ผู้เขียน หัวข้อ: ผ่าตัดต่อกระดูกแนวใหม่ "หมออนุชิต" แพทย์นักประดิษฐ์แห่ง รพ.ปัตตานี  (อ่าน 1716 ครั้ง)

ออฟไลน์ IloveMT

  • medtech ป โท
  • *****
  • กระทู้: 289
    • อีเมล์



 แม้สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะทำให้หลายสิ่งหลายอย่างนิ่งงัน แต่ก็ไม่ได้ทำให้พลังสร้างสรรค์หยุดชะงักแต่อย่างใด ดังเช่นผลงานการประดิษฐ์คิดค้น นวัตกรรมใหม่ๆของ นายแพทย์อนุชิต จางไววิทย์ แห่งโรงพยาบาลปัตตานี...โรงพยาบาลในดินแดนปลายสุดด้ามขวานและ "เครื่องมือยึดจับกระดูกจากภายนอกชนิดยืดหยุ่น" ก็คือผลงานอันน่าชื่นชมของเขา

 ข้อมูลจาก ศูนย์ข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา รายงานว่า นายแพทย์อนุชิต เป็นแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกและข้อ โดยบุคลากรทางสาธารณสุขกลุ่มที่เป็น "แพทย์เฉพาะทาง" นั้น รู้กันดีว่าขาดแคลนมากในประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล แม้ว่าโรงพยาบาลระดับจังหวัดจะมีแพทย์ครบถ้วนเกือบทุกสาขา แต่ปัญหาก็คือแพทย์แต่ละสาขามักมีเพียงคนเดียว ทว่ากลับต้องรับผิดชอบดูแลผู้ป่วยจำนวนมหาศาล ทั้งผู้ป่วยทางตรงและผู้ป่วยส่งต่อ

 เช่นเดียวกับแพทย์เฉพาะทางสาขากระดูกและข้อของโรงพยาบาลปัตตานี ก็มีเพียง นาย แพทย์อนุชิต เพียงคนเดียวมานานกว่า 20 ปี คือระหว่างปี 2427 ถึง 2548 กระทั่งเมื่อ 5-6 ปีมานี้เพิ่งจะมีแพทย์สาขาเดียวกันลงมาช่วย ทำให้เขามีเวลาประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ในการดูแลรักษาผู้ป่วยด้านกระดูกและข้อ โดยใช้ความรู้และประสบการณ์เกือบ 30 ปีในการทำงานมาเป็นต้นทุนเพื่อต่อยอด

 "เครื่องมือยึดจับกระดูกจากภายนอกชนิดยืดหยุ่น" คือกลไกที่ นายแพทย์อนุชิต คิดขึ้นมาเพื่อใช้รักษาภาวะกระดูกหัก โดยเฉพาะบริเวณหน้าแข้ง ซึ่งมีราคาถูก ใช้งานง่าย ผู้ป่วยพึงพอใจ รวมทั้งได้รับรางวัลจากสถาบันต่างๆ อย่างน่าภาคภูมิใจ

 เจ้าเครื่องมือยึดจับกระดูกจากภายนอกชนิดยืดหยุ่นนี้ คือการเปิดมิติใหม่ของการผ่าตัดใส่เหล็กเพื่อรักษาอาการ "กระดูกหัก" แบบเดิมๆ แล้วเปลี่ยนมาใช้เครื่องมือชนิดใหม่เพื่อช่วยยึดจับกระดูกจากภายนอก แถมยังใช้วัสดุที่มีสีสันสดใสสบายตา ทำให้ผู้ป่วยสบายใจ

 นายแพทย์อนุชิต เล่าถึงการสร้างสรรค์นวัตกรรมอันน่าทึ่งนี้ว่า เมื่อเกิดอุบัติเหตุ เช่น รถชน แล้วกระดูกหน้าแข้งหัก การผ่าตัดแบบเดิมคือการผ่าตัดเปิดแผลแล้วใส่เหล็กดามเข้าไป ซึ่งการผ่าตัดแบบนั้นเป็นการไปทำลายเนื้อเยื่อที่ดีอยู่ให้เป็นเนื้อเยื่อที่ถูกทำให้บาดเจ็บ ทั้งๆ ที่โดยธรรมชาติกระดูกที่หักจะต่อติดกันได้ด้วยเนื้อเยื่อรอบข้างที่ดี แต่เรากลับไปทำลายเนื้อเยื่อที่ว่านั้น

