ผู้เขียน หัวข้อ: วิเคราะห์ท้อง ก่อนคลอด  (อ่าน 1343 ครั้ง)

ออฟไลน์ vt

  • medtech ปี เอก
  • ******
  • กระทู้: 530
    • อีเมล์
วิเคราะห์ท้อง ก่อนคลอด
« เมื่อ: มิถุนายน 14, 2011, 01:13:04 pm »


 เพราะต้องการให้คนทั่วไปเข้าใจว่า การตั้งครรภ์ไม่ใช่สิ่งสวยงามร้อยเปอร์เซ็นต์ และเมื่อเกิดปัญหาขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์หรือหลังคลอดแล้ว ควรจะช่วยอย่างไร

  แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาทารกแรกเกิด (Neonatologist) คือ แพทย์เฉพาะทางการดูแลรักษาทารกที่มีภาวะผิดปกติ ซึ่งความผิดปกติในที่นี้มีความหมายครอบคลุมอาการและความเสี่ยงทุกชนิดของทารกที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ หรือในช่วงหลังการคลอด

  คนทั่วไปมักเข้าใจว่า การดูแลการตั้งครรภ์จนถึงการคลอดทั้งหมดคือหน้าที่ของสูตินรีแพทย์เท่านั้น

   ศ.พญ.อรดี จันทวสุ กุมารเวชศาสตร์ทารกแรกเกิดและปริกำเนิด โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวถึงความสำคัญของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาทารกแรกเกิด ที่อาจยังไม่เป็นที่ทราบกันทั่วไป

หน้าที่ของทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาทารกแรกเกิด

   สูตินรีแพทย์จะเป็นผู้ตรวจวินิจฉัยระหว่างตั้งครรภ์ และเมื่อพบความผิดปกติเกี่ยวกับการตั้งครรภ์หรือทารกในครรภ์ สูตินรีแพทย์จะปรึกษาและแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่มาพบผู้เชี่ยวชาญสาขาทารกแรกเกิด คนไข้จะถูกส่งมาที่เรา

   จากนั้นแผนกของเราจะเริ่มทำหน้าที่ให้ข้อมูลกับพ่อแม่ของเด็กจนเข้าใจถึงปัญหาที่จะเกิด เพื่อทราบข้อมูลพร้อมรายละเอียดและทำความเข้าใจถึงอาการผิดปกติและปัญหาที่จะเกิด แล้วจึงวางแผนการคลอดที่เหมาะสมตามแต่อาการผิดปกตินั้น ๆ

   การกำหนดแผนการรักษาเป็นการร่วมมือกันระหว่างแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาทารกแรกเกิดกับสูตินรีแพทย์ โดยรวมถึงกรณีครรภ์ปกติแต่พบปัญหาระหว่างหรือหลังคลอด ซึ่งผู้เชี่ยวชาญสาขาทารกแรกเกิดจะเข้าไปร่วมแก้ไขปัญหาทันที เช่น ครรภ์ปกติอายุ 30 สัปดาห์เกิดน้ำเดินมีเลือดออก นั่นคือต้องคลอดฉุกเฉิน แพทย์ก็จะเข้าไปช่วย

    กรณีความผิดปกติที่เกิดขึ้นระหว่างคลอดซึ่งไม่สามารถตรวจพบในระหว่างตั้งครรภ์ อาจพบได้หลายชนิด ตั้งแต่อาการน้ำเดินก่อนกำหนด มีขี้เทา (อุจจาระเด็ก) ในน้ำคร่ำ ซึ่งอาจทำให้เด็กสำลัก หัวเด็กไม่ลงขณะคลอด การเต้นของหัวใจผิดปกติ หรือรกลอกตัวก่อนกำหนด ซึ่งแต่ละอาการดังกล่าวอาจทำให้เด็กเสียชีวิตได้

    มีกรณีความผิดปกติที่สามารถตรวจพบได้ก่อนจากการตรวจอัลตราซาวนด์ เช่น ครรภ์แฝดซึ่งมีความเสี่ยงที่อาจต้องคลอดก่อนกำหนด อาจเกิดกรณีแฝดแย่งอาหารกัน ทั้งนี้ครรภ์แฝดจะยิ่งทวีปัญหาตามจำนวนแฝดที่มากขึ้น ครรภ์เป็นพิษคือภาวะที่มารดามีความดันโลหิตสูง ซึ่งในระหว่างคลอด ความดันโลหิตจะยิ่งสูงขึ้น

