ผู้เขียน หัวข้อ: 3 วิธีรักษา “มะเร็งเต้านม” ที่ไม่จำเป็นต้องตัดเต้านมออกเสมอไป  (อ่าน 1689 ครั้ง)

ออฟไลน์ admin

  • Administrator
  • medtech ปี เอก
  • *****
  • กระทู้: 2325
    • อีเมล์



ถ้าพูดถึงมะเร็งเต้านม หลายคนนึกถึงภาพการสูญเสียเต้านม ซึ่งแท้ที่จริงแล้วไม่จำเป็นจะต้องสูญเสียเต้านมเสมอไป เราสามารถรักษาโดยการเก็บเอกลักษณ์ของความเป็นผู้หญิง และเต้านมที่สวยงามเอาไว้ได้

มะเร็งเต้านมถือว่าเป็นมะเร็งอันดับหนึ่งในผู้หญิง โดยอัตราการเป็นในปัจจุบันพบว่าทุกๆ ผู้หญิง 8 ถึง 10 คน จะพบผู้หญิง 1 คนเป็นมะเร็งเต้านม ในขณะเดียวกันผู้ชายก็มีโอกาสเป็นได้ แต่ว่าพบในอัตราที่น้อยกว่ามาก โดย 100 คน จะเป็นเพียง 1 คน

ยังมีข้อมูลเกี่ยวกับมะเร็งเต้านมอีกหลายเรื่องที่หลายคนไม่ทราบและสงสัย นพ.ปิยศักดิ์ ทหราวานิช แพทย์เฉพาะทางด้านศัลยกรรมเต้านมและเสริมสร้างเนื้อเต้านม ศูนย์ศัลยกรรม โรงพยาบาลนวเวช จึงได้มาไขข้อข้องใจให้หายสงสัยกัน

สาเหตุของการเกิดมะเร็งเต้านมคืออะไร
ปัจจุบันเราพบว่าสาเหตุที่เกิดจากกรรมพันธุ์ หรือพันธุกรรม เพียงแค่ 20% ส่วนอีก 80% เป็นสาเหตุที่เกิดขึ้นมาทีหลัง ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงในระหว่างการใช้ชีวิต

อาการแบบไหนที่ควรพบแพทย์
กลุ่มอาการที่ควรจะมาพบแพทย์โดยด่วน คือ

คลำเจอก้อนที่บริเวณเต้านม
มีแผล ผื่น ที่ไม่หาย บริเวณลานหัวนม หรือหัวนม
มีเลือดออกจากหัวนม หรือมีน้ำผิดปกติออกจากบริเวณหัวนม
เต้านมบวมขึ้น บิดเบี้ยว บวมแดง
มีอาการเจ็บ ลักษณะเจ็บผิดปกติ ไม่เคยเจ็บแบบนี้มาก่อน
ลักษณะพวกนี้จำเป็นจะต้องมาพบแพทย์โดยเร่งด่วน อย่างไรก็ตาม ไม่ควรรอให้เกิดอาการ ควรมารับการตรวจคัดกรองตามโปรแกรมที่เหมาะสม เพื่อที่จะได้เจอโรคตั้งแต่เนิ่นๆ จะทำให้ผลการรักษาดี มีประสิทธิภาพมากที่สุด

แนวทางการตรวจเต้านมเป็นอย่างไร
โดยทั่วไปการคัดกรองมะเร็งเต้านม ควรเริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป ควรตรวจคัดกรองกับแพทย์ด้วยการตรวจร่างกาย และ/หรือการทำอัลตราซาวด์เต้านม (Breast ultrasound) ทุกๆ 3 ปี หลังจากนั้นพออายุ 35-40 ปี แนะนำให้ตรวจด้วยเครื่องแมมโมแกรม ซึ่งปัจจุบันมีถึง 3 มิติ (3D Mammogram and Breast ultrasound) อย่างน้อย 1 ครั้ง พออายุ 40 ปีขึ้นไป แนะนำให้ทำแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เป็นประจำทุกปี

การรักษามะเร็งเต้านมมีกี่วิธี
การรักษามะเร็งเต้านมในปัจจุบันมีการพัฒนาไปค่อนข้างมาก ไม่จำเป็นจะต้องสูญเสียเต้านมเสมอไป แต่รูปแบบทั่วๆ ไปของการรักษามะเร็งเต้านม ประกอบไปด้วย

