ผู้เขียน หัวข้อ: ออกกำลังกาย ชะลอหัวใจเสื่อม  (อ่าน 646 ครั้ง)

ออฟไลน์ pigky

  • medtech ปี เอก
  • ******
  • กระทู้: 1170
ออกกำลังกาย ชะลอหัวใจเสื่อม
« เมื่อ: กันยายน 25, 2011, 11:55:32 am »
ออกกำลังกาย ชะลอหัวใจเสื่อม
พล.ต.ต.นพ.นริศ เจนวิริยะ ศัลยแพทย์

การออกกำลังกายมีประโยชน์ต่อร่างกายมากมายหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับหัวใจ ส่วนจะมีอะไรบ้างนั้นเราลองมาดูกัน

    เพื่อนแพทย์ของผมคนหนึ่งมีประวัติโรคหัวใจขาดเลือดในครอบครัว เขาจึงพยายามออกกำลังกายเพื่อป้องกันการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด ถึงขนาดเคยฝึกเป็นนักวิ่งมาราธอนมาแล้ว แต่ก็ยังไม่วายเจ็บหน้าอกในวันหนึ่งขณะที่กำลังวิ่งบนเครื่องวิ่งที่บ้าน เมื่อได้รับการตรวจก็พบว่าเขาเป็นโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน แต่เป็นไม่มาก ใช้เวลาในการพักฟื้นแค่เดือนเดียวก็กลับมาทำงานได้

     การที่นักกีฬาเป็นโรคหัวใจขาดเลือดอ่อนๆ และใช้เวลาในการพักฟื้นเร็วอธิบายได้ว่า เมื่อหลอดเลือดหัวใจของคนเราตีบลงช้าๆ การออกกำลังกายจะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจต้องการเลือดมาเลี้ยงมากขึ้น ร่างกายจึงมีการสร้างหลอดเลือดเล็กๆ หลายหลอดขึ้นมาไหลอ้อม (collateral circulation) บริเวณหลอดเลือดหลักที่ตีบตันขึ้นตามธรรมชาติ เพื่อทดแทนการขาดหายไปของเลือด ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจส่วนนั้นยังพอมีเลือดมาเลี้ยงเมื่อหลอดเลือดหัวใจหลักเกิดตีบตันขึ้นมาอย่างเฉียบพลันในขณะที่ออกกำลังกาย และนี่ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เพื่อนผมไม่ต้องพักฟื้นนานนั่นเอง

     โดย collateral circulation นี้จะเกิดขึ้นกับร่างกายทุกแห่งที่เลือดไปเลี้ยงไม่พอ ที่พบได้บ่อยๆ และเห็นชัดคือที่น่องของคนที่เป็นโรคหลอดเลือดแดงขาตีบตัน คนกลุ่มนี้เมื่อเป็นโรคมากขึ้นถึงจุดหนึ่งเวลาเดินจะมีอาการกล้ามเนื้อขาขาดเลือด ทำให้ปวดน่อง พอหยุดนั่งพักแล้วจะหายปวด และถ้าพวกเขาฝืนเดินและทนปวดไปเรื่อยๆ ธรรมชาติจะสร้างหลอดเลือดเล็กๆ ไหลอ้อมหลอดเลือดหลักที่ตีบตันขึ้น ส่งผลให้หายปวดกล้ามเนื้อได้ แต่สำหรับหัวใจการฝืนออกกำลังกายโดยทนเจ็บหน้าอกนั้นต้องถือว่าเป็นเรื่องที่อันตรายมาก เพราะหัวใจอาจจะเต้นสะดุดหยุดลง ซึ่งอาจจะทำให้ตายได้ทันทีหากช่วยไม่ทัน จึงไม่ควรฝืน

     เมื่อคนเรามีอายุมากขึ้นความสามารถในการทำงานของหัวใจจะลดลง เช่น เส้นประสาทที่ไปกำกับการเต้นของหัวใจทำงานน้อยลง ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจลดลง อย่างไรก็ตาม คนที่ออกกำลังกายเป็นประจำจะมีการเปลี่ยนแปลงของส่วนนี้น้อยกว่าคนไม่ออกกำลังกาย รวมถึงการออกกำลังกายเป็นประจำยังทำให้การบีบและคลายตัวของหัวใจ (เพื่อรับหรือฉีดเลือด) ยังคงทำงานได้ดีเมื่ออายุมากขึ้น หากเทียบกับคนไม่ออกกำลังกาย

     นอกจากนี้เมื่ออายุมากขึ้นหลอดเลือดแดงในร่างกายจะแข็งขึ้นจึงขาดความยืดหยุ่น ทำให้เกิดความต้านทานมากขึ้น ความดันเลือดก็จะสูงขึ้น ความสามารถของเซลล์ร่างกายที่จะใช้ออกซิเจนก็ลดลง ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้สามารถป้องกันได้โดยการออกกำลังกาย

     ด้วยเหตุนี้ แม้ว่าสังขารจะเป็นอนิจจัง ไม่มีใครหยุดยั้งความแก่ได้ แต่เราสามารถปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตได้ เพราะคนใช้ชีวิตแบบนั่งๆ นอนๆ จะมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดมากกว่า ขณะที่การเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ เพื่อควบคุมร่างกายไม่ให้อ้วน ด้วยการออกกำลังกายเป็นประจำ กินอาหารถูกสุขลักษณะ งดเว้นบุหรี่ จะทำให้ความเสื่อมตามอายุเกิดขึ้นช้า สมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกาจึงกล่าวว่า การใช้ชีวิตแบบนั่งๆ นอนๆ เป็นสาเหตุสำคัญมากของโรคหลอดเลือดและหัวใจ จึงแนะนำให้ปรับปรุงดังนี้