    ความผิดปกติของทารกในครรภ์มีหลายกรณี ได้แก่ เกิดถุงน้ำในไต ไตเป็นซีสต์ ไส้เลื่อนกระบังลม ทารกศีรษะบวมน้ำหรือศีรษะเล็กผิดปกติ นอกจากนี้อัลตราซาวนด์ยังสามารถตรวจพบภาวะรกเกาะต่ำ น้ำคร่ำน้อยหรือมากผิดปกติรวมถึงประเมินความเสี่ยงที่เกิดจากมารดาซึ่งมีประวัติการแท้งบ่อย เป็นต้น

ทำเรื่องผิดปกติให้เป็นปกติคือหัวใจหลัก

     ขั้นแรกของการเตรียมคลอดสำหรับครรภ์ที่มีปัญหาคือการเตรียมเครื่องมือที่จำเป็นต้องใช้เฉพาะกรณี ขั้นต่อไปคือเตรียมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยให้จำนวนแพทย์สัมพันธ์กับจำนวนทารกที่จะเกิด เช่นกรณีแฝดสี่เราก็ต้องใช้แพทย์สี่คน

     การเตรียมคลอดสำหรับครรภ์ผิดปกติ เราต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ต้องเตรียมความพร้อมตามอาการผิดปกติ เครื่องมือและสถานที่ บุคลากรทุกคนต้องได้รับการฝึกฝนมาโดยเฉพาะ นอกจากนี้การเก็บตัวอย่างเลือดของทารกเพื่อตรวจทางห้องปฏิบัติการ (Lap) จะต้องใช้เทคโนโลยีในการตรวจวัดผลพิเศษที่ใช้เลือดน้อยมาก เนื่องจากทารกตัวเล็กมีเลือดไม่มากนัก

   ร้อยละแปดสิบของทารกที่มีความผิดปกติหลังคลอดมักมีระบบทางเดินหายใจผิดปกติ รองลงมาคือปัญหาการทำงานของระบบหัวใจ ดังนั้นบุคลากรต้องมีความชำนาญเรื่องการช่วยหายใจของทารกแรกเกิด เพื่อให้เกิดปัญหาแทรกซ้อนน้อยที่สุด กรณีอื่น ๆ ที่พบบ่อย เช่น คลอดก่อนกำหนด ทารกพิการแต่กำเนิด ไส้เลื่อนกระบังลม ทารกสมองบวมน้ำ ลำไส้อุดตัน ภาวะสายสะดือย้อยจากปากช่องคลอด ซึ่งทุกกรณีล้วนมีความสำคัญไม่มากน้อยกว่ากัน เพราะเกี่ยวข้องกับการรอดชีวิตของทารก

ต้องใส่ใจทุกลมหายใจ

    วิธีการรักษาความผิดปกติของทารกทั้งที่อยู่ในครรภ์และระหว่างการคลอดแต่ละชนิด มีความซับซ้อนและต้องใช้เทคนิคที่แตกต่างกันไป ศ.พญ.อรดี ได้เล่าถึงการรักษารายหนึ่งที่ทำได้ยากแต่ก็สำเร็จเป็นที่น่าประทับใจว่า

    ผู้ป่วยรายนี้ มีอาการลำไส้ขึ้นไปอยู่ในทรวงอก คุณแม่ไปหลายโรงพยาบาลทุกที่แนะนำให้ทำแท้ง แต่ด้วยความที่คุณแม่อายุมากแล้วจึงอยากเก็บลูกไว้ให้ได้ และตอนที่มาถึงเราอายุครรภ์ก็ล่วงไป  28 สัปดาห์ เราก็เริ่มคุยตามความจริงบอกให้คนไข้ทำใจไว้ห้าสิบห้าสิบ เนื่องจากเด็กอาจไม่รอด หรือหากรอดก็อาจมีปัญหาตามมา

