระบบหลักประกันสุขภาพภาครัฐทุกระบบรวมกันประมาณ 12% ที่เหลือเป็นงบประมาณสุขภาพนอกระบบหลักประกันสุขภาพภาครัฐ และในจำนวน 12% นี้เป็นงบ สปสช. 7.1% งบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ 2.6% งบรักษาพยาบาลประกันสังคม 1.6% และอื่นๆ เช่น กลุ่มคนไร้สถานะและสิทธิ 0.7%

การมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าช่วยลดภาวะการล้มละลายจากการเจ็บป่วย (Catastrophic illness) ลงได้จาก 5.7% ในปี 2543 เหลือ 2.3% ในปี 2556 และช่วยภาวะความยากจนจากการต้องจ่ายค่าใช้จ่ายสุขภาพเอง (poverty from medical bill) ลงได้จาก 2.01% ในปี 2543 เหลือ 0.47% ในปี 2556

ค่าเฉลี่ยของประชากรไทยที่เข้าไม่ถึงบริการสุขภาพที่จําเป็น (unmet health need) อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในกลุ่ม OECD

สิทธิรักษาพยาบาลประกันสังคม เป็นระบบหลักประกันสุขภาพภาครัฐระบบเดียวที่ผู้ประกันตนยังต้องจ่ายสมทบ

องค์การอนามัยโลกพบว่า ไทยยังมีการใช้จ่ายด้านยาและเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ไม่สมเหตุผล 40%

พบการใช้บริการโดยไม่จำเป็นแต่ไม่มีนัยสำคัญต่อระบบ

สำหรับ Goals หรือเป้าประสงค์ของข้อเสนอนี้ เพื่อความยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพภาครัฐ คือ SAFE โดยกำหนดเป้าหมายถึงปี 2565 มีดังนี้

S: Sustainability (ความยั่งยืน)

1.รายจ่ายสุขภาพทั้งหมดต้องไม่เกิน 5% ของ GDP

2.รายจ่ายของรัฐบาลด้านสุขภาพไม่เกิน 20% ของงบประมาณประเทศ

A: Adequacy (ความเพียงพอ)

3.รายจ่ายสุขภาพทั้งหมดต้องไม่ต่ำกว่า 4.6% ของ GDP

4.รายจ่ายของรัฐบาลด้านสุขภาพต้องไม่น้อยกว่า 17% ของงบประมาณประเทศ

5.ค่าใช้จ่ายสุขภาพภาคเอกชนต้องไม่มากกว่า 20% และค่าใช้จ่ายสุขภาพของครัวเรือนต้องไม่มากกว่า 11.3% ของรายจ่ายสุขภาพทั้งหมดของประเทศ

6.การล้มละลายจากการเจ็บป่วยต้องไม่มากกว่า 2.3%

7.ความยากจนจากการต้องจ่ายค่าใช้จ่ายสุขภาพเองต้องไม่มากกว่า 0.47%

F: fairness (ความเป็นธรรม)

8.ความเป็นธรรมของอัตราการจ่ายสมทบในระบบประกันสังคม ปรับเพิ่มเพดานเงินเดือนสำหรับการคำนวณเงินสมทบของผู้ประกันตนให้เป็น 7 เท่าของค่าแรงขั้นต่ำ ควรขยับเพดานเงินเดือนสูงสุดของการเก็บเงินสมทบเพิ่มขึ้น

9.ความเป็นธรรมการจ่ายสมทบทั้ง 3 ระบบ หากจะมีการจ่ายสมทบ ก็ต้องจ่ายสมทบทั้ง 3 ระบบ หากไม่มีการจ่ายสมทบก็ต้องไม่จ่ายในทุกระบบ

10.ความเป็นธรรมในการจ่ายให้แก่สถานพยาบาล โดยรายจ่ายต่อหัวที่ปรับด้วยโครงสร้างอายุของแต่ละกองทุนต้องมีค่าไม่ต่างจากค่าเฉลี่ยทั้ง 3 ระบบหลักไม่เกิน 10% และกำหนดให้มีมาตรฐานการจ่ายเงินของทุกกองทุนประกันสุขภาพภาครัฐเป็นราคาเดียวกันในทุกประเภท และระดับบริการ

