ผู้เขียน หัวข้อ: ยันไม่พบ 'ไข้หวัดนก' ระบาดในไทย  (อ่าน 1028 ครั้ง)

ออฟไลน์ vt

  • medtech ปี เอก
  • ******
  • กระทู้: 530
    • อีเมล์
ยันไม่พบ 'ไข้หวัดนก' ระบาดในไทย
« เมื่อ: มิถุนายน 16, 2011, 07:58:41 am »


รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุ ส่งทีมเฝ้าระวังคุมพื้นที่โรงชำแหละไก่ ยันยังไม่พบ "ไข้หวัดนก" ระบาดในไทย กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ป้องกันโรคได้...

เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยกรณีตรวจพบโรงชำแหละไก่ ที่นำไก่ไม่ได้คุณภาพมาจำหน่ายให้กับผู้บริโภค อาจทำให้ประชาชนมีความกังวลในการเลือกซื้อหรือบริโภคเนื้อไก่ เพราะเกรงจะก่อให้เกิดโรคว่า โดยทั่วไปแล้ว การบริโภคเนื้อไก่ที่ตายตามธรรมชาติ และผ่านการชำแหละที่ถูกสุขลักษณะ จะไม่ก่อให้เกิดโรค เว้นแต่กรณีที่มีการพบไก่ตายจำนวนมากโดยไม่ทราบสาเหตุ แล้วนำมาจำหน่ายหรือบริโภค ต้องระวัง เพราะอาจมีการสะสมของเชื้อแบคทีเรีย ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคท้องร่วง หรืออาหารเป็นพิษได้ ส่วนไก่ที่ตายจากโรคระบาด อาจทำให้เกิดโรคได้ ทั้งในผู้บริโภคและผู้ชำแหละ โดยเฉพาะการติดต่อของเชื้อโรคไข้หวัดนก

จากข้อมูลการเฝ้าระวังไข้หวัดนก ของสำนักระบาดวิทยา ตั้งแต่ปี 2547-49 ประเทศไทยพบผู้ป่วยยืนยันไข้หวัดนก 25 ราย เสียชีวิต 17 ราย คิดเป็นอัตราป่วยตายถึงร้อยละ 68 โดยพบผู้ป่วยในปี 2553 แม้จะมีผู้ป่วยที่เข้าข่ายสงสัยไข้หวัดนก 10 ราย แต่ไม่มีผู้ใดตรวจพบเชื้อไข้หวัดนก และในปี 2554 ระหว่างวันที่ 1-31 พ.ค. 54 มีผู้อยู่ในข่ายเฝ้าระวังโรคสะสม 39 ราย จาก 14 จังหวัด ถึงแม้ประเทศไทยจะไม่มีรายงานการพบเชื้อไข้หวัดนกในสัตว์ปีกมาตั้งแต่ปี 2552 แต่ยังมีการตรวจพบสัตว์ปีกติดเชื้อไข้หวัดนก หรือรายงานยืนยันผู้ป่วยไข้หวัดนกรายใหม่ในทวีปเอเชียอยู่เสมอ โดยเฉพาะจากประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้มีโอกาสสูงที่โรคไข้หวัดนกจะแพร่ระบาดมาสู่ประเทศไทยได้

รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรคมีมาตรการในการป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ โดยเฉพาะการป้องกันและควบคุมโรคไข้หวัดนกในคน ซึ่งจะมีการเฝ้าระวังสอบสวนโรค การให้สุขศึกษาแก่ประชาชน การตรวจวินิจฉัยรักษาการป้องกันในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้เกี่ยวข้องกับการทำลายสัตว์ปีกที่ป่วย และการบริหารจัดการ ซึ่งมีมาตรการที่สำคัญ 5 ด้าน ได้แก่ ด้านการสั่งการและกำกับดูแล ด้านการเฝ้าระวังสอบสวนโรค ด้านสุขศึกษา ด้านการรักษาพยาบาลผู้ป่วยในโรงพยาบาล และด้านการควบคุมป้องกันโรคไข้หวัดนกในกลุ่มผู้กำจัดสัตว์ป่วย โดยจะมีทีมอสม.และทีม SRRT ระดับตำบล และอาสาปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ เป็นกำลังสำคัญในการเฝ้าระวังโรคในสัตว์ปีก และตรวจจับความผิดปกติของการเกิดโรคในพื้นที่ทุกระดับ โดยเฉพาะเมื่อมีสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติเกิดขึ้น และเป็นดัชนีบ่งชี้ที่สำคัญว่า อาจเกิดการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกขึ้นในพื้นที่นั้นแล้ว ซึ่งประชาชนในพื้นที่นั้น อาจมีโอกาสเสี่ยงสูงต่อการได้รับเชื้อ

นพ.สุวรรณชัย กล่าวด้วยว่า ในเบื้องต้น ประชาชนสามารถป้องกันตนเองได้ด้วยการมีพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกสุขลักษณะ คือ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือทุกครั้งก่อนและหลังการบริโภค และควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่ฟาร์มสัตว์ปีก หรือพื้นที่ที่มีการระบาด หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วยปอดอักเสบ และขออย่านำสัตว์ที่ป่วย หรือสงสัยว่าติดเชื้อ มาชำแหละเพื่อปรุงเป็นอาหาร ผู้บริโภคควรเลือกซื้อเนื้อไก่ที่มีเนื้อแน่น นิ้วกดไม่บุ๋ม จับดูไม่มีเมือกลื่น เนื้อไม่มีสีคล้ำ ไม่มีรอยช้ำ จ้ำเลือด หรือเลือดออก สีต้องสด ไม่มีสีแดงเกินปกติ ไม่มีกลิ่นผิดปกติ ควรเลือกรับประทานเนื้อไก่และไข่ที่ปรุงสุกแล้ว และล้างมือทุกครั้งที่สัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วยตาย หากมีอาการไข้และไอ ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที ส่วนผู้ชำแหละไก่ ซึ่งอาจมีความเสี่ยงจากการติดโรคจากสัตว์ จึงควรระมัดระวังขณะปฏิบัติงาน โดยไม่ซื้อไก่ที่มีอาการผิดปกติจากการติดเชื้อ เช่น ซึมหงอย ขนฟู หน้า หงอน หรือเหนียงบวมคล้ำ มีน้ำมูก หรือขี้ไหล หรือไก่ที่ตายมาชำแหละขาย หากสัตว์ที่ชำแหละมีลักษณะผิดปกติ เช่น มีจุดเลือดออกมีน้ำ หรือเลือดคั่ง หรือจุดเนื้อตายสีขาวที่เครื่องใน หรือเนื้อมีสีผิดปกติ ต้องไม่นำไปจำหน่าย ต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์มาตรวจสอบทันที เพราะอาจเป็นโรคระบาด หลังเสร็จสิ้นการชำแหละไก่ต้องล้างบริเวณชำแหละให้สะอาดด้วยน้ำผงซักฟอก และราดน้ำยาฆ่าเชื้อโรคเดือนละ 1-2 ครั้ง.