     จากนั้นเราร่วมปรึกษากับสูตินรีแพทย์ผู้ที่มีประสบการณ์สูงเพื่อวางแผนอย่างรอบคอบโดยไม่ตระหนกไปกับสถานการณ์ เมื่อตกลงวันเวลาคลอดได้ เราก็ปฏิบัติตามแผนที่วางไว้ เลือกเวลาที่เหมาะสม เมื่อเริ่มผ่าเราก็กำชับสูตินรีแพทย์ว่าต้องไม่ให้เด็กร้อง เพราะถ้าร้องลำไส้จะโป่ง แล้วปอดจะแย่ เมื่อเด็กคลอด ตัดสายสะดือเสร็จก็ถึงมือเรา

     เราก็ใช้วิธีเฉพาะสำหรับอาการนี้ คือใส่ท่อช่วยหายใจเพื่อให้ปอดขยาย แล้วสอดท่อเข้าในกระเพาะเพื่อดูดลมที่เข้าไปออก และช่วยให้ลำไส้ในปอดไม่โป่งออก จากนั้นส่งเข้าแผนกบำบัดพิเศษทารกแรกเกิด (Neonatal Intensive Care Unit หรือ NICU) ใช้เครื่องช่วยหายใจปรับปอดให้ดีขึ้น

     ผ่านไปสี่วันจนเด็กเริ่มปรับตัวได้ เกณฑ์เสี่ยงลดลงแล้ว เราจึงผ่าตัด ปัจจุบันเด็กคนนี้อายุเจ็ดขวบแล้ว เป็นปกติเหมือนเด็กทั่วไปในด้านสติปัญญาและพัฒนาการ เพียงแต่ปอดข้างที่แฟบก็จะยังแฟบอยู่เท่านั้น

 พร้อมที่สุดเพื่อความปลอดภัยสูงสุด

   ปัจจุบันศักยภาพในการรักษาการตั้งครรภ์หรือการคลอดที่ผิดปกติในประเทศไทย ได้รับการพัฒนาขึ้นจนทัดเทียมประเทศที่มีวิทยาการทางการแพทย์ระดับสูง เช่นเดียวกับศักยภาพการดูแลทารกแรกเกิดที่อยู่ในเกณฑ์เสี่ยง

    ศ.พญ.อรดี กล่าวว่า ศักยภาพ 2 ประการ ดังกล่าวเป็นเครื่องชี้วัดว่า การดูแลการตั้งครรภ์ และทารกแรกเกิดที่มีความผิดปกติที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์นั้นอยู่ในมาตรฐานระดับสูงสุดเช่นเดียวกับประเทศสหรัฐอเมริกา คือ ความสามารถดูแลทารก เกณฑ์เสี่ยงต่าง ๆ รวมถึงการผ่าตัดหัวใจในทารกแรกเกิดและการใช้เครื่องพยุงการทำงานของหัวใจและปอด (ECMO) เพื่อทำหน้าที่แลกเปลี่ยนก๊าซและหมุนเวียนเลือดขณะที่ทารกป่วยหนัก

    สิ่งที่อยากแนะนำสำหรับการตั้งครรภ์ คือ การได้พบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาทารกแรกเกิดก่อนการคลอด ซึ่งถือเป็นการป้องกันและลดความเสี่ยงต่อปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทั้งระหว่างและหลังการคลอด แม้ครรภ์นั้นได้ผ่านการตรวจแล้วว่าเป็นปกติทุกอย่าง ซึ่งขั้นตอนนี้เป็นมาตรฐานปฏิบัติในประเทศที่มีวิทยาการทางการแพทย์ในระดับสูง

    ส่วนในรายที่ตรวจพบว่าครรภ์มีปัญหา คุณพ่อคุณแม่จะต้องให้ความร่วมมือกับสูตินรีแพทย์และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญพิเศษทารกแรกเกิดเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับขั้นตอนต่าง ๆ ตั้งแต่วางแผนการคลอด รับรู้ข้อมูลปัญหาทั้งในส่วนของแม่และส่วนของเด็ก คือ ต้องคุยกับแพทย์จนเข้าใจอาการได้ถ่องแท้

    "ทั้งหมดนี้คือกระบวนการสำคัญซึ่งสามารถช่วยป้องกันหรือรักษา รวมถึงลดความเสี่ยงต่ออันตรายต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นกับแม่และเด็กได้