สำหรับข้อเสนอร่วมจ่าย หรือไม่ร่วมจ่ายนั้น มีข้อเสนอว่า หากจะให้มีการร่วมจ่าย ก็ต้องร่วมจ่ายทุกระบบหลักประกันสุขภาพ คือ สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ, 30 บาท และประกันสังคม โดย

ข้าราชการ มีข้อเสนอให้ปรับเงินเดือนขึ้นและใช้ระบบประกันสังคม หรือ 30 บาท โดยบังคับเฉพาะข้าราชการใหม่ ส่วนข้าราชการเดิมให้เป็นโดยสมัครใจ

30 บาท มีข้อเสนอให้จ่ายเงินสมทบตามระดับรายได้หรือเศรษฐานะเป็น 3-5 ชั้นช่วง โดยยกเว้นครัวเรือนรายได้น้อยและผู้ที่สังคมควรช่วยเหลือเกื้อกูล

ประกันสังคม จ่ายเงินสมทบตามระบบที่มีอยู่แล้ว โดยปรับเพิ่มเพดานเงินเดือน 7 เท่า

แต่หากไม่ร่วมจ่าย ก็ต้องไม่ร่วมจ่ายในทุกระบบ ผู้ประกันตนก็ไม่ต้องร่วมจ่ายสิทธิรักษาพยาบาลด้วย โดยให้รัฐจ่ายเงินภาษีสำหรับคนไทยทุกคน

สำหรับข้อเสนอการระดมงบประมาณเพิ่มขึ้นในระบบนั้น หากมาจากระบบภาษี มีข้อเสนอว่า เก็บเพิ่มจากภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นหลัก เนื่องจากมีความเป็นไปได้สูง รวมทั้งควรพิจารณาภาษีเฉพาะอื่นๆ ด้วย เช่น ภาษีธุรกรรมทางการเงิน แต่ไม่ใช่ earmark tax และต้องมีกลไกและกระบวนการที่สร้างความมั่นใจว่า ภาษีที่เก็บเพิ่มนี้จะมาอุดหนุนระบบหลักประกันสุขภาพภาครัฐอย่างเพียงพอ

แต่หากเป็นข้อเสนอระดมงบประมาณเพิ่มขึ้นจากการร่วมจ่าย ณ จุดบริการนั้น มีเงื่อนไขว่า

1.ต้องไม่ร่วมจ่ายในบริการที่มีผลกระทบต่อบุคคลอื่น เช่น การรักษาโรคติดต่อ เพราะหากร่วมจ่ายอาจทำให้คนไม่รักษา ซึ่งจะทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคได้

2.ต้องมีระบบที่มีประสิทธิภาพในการปกป้องผู้มีรายได้หรือฐานะทางสังคมต่ำ หรือผู้ที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรังหรือมีค่าใช้จ่ายสูง และผู้ที่สังคมควรช่วยเหลือเกื้อกูลอื่นๆ

3.ให้มีการร่วมจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ในกรณีที่ใช้บริการที่มีความสวะดวกพิเศษเท่านั้น เช่น ห้องพิเศษ

4.ต้องมีกลไกป้องกันมิให้คนที่มีรายได้สูงดูดซับเอาทรัพยากรด้านสุขภาพที่มีจำกัดไปจากคนกลุ่มอื่นๆ

5.ต้องมีระบบการกระจายเงินที่เก็บได้ ไปยังสถานพยาบาลอื่นๆ อบ่างเหมาะสม

E: Efficiency (ความมีประสิทธิภาพ) ต้องคำนึงถึงคุณภาพควบคู่กันไป

1.ระบบประกันสุขภาพภาครัฐทุกระบบใช้ระบบงบประมาณปลายปิด

2.ระบบประกันสุขภาพภาครัฐทุกระบบมีมาตรการและกลไกการเฝ้าระวังราคาและควบคุมราคาเบิกจ่ายของกองทุน ค่าบริการ ยา เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ

3.ระบบประกันสุขภาพภาครัฐทุกระบบใช้อำนาจในการซื้อร่วมกัน ดังนี้

3.1 ระดับกองทุนประเทศ เฉพาะยาและเวชภัณฑ์ที่มีราคาสูงมาก หรือมีการใช้ไม่มาก

3.2 ระดับเขตหรือระดับจังหวัด ในรายการที่นอกเหนือจากที่ดำเนินการในระดับกองทุนประเทศ





***********************************************
ที่มา : http://www.hfocus.org/headline?page=1