ผู้เขียน หัวข้อ: “เบื่ออาหาร” อาจเป็นสัญญาณอันตรายโรคร้ายที่คาดไม่ถึง  (อ่าน 826 ครั้ง)

ออฟไลน์ admin

  • Administrator
  • medtech ปี เอก
  • *****
  • กระทู้: 2325
    • อีเมล์



ภาวะเบื่ออาหาร (Loss of Appetite) เป็นอาการที่ไม่รู้สึกอยากอาหาร ความต้องการกินอาหารลดลง ในบางครั้งอาจจะรู้สึกหิวแต่กลับไม่รู้สึกอยากกินอะไร อาการนี้เกิดได้ทั้งจากปัญหาสุขภาพกายและสุขภาพจิต โดยเฉพาะภาวะการเบื่ออาหารอย่างรุนแรงโดยที่ไม่ได้เกิดจากการเบื่ออาหารที่รู้สึกว่ากินซ้ำ กินบ่อย หรือจำเจจนไม่อยากกิน

อย่างไรก็ตาม อาการเบื่ออาหารเป็นอาการที่ไม่ควรมองข้ามหรือไม่ใส่ใจ เพราะนี่อาจไม่ใช่เรื่องเล็ก และไม่ใช่อาการผิดปกติทั่วไป ถ้าจู่ ๆ คุณเกิดเบื่ออาหารทั้งที่ปกติเป็นคนชอบกิน


ลักษณะอาการของการเบื่ออาหาร

อาการเบื่ออาหารนี้จะทำให้ผู้ที่ประสบปัญหามีความรู้สึกไม่เจริญอาหาร ไม่อยากกินอาหาร อยากอาหารน้อยลง รวมถึงปฏิเสธอาหารที่เคยชอบ หรือปฏิเสธการกินอาหารในปริมาณปกติ ในบางครั้ง ผู้ที่ประสบปัญหานี้สามารถอยู่ได้ทั้งวันโดยที่ไม่กินอะไรเลยแม้ว่าจะรู้สึกหิวก็ตาม สิ่งที่ตามมาก็คือ น้ำหนักตัวลดลง

ส่วนใหญ่แล้วผู้ที่รู้สึกเบื่ออาหารแบบที่ผิดปกติก็มักจะเกิดอาการอื่นร่วมด้วย เช่น รู้สึกคลื่นไส้ตลอดเวลา ท้องผูก ท้องอืด อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ เบื่อหน่ายกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัว หรือไม่มีแรงจูงใจในการดำเนินชีวิต รู้สึกมีความทุกข์กับชีวิต หรืออาจรุนแรงจนถึงขั้นมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย

โดยทั่วไป หากสาเหตุเกิดจากความเครียด อาการก็มักจะหายได้เองใน 2-3 วัน เต็มที่คือ 1 สัปดาห์ หรือภาวะเครียดดีขึ้น แต่ถ้าหากเริ่มมีอาการรุนแรงลักษณะนี้ต้องรีบไปพบแพทย์ เพราะอาจมีสาเหตุมาจากปัญหาสุขภาพกายที่เป็นอาการป่วยจากโรคภัยไข้เจ็บ อาทิ

       - ไม่สามารถพยายามกินอาหารได้เลยในช่วงเวลามากกว่า 3 วัน และรู้สึกคลื่นไส้ตลอดเวลา
       - ไม่สามารถดื่มน้ำหรือแม้แต่พยายามกินของเหลวได้
       - อาเจียนมากกว่า 1 วัน
       - น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็วโดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด
       - รู้สึกเจ็บขณะพยายามกินอาหาร
       - ไม่รู้สึกอยากขับถ่าย ปัสสาวะน้อย มีกลิ่นแรง และมีสีเข้ม รวมถึงมีอาการท้องผูก

นอกจากนี้ ยังอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้หากไม่ได้รับการรักษาให้หาย ก็จะทำให้มีอาการรุนแรงขึ้น เช่น มีอาการอ่อนเพลีย น้ำหนักตัวลดลง หัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นไข้ และขาดสารอาหาร

ปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการเบื่ออาหาร

ผู้ที่เกิดอาการเบื่ออาหารจะกลับมากินอาหารได้ตามปกติเมื่อมีการเปลี่ยนอาหารที่กิน หรือเปลี่ยนบรรยากาศในการกินอาหาร แต่หากเริ่มแน่ใจว่าอาการเบื่อที่ว่าไม่ได้เกิดขึ้นจากการกินอาหารเดิม ๆ จนรู้สึกเบื่อ นั่นแปลว่ามีสาเหตุมาจากสุขภาพ โดยอาการเบื่ออาหารเกิดขึ้นได้จากปัจจัยหลัก ๆ 3 อย่าง

