ผู้เขียน หัวข้อ: กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เตือนระวังอันตรายจากน้ำแข็งแห้ง  (อ่าน 1267 ครั้ง)

ออฟไลน์ nongpoint

  • medtech ปี เอก
  • ******
  • กระทู้: 1204
    • อีเมล์



กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เตือนระวังอันตรายจากน้ำแข็งแห้ง

วันที่โพสต์ 28 พ.ย. 2556
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เตือนผู้บริโภคอย่าหยิบจับ สัมผัส หรือรับประทาน น้ำแข็งแห้งโดยตรง เพราะจะทำให้บริเวณที่สัมผัสไหม้จากความเย็นจัดได้ อย่าใส่ในภาชนะปิดสนิทหรือห้องที่ไม่มี ช่องระบายอากาศ อาจเสี่ยงต่อการระเบิดได้ หากใช้หรือเก็บไว้ในพื้นที่จำกัด เช่น ในรถหรือห้องแสดงคอนเสิร์ต ต้องมีการระบายอากาศที่ดี เพื่อป้องกันการสะสมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งจะทำให้ขาดอากาศหายใจและหมดสติ และควรเก็บให้พ้นมือเด็ก
 
น้ำแข็งแห้ง
 
นายแพทย์อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีการโพสต์ข้อความหรือข่าวทางอินเตอร์เน็ตเรื่องอันตรายของน้ำแข็งแห้ง เมื่อนำมาวางในรถแล้วระเหิดออกมา จนทำให้คนที่อยู่ภายในรถหายใจไม่ออกและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ นั้น ในปัจจุบันได้มีการนำน้ำแข็งแห้ง หรือ ดรายไอซ์ (dry ice) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า คาร์บอนไดออกไซด์แข็ง (solid carbon dioxide) ซึ่งเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ในสถานะของแข็งมีความเย็นจัดถึงลบ 79.5 องศาเซลเซียส และเมื่อน้ำแข็งแห้งระเหิดจะไม่หลอมละลายเป็นของเหลวเหมือนน้ำแข็งทั่วไป แต่จะกลายเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ให้ความเย็นมากกว่าน้ำแข็ง 2-3 เท่า ด้วยคุณสมบัติของน้ำแข็งแห้ง จึงสามารถนำมาใช้ประโยชน์ ในหลายๆ ด้าน เช่น ในอุตสาหกรรมอาหารประเภทไอศกรีมนม เบเกอรี่ ไส้กรอกและเนื้อสัตว์ เพื่อถนอมอาหารในขั้นตอน การผลิตหรือการขนส่งหรือจัดเก็บอาหารสำหรับเสิร์ฟบนเครื่องบินใช้ในการขนส่งเวชภัณฑ์ และใช้ในการทำหมอกควันขาวประกอบการแสดงต่างๆ บนเวที ดังนั้นหากใช้น้ำแข็งแห้งไม่ถูกวิธีหรือใช้โดยขาดความระมัดระวัง ผู้ใช้ก็อาจได้รับอันตรายได้ ถึงแม้ว่าโดยส่วนใหญ่น้ำแข็งแห้งจะใช้ในภาคอุตสาหกรรม แต่ผู้บริโภคโดยทั่วไปก็อาจได้รับอันตรายจากน้ำแข็งแห้งที่ใช้แช่อาหารหรือไอศกรีมได้ ผู้บริโภคจึงควรให้ความระมัดระวังเป็นพิเศษห้ามใช้มือเปล่าสัมผัสน้ำแข็งแห้งโดยตรง เพราะจะทำให้ผิวหนังไหม้จากความเย็นจัดจะมีอาการปวดแสบ ปวดร้อน ควรสวมถุงมือหรือใช้กระดาษห่อก่อนสัมผัส เพื่อป้องกันการสัมผัสถูกน้ำแข็งแห้งโดยตรง กรณีถูกน้ำแข็งแห้งกัดให้ล้างมือทันทีด้วยน้ำสะอาดในปริมาณมากและไปพบแพทย์ และไม่ควรจัดเก็บน้ำแข็งแห้ง ไว้ในภาชนะปิดสนิทหรือห้องที่ไม่มีช่องระบายอากาศเพราะอาจเสี่ยงต่อการระเบิด เนื่องจากแรงดันที่เกิดขึ้นจากการระเหิดกลายเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะสะสมจนถึงระดับที่สามารถระเบิดได้ โดยเฉพาะขณะขนส่ง
 
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่ออีกว่า หากใช้หรือเก็บไว้ในพื้นที่จำกัด เช่น ในรถหรือห้องแสดงคอนเสิร์ตจำเป็นต้องมีการระบายอากาศที่ดี ควรเก็บแยกกับห้องโดยสารรถยนต์และเก็บไว้ในภาชนะที่มีช่องระบายอากาศ หากจำเป็นต้องขนส่งภายในห้องโดยสาร ควรเปิดกระจกทุกด้าน เพื่อให้มีก๊าซออกซิเจนจากภายนอกไหลเวียนเข้ามาภายในรถ รวมทั้งป้องกันการขาดอากาศหายใจ เพราะน้ำแข็งแห้งจะระเหิดออกมาเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทำให้หมดสติได้ หากใช้เพื่อป้องกันไม่ให้ไอศกรีมละลาย ควรห่อน้ำแข็งแห้งด้วยกระดาษหรือบรรจุในถุงกระดาษ ให้เรียบร้อยอย่างมิดชิด และหากจำเป็นต้องแบ่งน้ำแข็งแห้ง ควรระมัดระวังน้ำแข็งแห้งกระเด็นเข้าตา ส่วนการนำไปใช้ประกอบการแสดงคอนเสิร์ต หรือละครเวที ควรจัดให้มีระบบระบายอากาศด้านล่างที่ดี เนื่องจากเมื่อน้ำแข็งแห้งระเหิดจะกลายเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งมีน้ำหนักมากกว่าอากาศ ทำให้ลอยอยู่ในระดับต่ำและที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษคือห้ามจัดเก็บน้ำแข็งแห้งปริมาณมากๆ ในห้องแคบหรือห้องที่มีเพดานต่ำมีระบบระบายอากาศไม่ดีพอ เพราะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะระเหิดออกมาแทนที่ ก๊าซออกซิเจน อาจทำให้ขาดอากาศหายใจเสียชีวิตได้ และที่สำคัญควรจัดเก็บให้พ้นมือเด็กเพื่อป้องกันการหยิบมาเล่น