 "การใส่เหล็กดามมีปัญหาตามมาเยอะ แต่แม้จะไม่มีปัญหาอะไร ก็ต้องใช้เวลาหลายเดือนกว่าที่ผู้ป่วยจะสามารถเดินได้ ถ้าถามคนไข้ ร้อยทั้งร้อยไม่มีใครอยากถูกผ่าตัดใส่เหล็ก ถ้าเลือกได้เขาก็ไม่เอาเหล็ก การผ่าตัดแบบเก่าทำให้เสียเวลา เสียเงิน เสียความรู้สึก เครียด ต้องรอผ่าตัด แทนที่จะผ่าครั้งเดียวจบ บางคนต้องผ่า 2-3 ครั้ง มีโอกาสติดเชื้อเยอะมาก"

 "นอกจากนั้นคนไข้ทั้งชายและหญิง เมื่อผ่าตัดใส่เหล็กแล้วจะขาดความมั่นใจ ยิ่งเป็นผู้หญิงด้วยยิ่งขาดความมั่นใจมาก เพราะจะมองเห็นแผลชัดเจน ขาไม่สวย และมีความคิดอยู่เสมอว่ามีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในตัว การผ่าตัดแต่ละครั้งไม่มีใครรับรองความปลอดภัย อาจมีภาวะติดเชื้อ หรือได้รับอันตรายจากการดมยาสลบ เป็นสิ่งหมอที่ผ่าตัดและคนไข้ไม่อยากให้เกิด ยิ่งผ่าตัดมากก็ยิ่งเสี่ยงมาก ผ่าตัดแต่ละครั้งรัฐต้องสูญเสียงบประมาณในโรงพยาบาลของรัฐประมาณ 25,000 บาทต่อครั้ง รวมทั้งการนอนพักฟื้น ยังไม่นับรวมค่าเหล็กอีก หากเป็นโรงพยาบาลเอกชนก็เป็นแสนบาท ซึ่งเขาจะเรียกเก็บเงินจากรัฐไปมากมายมหาศาล (ตามโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และกองทุนประกันสังคม)"

 นายแพทย์อนุชิต เล่าต่อว่า สำหรับการผ่าตัดที่ใช้เครื่องมือชนิดใหม่ที่เขาคิดค้นขึ้นนั้น เป็นการผ่าตัดครั้งเดียวเพื่อนำเครื่องมือทาบลงไป ก็เสร็จเรียบร้อย

 "เครื่องมือนี้ทำให้ไม่ต้องผ่ามาก เพราะกระดูกคนเราถ้าเอามาต่อกัน เนื้อเยื่อจะสมานกันได้เร็วมาก แผลก็หายเร็ว เราใส่เครื่องมือเข้าไปเพื่อยึดให้กระดูกติดกัน ใช้เวลาประมาณ 1-3 เดือน เครื่องมือมีความยืดหยุ่น สามารถดึงเข้า ดึงออก ปรับหมุนซ้ายขวาได้ เราออกแบบให้ปรับเปลี่ยนได้ น้ำหนักเบา สวยงาม ราคาถูกมาก ตัวเดียวจบ ประหยัดงบประมาณไปได้เยอะ ถ้าเป็นเมืองนอกราคาเป็นแสน บางตัวอาจถึง 5 แสนบาท แต่ปรับได้แค่เข้า-ออก แต่ของเราหมุนซ้าย-ขวาได้ด้วย"

 "เท่าที่ผมสอบถามจากคนไข้ ทุกคนบอกว่าใช้เครื่องมือนี้แล้วรู้สึกดี เมื่อให้เขาเลือกใส่เหล็กดามกับใช้เครื่องมือนี้ โดยให้ญาติกับผู้ป่วยได้ดูตัวอย่างเตียงข้างๆ ปรากฏว่าคนไข้เลือกเครื่องมือของผมเกือบทั้งนั้น เพราะรู้สึกว่าน้ำหนักเบา สีสันสวยงาม ทำให้หายเครียดจากภาวะบาดเจ็บที่เป็นอยู่ ตอนนี้เครื่องมือ มีเพียงพอกับคนไข้ เพราะเมื่อถอดจากคนไข้ที่หายแล้ว ก็นำเครื่องมือในส่วนที่เป็นตัวยึดจับภายนอกไปฆ่าเชื้อที่อาจติดมากับอากาศ ก็จะสามารถนำไปใช้กับคนไข้รายใหม่ได้อีก ส่วนเหล็กที่สัมผัสภายในนั้นใช้แล้วทิ้งไป"