การผ่าตัดแบบ Mastectomy คือการตัดเต้านมออกทั้งเต้า เป็นการผ่าตัดที่คนไข้ผู้หญิงทุกคนค่อนข้างกังวลกับรูปแบบการผ่าตัดแบบนี้
การผ่าตัดรักษาให้เทียบเท่ากันได้ โดยที่ไม่ต้องสูญเสียเต้านม เราเรียกการผ่าตัดนี้ว่า Nipple Sparing Mastectomy with immediate reconstruction โดยเก็บทั้งหัวนม ลานหัวนม และผิวหนังของเนื้อเต้านมเอาไว้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ คว้านเนื้อเต้านมที่อยู่ทางด้านในออกทั้งหมดแล้วทำการเสริมสร้างเต้านมขึ้นมาใหม่โดยทันที ทุกอย่างจะเสร็จภายในการผ่าตัดหนึ่งครั้ง จะได้เต้านมที่มีรูปร่างสวยงามเหมือนเดิม
การผ่าตัดแบบสงวนเต้า หรือที่เรียกว่า Breast conserving surgery การผ่าตัดแบบนี้ก็คือ การคว้านก้อนมะเร็งเต้านมออกอย่างกว้างๆ โดยเก็บเนื้อเต้านมส่วนใหญ่ของคนไข้เอาไว้ หลักการก็คือ เนื้อเต้านมส่วนใหญ่ของคนไข้ที่เก็บเอาไว้จะต้องยังคงรูปให้ความสวยงามได้ในระดับหนึ่ง ถึงจะเลือกทำการผ่าตัดด้วยวิธีนี้

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับมะเร็งเต้านม
 

มะเร็งเต้านมสามารถให้นมบุตรได้หรือไม่
 

สุภาพสตรีที่เป็นมะเร็งเต้านมสามารถให้นมบุตรได้ ไม่ต้องมีข้อกังวลใดๆ แต่ก่อนที่จะตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร แนะนำให้เข้ามาปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อวางแผนก่อน

 

เสริมหน้าอกทำให้เป็นมะเร็งเต้านมจริงหรือ
 

การเสริมเต้านมในปัจจุบัน ความเสี่ยงขึ้นอยู่กับชนิดของตัวซิลิโคน (Silicone) หากใช้ซิลิโคนที่คุณภาพไม่ดี หรือคุณภาพต่ำ จะมีความเสี่ยงต่อการรั่วซึมได้ค่อนข้างสูง ซึ่งเมื่อเกิดการรั่วซึมจะก่อให้เกิดมะเร็งในภายหลังได้ แม้ในปัจจุบันซิลิโคนมีการพัฒนาขึ้นแต่กลับพบว่า ถึงแม้ว่าไม่ได้รั่วหรือไม่ได้แตก แต่ยังกระตุ้นให้เกิดมะเร็งเต้านมอีกชนิดหนึ่งได้ที่เรียกว่า Lymphoma ซึ่งจำเป็นที่จะต้องตรวจติดตามเป็นระยะๆ เพราะฉะนั้นคนไข้ที่เสริมเต้านมมาแล้ว จำเป็นจะต้องมีการตรวจร่างกาย ร่วมกับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยแมมโมแกรมสำหรับผู้เสริมเต้านม คือ 3D Mammogram (Implantation) and Breast ultrasound กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเป็นประจำสม่ำเสมอทุกๆ ปี

 

รักษามะเร็งเต้านมจำเป็นต้องสูญเสียเต้านมหรือไม่
 

ถึงแม้มะเร็งเต้านมจะเป็นโรคที่ทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตในผู้ป่วยหญิงมากที่สุด และทำให้บางครั้งจำเป็นจะต้องรับการรักษาด้วยการผ่าตัดเต้านมออกทั้งเต้า ซึ่งการรักษาแบบนี้เป็นรูปแบบการรักษาที่ผู้หญิงทุกคนยังคงกังวลอยู่ แต่ความจริงแล้วสามารถหลีกเลี่ยงการรักษาในรูปแบบของการตัดเต้านมออกได้ โดยจะต้องตรวจพบตั้งแต่เนิ่นๆ ด้วยการมาตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมตามระยะทุกๆ 1 ปี ควรทำแมมโมแกรมร่วมกับการทำอัลตราซาวด์ (3D Mammogram and Breast ultrasound) กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ก็สามารถที่จะหลีกเลี่ยงการรักษามะเร็งเต้านม ด้วยการตัดเต้านมออกทั้งเต้าไปได้

ขอขอบคุณ

ข้อมูล :นพ.ปิยศักดิ์ ทหราวานิช แพทย์เฉพาะทางด้านศัลยกรรมเต้านมและเสริมสร้างเนื้อเต้านม ศูนย์ศัลยกรรม โรงพยาบาลนวเวช

ภาพ :iStock


ที่มา...https://www.sanook.com/health/30905/