ผู้เขียน หัวข้อ: กรมการแพทย์แนะวิธีปฏิบัติตัวเมื่อแอมโมเนียรั่วไหล  (อ่าน 4284 ครั้ง)

ออฟไลน์ admin

  • Administrator
  • medtech ปี เอก
  • *****
  • กระทู้: 2325
    • อีเมล์



กรมการแพทย์ โดยโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี เตือนสารแอมโมเนียที่พบเห็นทั่วไปในชีวิตประจำวันตามร้านสะดวกซื้อ ร้านขายของชำ หากเกิดการรั่วไหลอาจเกิดอันตรายได้ แนะวิธีปฏิบัติตัว เพื่อความปลอดภัยของตนเองและคนรอบข้าง

          นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์  กล่าวว่า แอมโมเนีย เป็นสารเคมีที่เป็นอันตรายสูงต่อสุขภาพ เนื่องจากเป็นสารกัดกร่อนผิวหนัง ดวงตา ปอด และระบบการหายใจ ซึ่งแก๊สมีคุณสมบัติละลายน้ำได้ดี เข้าสัมผัสหรือเข้าสู่ร่างกาย จะส่งผลให้อวัยวะต่าง ๆ โดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจส่วนบน ได้รับอันตราย ซึ่งในกรณีที่ได้รับปริมาณน้อย จะมีอาการไอ หลอดลมตีบ แต่หากได้รับสารในปริมาณมากหรือเป็นระยะเวลานาน จะมีอาการทางเดินหายใจส่วนบนบวม ไหม้หรืออุดกั้น จนเกิดเสียงผิดปกติขณะหายใจเข้าได้ ซึ่งในบางกรณีอาจมีความรุนแรงถึงขั้นทำลายปอด นอกจากนี้ผู้ป่วยบางรายมักพบอาการอื่น ๆ ร่วม ได้แก่  กล่องเสียงอักเสบ หลอดลมอักเสบ หายใจดังวี๊ด หอบเหนื่อย เจ็บหน้าอก น้ำท่วมปอด ปอดอักเสบ ขาดออกซิเจน หากสัมผัสผิวหนัง จะทำให้ระคายเคืองและไหม้ได้ หากสัมผัสตา จะทำให้เยื่อบุตาขาวอักเสบ น้ำตาไหล ระคายเคืองกระจกตา ตาบอดชั่วคราวหรือถาวรได้ อาการระยะยาว  ผู้ที่สัมผัสแก๊สเป็นระยะเวลานาน อาจมีอาการไอเรื้อรัง เหนื่อย การทำงานปอดผิดปกติ ซึ่งหากเกิดการรั่วไหลของแก๊สแอมโมเนียในปริมาณน้อย  เริ่มแรกให้แยกผู้คนออกห่างจากบริเวณที่รั่วไหลเป็นระยะทาง 30 เมตร ในเวลากลางวัน และ 100 เมตรในเวลากลางคืน หรือหากมีการั่วไหลในปริมาณมาก ให้แยกผู้คนออกห่างจากบริเวณรั่วไหลเป็นระยะทาง 150 เมตร ในเวลากลางวัน  และ 800 เมตร ในเวลากลางคืน

          นายแพทย์สมบูรณ์ ทศบวร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กล่าวเพิ่มเติม แนวทางการระงับเหตุฉุกเฉินการรับสารแอมโมเนีย เข้าสู่ร่างกายทางการหายใจ การกินหรือการซึมผ่านผิวหนัง อาจทำให้เสียชีวิต  ไอระเหยอาจทำให้เกิดการระคายเคืองและการกัดกร่อนอย่างรุนแรง การสัมผัสกับก๊าซอาจทำให้เกิดแผลไหม้บาดเจ็บสาหัสหรือเนื้อตายจากความเย็นจัด หากสารลุกไหม้อาจทำให้เกิดก๊าซที่มีฤทธิ์ระคายเคือง/เป็นพิษ ซึ่งแนวทางปฏิบัติในการช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุก่อนถึงโรงพยาบาล มีดังนี้ ให้เคลื่อนย้ายผู้ประสบเหตุไปยังที่อากาศบริสุทธิ์ ให้คนไข้นอนราบกับพื้น หายใจช้า ๆ เปิดตาเท่าที่จำเป็น ใช้ผ้าบางชุบน้ำเปียกปิดปากและจมูกระหว่างขนย้ายออกจากพื้นที่  ให้ถอดเสื้อผ้าที่เปื้อนแอมโมเนียออกทันที แต่ในกรณีเสื้อผ้าที่เย็นแข็งติดผิวหนัง ต้องทำให้อ่อนตัวก่อนถอดล้างร่างกายด้วยน้ำอุ่นสะอาดอย่างน้อย 15 นาที กรณีที่แอมโมเนียสัมผัสตา ให้ล้างออกด้วยน้ำปริมาณมาก ๆ โดยเปิดน้ำไหลผ่านตา อย่างน้อย 15 นาที แล้วรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว  กรณีที่แอมโมเนียสัมผัสผิวหนังให้ล้างออกด้วยน้ำสบู่ กรณีหายใจเอาก๊าซแอมโมเนียเข้าไป ควรรีบเคลื่อนย้ายจากที่เกิดเหตุไปไว้ในที่อากาศถ่ายเท ถ้าผู้ประสบเหตุหายใจอ่อนให้ใช้ออกซิเจนช่วยหายใจ นาน 2 นาที แต่ไม่เกิน 15 นาที แต่หากหัวใจหยุดเต้นให้ปั๊มหัวใจทันที กรณีกลืนกินแอมโมเนีย ให้บ้วนปากด้วยน้ำมาก ๆ และดื่มน้ำ 1 แก้ว และทำให้อาเจียนโดยใช้ยาขับเสมหะหรือวิธีการล้วงคอ ยกเว้นในรายที่หมดสติ ให้รีบนำส่งแพทย์ทันที และหากอยู่ในสถานที่ที่มีความเสี่ยงต่อการรั่วไหลของแอมโมเนีย ให้เตรียมอุปกรณ์และสถานที่ให้พร้อมใช้งานเสมอ


ที่มา...https://pr.moph.go.th/?url=pr/detail/2/02/148349/