ผู้เขียน หัวข้อ: พบไวรัสคล้าย "เอชไอวี" ในลิงนับล้านปี เปิดช่องวิจัยรับมือ  (อ่าน 2253 ครั้ง)

ออฟไลน์ webmaster

  • Administrator
  • medtech ปี เอก
  • *****
  • กระทู้: 3951
    • อีเมล์


จุดกำเนิดของเชื้อเอชไอวีอาจจะไล่ย้อนหลังได้ไปไกลนับหลายล้านปี มากกว่าแค่หมื่นปีตามที่เคยสันนิษฐานไว้ หลังพบเชื้อที่มีลักษณะใกล้เคียงกันในลิงแอฟริกัน นำไปสู่การศึกษาหาวิธีการทำงานของไวรัสร้าย และการวิวัฒนาการของลิงเพื่อรับมือกับไวรัส เพื่อปรับใช้รักษาในมนุษย์
       
       เชื้อเอชไอวี (HIV) อันเป็นเหตุให้เกิดโรคภูคุ้มกันบกพร่อง หรือ "เอดส์" (AIDS) เป็นโรคที่อุบัติและแพร่ระบาดในหมู่มนุษย์ช่วงศตวรรษที่ 20 แต่นักวิทยาศาสตร์รู้จักเชื้อไวรัสร้ายที่มีลักษณะคล้ายๆ กันนี้มายาวนานแล้ว เชื้อไวรัสดังกล่าวปรากฎในลิงทั้งชนิดมีหางและไม่มีหาง
       
       เชื้อไวรัสที่มีลักษณะคล้ายเชื้อเอชไอวีที่นักวิจัยรู้จักดีคือ "เลนติไวรัส" (lentivirus) โดยจากการศึกษาทางพันธุกรรมแสดงให้เห็นว่า ไวรัสดังกล่าวพบในลิงมีหางและไม่มีหาง ที่มีถิ่นอาศัยในแถบแอฟริกา ตั้งแต่ 5-12 ล้านปีก่อนแล้ว
       
       ทั้งนี้ มีข้อสันนิษฐานว่า การแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีในมนุษย์ เริ่มเมื่อเชื้อไวรัสคล้ายเอชไอวีติดต่อจากชิมแปนซีสู่คน ก่อนช่วงศตวรรษที่ 20 และปัจจุบันมนุษย์ทั่วโลกติดเชื้อเอชไอวีไปแล้วกว่า 34 ล้านคน
       
       รายงานการวิจัยทางพันธุกรรมที่ผ่านมาชี้ว่า เชื้อเลนติไวรัสอันเป็นญาติของเอชไอวีนั้น มีมานานกว่าหมื่นปี แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ยังเชื่อว่าน่าจะเก่าแก่กว่านั้น
       
       อย่างไรก็ดี นักวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยวอชิงตันในซีแอตเติล สหรัฐฯ (University of Washington, Seattle) และศูนย์วิจัยมะเร็งเฟรดฮัทชิสัน (Fred Hutchinson Cancer Research Center, Seattle) ได้ค้นหานัยสำคัญทางพันธุกรรม อันมีผลต่อเลนติไวรัสในไพรเมทจำนวนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น ชิมแปนซี กอริลลา อุรังอุตัง และค่าง
       
       วิวัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงของยีน ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันในลิงมีหางและไม่มีหางในแอฟริกา นั่นอาจนำไปสู่ข้อสรุปว่าเชื้อไวรัสดังกล่าวอุบัติขึ้นตั้งแต่ 5-16 ล้านปีก่อน
       
       ข้อสันนิษฐานดังกล่าว มาจากผลการวิจัยซึ่งตีพิมพ์ลงในวารสารทางการแพทย์พีแอลโอเอส (PLOS Pathogens) เผยให้เห็นร่องรอยว่า ระบบภูมิคุ้มกันของสิ่งมีชีวิตที่ใกล้เคียงมนุษย์ที่สุด ได้วิวัฒนการตัวเองเพื่อต่อสู้กับการติดเชื้อไวรัสร้ายได้อย่างไร
       
       ทั้งนี้ เชื้อเลนติไวรัสในลิงไม่มีหาง อาจมีความสำคัญต่อสุขภาพของมนุษย์ในปัจจุบันที่จะต่อสู้กับเชื้อเอชไอวี เพราะเชื้อนี้มีต้นกำเนิดมาตั้งแต่ยุคโบราณ โดยงานวิจัยเพื่อค้นหาการวิวัฒนาการรับมือกับไวรัสชนิดนี้ของสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใกล้เคียงกับมนุษย์จะนำไปสู่ความเข้าใจการทำงานของเชื้อไวรัสเอชไอวีที่ทำอันตรายกับร่างกาย และนำไปสู่การรักษาโรคเอดส์ในที่สุด

ที่มา : นสพ.ผู้จัดการ