     ปรับปรุงการไหลเวียนเลือด การออกกำลังกายทำให้ร่างกายต้องการเลือดไปเลี้ยงมากขึ้น สิ่งนี้จะไปกระตุ้นให้หลอดเลือดมีสุขภาพดีขึ้น ทำให้ร่างกายโดยรวมแข็งแรงขึ้น

    ปรับปรุงการทำงานของหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจต่างจากกล้ามเนื้อแขนขาตรงที่มันทำงานด้วยการบีบและคลายตัวเพื่อส่งเลือดออกไปเลี้ยงร่างกายตลอดเวลา การออกกำลังกายจะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น คือในแต่ละครั้งที่บีบตัวฉีดเลือดมันจะส่งเลือดออกไปได้มากกว่าคนที่หัวใจไม่แข็งแรง คนที่หัวใจแข็งแรงจึงมีอัตราการเต้นของหัวใจช้าลง นอกจากนี้การออกกำลังกายยังช่วยให้ปอดทำงานส่งออกซิเจนไปสู่เลือดได้ดีขึ้น ดังนั้นร่างกายจึงได้รับเลือดมาเลี้ยงเพิ่มขึ้น ทำให้แข็งแรงขึ้น

     ลดความดันเลือด การออกกำลังกายช่วยให้การควบคุมความดันเลือดเป็นไปอย่างปกติมากขึ้น ถ้าคุณเป็นคนอ้วนหรือเป็นโรคความดันเลือดสูงก็จะยิ่งเห็นผลของการออกกำลังกายต่อการลดความดันเลือดได้ชัดเจนขึ้น

     ปรับปรุงระดับไขมันในเลือด การออกกำลังกายมีผลต่อระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ในเลือด คือทำให้ระดับไตรกลีเซอไรด์ลดลง และช่วยเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลชนิดดีที่เรียกว่า HDL (High Density Lipoprotein cholesterol) ที่ช่วยทำให้หลอดเลือดแดงไม่แข็งตัว และอาจลดระดับคอเลสเตอรอลตัวร้าย หรือ LDL (Low Density Lipoprotein cholesterol) ซึ่งทำให้หลอดเลือดแดงแข็งตัวตีบตัน

     การออกกำลังกายทำให้สุขภาพของหลอดเลือดดีขึ้น การควบคุมความดันเลือดให้ลดลงมีผลดีต่อหลอดเลือดแดง เพราะทำให้เยื่อบุหลอดเลือดแดง (endothelium) มีความเครียดจากความดันเลือดน้อย ซึ่งทำให้มีการเกาะพอกตัวของตะกรันคอเลสเตอรอล (plaque) น้อยกว่าในกรณีที่มีความดันเลือดสูง นอกจากนี้เซลล์เยื่อบุหลอดเลือดแดงยังสามารถหลั่งสารที่มีฤทธิ์หย่อนคลายการบีบตัวของ(กล้ามเนื้อ)หลอดเลือดแดงด้วย โดยมีข้อมูลแน่ชัดว่า การออกกำลังกายช่วยให้การทำงานของเยื่อบุหลอดเลือดแดงดีขึ้น

     ช่วยลด hs-CRP อีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อสุขภาพของหลอดเลือดคือการอักเสบที่เกิดขึ้นในร่างกาย เช่น การอักเสบที่เหงือกจะมีผลต่อสุขภาพของหลอดเลือดทั่วไป เราวัดการอักเสบได้โดยการเจาะหา high sensitivity C-reactive protein (hs-CRP) โดยมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า การอักเสบมีบทบาทสำคัญในการทำให้หลอดเลือดแดงแข็งตัว แต่การออกกำลังกายช่วยลด hs-CRP ได้

     ปรับปรุงการใช้ออกซิเจนให้ดีขึ้น การออกกำลังกายเป็นประจำช่วยให้เซลล์สามารถเข้าถึงออกซิเจนในเลือดได้ดีขึ้น จึงช่วยลดการทำงานของหัวใจลง และทำให้ร่างกายทนต่อการออกกำลังมากขึ้น

     ปรับปรุงการใช้น้ำตาลและระดับอินซูลินในเลือดให้ดีขึ้น ทำให้ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดอย่างใกล้ชิด ซึ่งการออกกำลังกายช่วยในแง่นี้
นอกจากนี้การออกกำลังยังมีผลดีอย่างอื่นอีก เช่น ลดความโน้มเอียงที่เลือดจะแข็งตัวไปอุดตันหลอดเลือดสำคัญ ปรับปรุงระบบภูมิต้านทานโรค และลดความเสี่ยงในการเกิดโรคซึมเศร้า

     จะเห็นได้ว่า การเปลี่ยนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ด้วยการหันมาออกกำลังกายจะช่วยให้สุขภาพของท่านดีขึ้นได้เป็นอย่างมาก คือไม่ใช่อายุยืนอย่างเดียว แต่คุณภาพชีวิตยังดีขึ้นด้วย โดยการออกกำลังกายแค่สัปดาห์ละ 7 ชั่วโมงจะสามารถลดความเสี่ยงตายของท่านได้ถึงร้อยละ 40 เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่ออกกำลังกายน้อยกว่าสัปดาห์ละ 30 นาที

     การออกกำลังกายมีผลดีขนาดนี้แล้วยังจะมัวนั่งๆ นอนๆ อยู่อีกทำไม