          ปัญหาสุขภาพกาย

เป็นอาการป่วยที่เกิดขึ้นกับร่างกาย ซึ่งมักจะเกิดมาจากการติดเชื้อได้ทั้งเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย จึงมักจะมีอาการป่วยแบบชั่วคราวร่วมด้วย เช่น ป่วยเป็นไข้หวัด อย่างไรก็ตามผู้ป่วยจะกลับมากินอาหารได้ตามปกติหากอาการป่วยนี้หายเป็นปกติแล้ว

แต่สิ่งที่ต้องระวังคือหากผู้ป่วยมีอาการรุนแรง นั่นอาจมีสาเหตุมาจากโรคประจำตัว ซึ่งหากไม่เคยรู้ตัวมาก่อนหรือมีอาการอื่นร่วมด้วยจนสงสัยว่าอาจเป็นโรคร้ายแรงก็ต้องรีบไปพบแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยทั้งจากการวินิจฉัยทางคลินิกและการวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการต่อไป

ส่วนใหญ่แล้ว โรคที่เป็นปัจจัยให้เกิดอาการเบื่ออาหาร เช่น มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้ใหญ่ โรคมะเร็งตับอ่อน ตับวาย ไตวาย ตับอักเสบ ติดเชื้อเอชไอวี ไข้เลือดออก เป็นต้น

          ปัญหาสุขภาพจิต

มักมาจากความเครียด ความวิตกกังวล และความรู้สึกเป็นทุกข์ มีอารมณ์เศร้า เสียใจ เบื่อหน่าย ทำให้เกิดความรู้สึกไม่อยากอาหารได้ อย่างไรก็ตามมักจะปรากฏร่วมกับอาการที่บ่งบอกชัดเจนว่ามาจากความผิดปกติทางสุขภาพจิต เช่น อ่อนเพลีย ขาดแรงจูงใจในการดำเนินชีวิต และอาจมีภาวะคิดฆ่าตัวตาย

          ผลข้างเคียงจากการใช้ยา

การใช้ยารักษาโรคบางชนิดมีผลข้างเคียงให้เกิดอาการเบื่ออาหารได้ อย่างยาปฏิชีวนะ การให้เคมีบำบัด รวมถึงการใช้สารเสพติดก็ส่งผลให้เกิดอาการเบื่ออาหารได้เช่นกัน

การรักษาอาการเบื่ออาหาร

การรักษาอาการเบื้องต้นจะแตกต่างกันตามสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเบื่ออาหาร

          จากปัญหาสุขภาพกาย

หากเป็นโรคชั่วคราวอย่างไข้หวัด สามารถรักษาได้ด้วยการกินยาและดูแลสุขภาพให้แข็งแรง รวมถึงพยายามกินอาหารบ้าง อาจแบ่งเป็นมื้อเล็ก ๆ แต่กินบ่อย ๆ เลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ ให้พลังงานมาก เพื่อที่จะได้ไม่ต้องกินปริมาณมากแต่ได้รับพลังงานเพียงพอ และดื่มน้ำให้มาก อย่างไรก็ตามหากเป็นโรคประจำตัว การรักษาอาการเบื่ออาหารจะเป็นไปได้ยาก แต่สามารถดูแลไม่ให้อาการแย่ลง และประคับประคองไปตามอาการ

          จากปัญหาสุขภาพจิต

หากเป็นอาการเครียดชั่วคราว อาการจะดีขึ้นเองเมื่อภาวะความเครียดลดลง แต่ถ้าหากสัมพันธ์กับอาการป่วยทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาจากจิตแพทย์เพื่อให้ยาในการรักษาโรค หรือปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต เพื่อบำบัดอาการ

          จากผลข้างเคียงจากการใช้ยา

หากเป็นผลข้างเคียงจากยาที่ใช้รักษาโรค ต้องปรึกษาแพทย์เพื่อเปลี่ยนหรือปรับปริมาณยา แต่ถ้าเป็นผลข้างเคียงจากการใช้สารเสพติด ก็ต้องได้รับการบำบัดที่ถูกวิธี เพื่อรักษาอาการติดสารเสพติดด้วย


ที่มา...https://www.sanook.com/health/24325/