ผู้เขียน หัวข้อ: บทเรียน สรยุทธ สอนสื่อ เมื่อถึงคราวต้องพิจารณาตัวเอง  (อ่าน 1057 ครั้ง)

ออฟไลน์ webmaster

  • Administrator
  • medtech ปี เอก
  • *****
  • กระทู้: 3951
    • อีเมล์


หลังจากเป็นมหากาพย์มาอย่างยาวนาน ล่าสุด ได้เดินทางมาถึงศาลชั้นต้นแล้ว สำหรับ คดีไร่ส้ม และนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา พิธีกรนักเล่าข่าวฝีปากกล้า ที่ครั้งหนึ่งถูกยกย่องว่าเปรียบเสมือน "นายกรัฐมนตรี" คนที่สองของประเทศ ไม่ว่าจะพูด หยิบจับสิ่งใด ก็มีคนฟังและหันมอง...

วานนี้ (29 ก.พ.59) ได้มีข่าวใหญ่ที่คนทั่วไปให้ความสนใจในตัวนักเล่าข่าวชื่อดังอีกครั้ง เมื่อศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้น ในคดีที่อัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสรยุทธ ในฐานะ กรรมการผู้จัดการ บริษัทไร่ส้ม และเจ้าหน้าที่บริษัท รวมทั้ง นางพิชชาภา เอี่ยมสะอาด อดีตพนักงานจัดทำคิวโฆษณาของบริษัท อสมท เป็นจำเลย

คดีนี้ ฟ้องโจทก์ ระบุว่า ช่วงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2548-28 เมษายน 2549 นางพิชชาภา ได้จัดทำคิวโฆษณารวมในรายการ "คุยคุ้ยข่าว" ใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริต ไม่รายงานการโฆษณาเกินเวลา เพื่อเรียกเก็บเงินจากบริษัทไร่ส้ม 17 ครั้ง ทำให้ อสมท เสียหาย 138 ล้านบาทเศษ และยังเรียกรับเงินกว่า 600,000 บาท จากนายสรยุทธ และพวก เป็นการตอบแทน

ศาลอ่านคำพิพากษาจำคุก นายสรยุทธ ฐานเป็นผู้สนับสนุนให้มีการกระทำความผิดตามที่ฟ้อง จำคุก 20 ปี ลดเหลือ 13 ปี 4 เดือน ปรับบริษัทไร่ส้ม จาก 120,000 ลดเหลือ 80,000 บาท ไม่รอลงอาญา ส่วน นางพิชชาภา เอี่ยมสะอาด จำเลยที่ 1 จำคุก 30 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษเหลือจำคุก 20 ปี

ย้อนดูไทม์ไลน์ ก่อนถึงคำพิพากษาศาลชั้นต้น

"อาสาม ไทม์แมชชีน" แห่ง ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะขอย้อนเหตุการณ์ ปฐมบทแห่งคดีว่าเกิดขึ้นเมื่อ...

ช่วงเดือนสิงหาคม 2549 จากแหล่งข่าวในวงการมีเดีย ว่า บริษัท ไร่ส้ม จำกัด และ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ได้มีการแบ่งกันขายโฆษณาเพื่อหารายได้ ในรายการ "คุยคุ้ยข่าว" และ "คุยคุ้ยข่าวสุดสัปดาห์" และมีรายงานว่าได้มีการขายโฆษณาเกินเวลา ตั้งแต่ต้นปี 49 แต่ บริษัทไร่ส้ม กลับยังไม่ได้ชำระเงิน โดยขอแบ่งจ่ายเป็น 3 งวด ด้วยเหตุนี้ จึงมีกระแสข่าวว่าคนใน อสมท จึงไม่พอใจ

เมื่อเริ่มมีข่าว...กลุ่มสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ อสมท จำกัด (มหาชน) ก็สวมบทบาทเจ้าภาพงาน ออกมาเปิดเผยว่า "เสี่ยสรยุทธ" ไม่ส่งรายได้จากโฆษณาเข้า อสมท เป็นเงินกว่า 50-60 ล้าน กระทั่งมีการตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง

กันยายน 2549 มีข่าวลือหนาหูว่า อสมท จะปลดรายการชื่อดังออกจากผัง แต่ทาง อสมท ก็ออกมายืนยันว่าไม่จริงและเดินหน้าต่อ