 นายแพทย์อนุชิต บอกด้วยว่า เครื่องมือยึดจับกระดูกจากภายนอกชนิดยืดหยุ่น ได้ผ่านการพิจารณารับรองจากคณะกรรมการจริยธรรมของโรงพยาบาลว่าสามารถใช้กับคนไข้ได้อย่างปลอดภัย มีประสิทธิภาพ ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการจดสิทธิบัตร

 เครื่องมืออันน่าทึ่งจากพลังสร้างสรรค์ของหมออนุชิต แห่งโรงพยาบาลในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติและน่าภาคภูมิใจมากมาย อาทิ รางวัลชนะเลิศการพัฒนาเครื่องมือในการรักษาภาวะกระดูกหักของจังหวัดปัตตานี, รางวัลชนะเลิศสิ่งประดิษฐ์คิดค้นทางการแพทย์จากโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า, ผลงานดีเด่นของโรงพยาบาลปัตตานีประจำปี พ.ศ.2553 เป็นต้น

 แม้จะทำงานที่โรงพยาบาลปัตตานีมาเกือบ 30 ปี กระทั่งเกือบจะเรียกได้ว่าเป็นคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปแล้ว แต่แท้ที่จริงคุณหมออนุชิตเป็นชาว จ.อุบลราชธานีโดยกำเนิด จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และเป็นบัณฑิตคณะแพทยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อสำเร็จการศึกษาก็เลือกลงมารับราชการครั้งแรกที่โรงพยาบาลปัตตานีเมื่อปี พ.ศ.2527 และปฏิบัติหน้าที่อย่างต่อเนื่องเข้มแข็งมาจนถึงปัจจุบัน แม้ชายแดนใต้จะแปร เปลี่ยนจากดินแดนสงบสุขไปสู่สถานการณ์ความไม่สงบที่มีแต่เหตุรุนแรงรายวัน หมออนุชิตก็ไม่เคยคิดย้ายไปไหน

 "ปัตตานีเป็นเมืองน่าอยู่ แม้จะมีความเสี่ยง แต่อาชีพหมอก็คงมีความเสี่ยงน้อยกว่าอาชีพอื่น เพราะหมอมีแต่ให้ ช่วยเหลือคน โดยเฉพาะหมอผ่าตัด" เป็นความรู้สึกของหมออนุชิตที่มีต่อเมืองปัตตานีและสถานการณ์ในพื้นที่

 "ผมไม่ได้คิดไปถึงเรื่องร่ำรวยเงินทอง หมอรักษาทุกคนเท่าอย่างเทียมกัน ไม่ได้เลือกว่าเป็นใคร รักษาทุกฝ่าย ไม่แยกสี ไม่แยกดีหรือเลว ใครเจ็บป่วยมาหมอก็ช่วยเต็มความสามารถ ที่ผ่านมา มีเหมือนกันที่ฝ่ายก่อความไม่สงบถูกยิงมา หมอถามอาการและแนวทางการรักษา เขาก็ไม่ตอบจนต้องยืนยันว่าหมอไม่ได้เป็นพวกใคร หมอมีหน้าที่รักษาผู้ป่วยทุกคนเท่ากัน และไม่มีหน้าที่ตัดสินด้วยว่าใครเป็นโจร ใครผิดใครถูก เป็นหน้าที่ของตำรวจ อัยการ และผู้พิพากษา ให้วางใจได้ นั่นแหละเขาจึงยอมพูดด้วย"

 คือประสบการณ์ตรงของ หมออนุชิต ที่พิสูจน์จรรยาบรรณแพทย์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างชัดเจน...

 และนวัตกรรมจากการประดิษฐ์คิดค้นของเขา จะช่วยพี่น้องประชาชนในดินแดนด้ามขวานให้พ้นจากความเจ็บปวดทางกาย และเยียวยาจิตใจไปด้วยพร้อมๆ กัน



ที่มา : แนวหน้า