ตุลาคม 2549 นายชิตณรงค์ คุณะกฤดาธิการ รักษาการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท ออกมายืนยันว่าบริษัท ไร่ส้ม ทยอยจ่ายเงินในส่วนที่คลาดเคลื่อน กว่า 80-90 ล้านบาทแล้ว พร้อมบอกว่าหากพบว่ามีความผิดจริง จะส่งเรื่องไปยัง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

พฤศจิกายน 2549 มีรายงานว่า ได้มีจดหมายร้องเรียนส่งไปยัง สำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องขอให้ตรวจสอบกรณีทุจริต ในบริษัท อสมท จากผู้ถือหุ้นของบริษัท อสมท ซึ่งเนื้อหาจดหมายระบุถึงพฤติกรรมการทุจริตของคนใน อสมท โดยร่วมมือกับบริษัทเอกชนมาแสวงหาผลประโยชน์จาก อสมท จนเกิดผลกระทบกับผู้ถือหุ้น ซึ่งมี ก.คลัง รวมอยู่ด้วย

ธันวาคม อสมท แต่งตั้ง พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ เป็นประธานสอบสวนข้อเท็จจริง

มกราคม 2550 พล.ต.อ.ประทิน ระบุ จากการสอบสวนยังสาวไม่ถึงคนนอก โดยระบุว่า เจ้าหน้าที่ระดับผู้ใหญ่ปล่อยโฆษณาเกินเวลา สร้างความเสียหายกว่า 100 ล้าน

กุมภาพันธ์ 2550 พล.ต.อ.ประทิน สรุปผลสอบคดีไร่ส้มโฆษณาเกินสัญญา อสมท แม้จะคืนเงิน 138 ล้านบาทแล้ว แต่ถือว่ากระทำผิด พร้อมตรวจสอบย้อนหลัง ถึงปี 2547

หลังจากนั้นเรื่องนี้ก็หายเงียบไปพักใหญ่ กระทั่ง 31 ต.ค.50 เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย บมจ.อสมท ในฐานะตัวแทนผู้เสียหายได้แจ้งความดำเนินคดีกับบริษัทไร่ส้ม และเจ้าหน้าที่ อสมท บางราย

"เชื่อมั่นว่า กรณีไร่ส้ม จะไม่ส่งผลกระทบกับผู้สนับสนุนรายการของนายสรยุทธ ซึ่งมีการดำเนินการอยู่ 4 รายการ" นายสุรินทร์ กฤตยาพงศ์ รองประธานฝ่ายการตลาดและฝ่ายขายสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 กล่าว

ต่อมาทางตำรวจได้ชงเรื่องนี้ไปยัง ป.ป.ช. และวันที่ 20 ก.ย.55 นายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการและโฆษก ป.ป.ช. แถลงผลการประชุมของ ป.ป.ช.ในกรณีบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงแล้วมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าการกระทำของนางพิชชาภา มีความผิดวินัยอย่างร้ายแรง และมีมูลความผิดทางอาญามาตรา 6 มาตรา 8 และมาตรา 11 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502  และ น.ส.อัญญา อู่ไทย หัวหน้าส่วนธุรการระดับ 6 ฝ่ายบริการลูกค้าได้ทำการประมาทเลินเล่อต่อหน้าที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ มีมูลความผิดทางวินัย แต่ขาดเจตนาจึงให้ข้อกล่าวหาทางอาญาตกไป

นายกล้านรงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนความผิด นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา น.ส.มณฑา ธีรเดช และบริษัทไร่ส้ม ป.ป.ช.เห็นว่ามีมูลความผิดฐานสนับสนุนพนักงานกระทำความผิดตามกฎหมายอาญา โดยจะส่งรายงาน และความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหาที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อพิจารณาโทษทางวินัยและให้ส่งเอกสารรายงานฐานความผิดดังกล่าวข้างต้น ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามทุจริต พ.ศ.2542 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 โดย ป.ป.ช. จะมีมติ ส่งเรื่องให้อัยการ เพื่อส่งฟ้องต่อศาลให้ดำเนินคดีอาญาต่อไป

หลัง ป.ป.ช. มีมติ องค์กรสื่อฯ หลายแห่งก็ได้กดดันให้ นายสรยุทธ ยุติบทบาทหน้าที่สื่อมวลชน แต่ นายสรยุทธ ก็ได้ยืนยันว่า เงิน 138 ล้าน ได้มีการจ่ายคืนหมดแล้ว และได้ตัดสินใจลาออกจากการเป็นสมาชิกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยแทน

กระทั่ง วันที่ 30 ม.ค.58 อัยการได้ส่งฟ้อง และวานนี้ (29 ก.พ.59) ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาจำคุก นายสรยุทธ ฐานเป็นผู้สนับสนุนให้มีการกระทำความผิดตามที่ฟ้อง จำคุก 20 ปี ลดเหลือ 13 ปี 4 เดือน ปรับบริษัทไร่ส้ม จาก 120,000 ลดเหลือ 80,000 บาท ไม่รอลงอาญา ส่วน นางพิชชาภา เอี่ยมสะอาด จำเลยที่ 1 จำคุก 30 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษ เหลือจำคุก 20 ปี



สมาคมนักข่าวฯ รังเก่าสรยุทธ แนะยุติจ้อหน้าจอชั่วคราว สังคมจะเป็นผู้ตัดสิน

ในแง่คดี ก็คงต้องรอดูกันต่อไป แต่ในส่วนของภาคสื่อมวลชน นายวันชัย วงศ์มีชัย นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ถึงกรณีคดีไร่ส้มว่า ทางสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ยังไม่ได้มีการหารือถึงประเด็นดังกล่าว แต่เบื้องต้น ทางสมาคมยังไม่มีแนวทางที่จะออกมากดดัน นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา แต่อย่างใด เนื่องจากสมาคมนักข่าวฯ เชื่อมั่นว่า ผู้คนในสังคมสามารถพิจารณาแยกแยะความผิดชอบชั่วดีได้

โดยครั้งหนึ่ง นายสรยุทธ เคยชี้แจงผ่านรายการเรื่องเล่าเช้านี้ไว้ว่า “คดีความที่เกิดขึ้นเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจของบริษัท และไม่มีส่วนกระทบใดๆ ต่อการทำรายการของผม ซึ่งนำเสนอข้อมูลตามความเป็นจริงเพื่อประโยชน์ต่อสังคม โดยไม่บิดเบือนข้อมูลข่าวสารอันเป็นจรรยาบรรณสำคัญในการนำเสนอที่ผมยึดถือมาตลอดชีวิตการทำงาน”

ด้านนายกสมาคมนักข่าวฯ แสดงทัศนะในเรื่องนี้ว่า บริษัทที่นายสรยุทธทำธุรกิจนั้น เป็นองค์กรที่มีหน้าที่หลัก คือ การผลิตสื่อ และเป็นสื่อมวลชนที่มีอิทธิพลในทางความคิดของประชาชนค่อนข้างสูง เพราะฉะนั้น เมื่อบริษัทมีปัญหาการทำหน้าที่อันไม่โปร่งใส หรือส่อไปในทางทุจริต จึงเป็นเครื่องสะท้อนได้เป็นอย่างดีว่า คดีความของบริษัทดังกล่าว มีความเกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนโดยตรง

“แม้คดีความดังกล่าว ยังไม่ถึงที่สิ้นสุด แต่คำพิพากษาของศาลชั้นต้นนั้น เป็นเสมือนเครื่องตอกย้ำให้นักเล่าข่าวอย่างสรยุทธ ต้องกลับมาพิจารณาตัวเองแล้วว่า หากตัวคุณเองยังรู้สึกว่า คุณ คือ สื่อที่แท้จริง คุณก็ควรยุติบทบาทจากหน้าจอไปก่อน และสุดท้ายเมื่อคดีถึงที่สิ้นสุดแล้วพบว่า คุณสรยุทธไม่มีความผิด วินาทีนั้น คุณก็กลับมาทำหน้าที่ได้อย่างภาคภูมิ” นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงอดีตสมาชิกสมาคมฯ

นอกจากนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้สอบถาม นายสมรักษ์ ณรงค์วิชัย รองกรรมการผู้จัดการ รักษาการผู้จัดการฝ่ายผลิตรายการสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 เกี่ยวกับกรณีของ นายสรยุทธ ได้รับคำตอบว่า "ไม่ขอตอบอะไรทั้งนั้น เนื่องจากไม่อยู่ในฝ่ายที่เกี่ยวข้อง"



ที่มา  http://www.thairath.co.th/content/584150