ผู้เขียน หัวข้อ: ลุ้นมานาน 10 ปี ภารกิจยานยุโรปไล่เกาะดาวหาง  (อ่าน 1573 ครั้ง)

ออฟไลน์ webmaster

  • Administrator
  • medtech ปี เอก
  • *****
  • กระทู้: 3951
    • อีเมล์



ลุ้นมานาน 10 ปี ภารกิจยานยุโรปไล่เกาะดาวหาง

เมธินี พรมทา

 โครงการส่งยานสำรวจขนาดเล็ก “ฟิเล” ไปเกาะติดดาวหาง 67 พี เชอร์ยูมอฟ เจราซีเมนโก (comet 67P/Churyumov-Gerasimenko) ที่อยู่ห่างจากโลก 510 ล้านกิโลเมตร โดยใช้เวลาเดินทางนาน 10 ปี เป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งยวดของทีมนักวิทยาศาสตร์องค์การอวกาศแห่งสหภาพยุโรป หรือ ESA

 หลังจากหมดเงินลงทุนไป 1,300 ล้านยูโร หรือราว 53,200 ล้านบาท

 โครงสร้างหลักของยานฟิเลทำจากไฟเบอร์คาร์บอน เชื่อมต่อชิ้นส่วนต่างๆ ในลักษณะคล้ายแซนด์วิชหกเหลี่ยมมีน้ำหนัก 100 กิโลกรัม ติดตั้งแผง โซลาร์เซลล์สำหรับแปลงพลังงาน

 ยานแม่ของฟิเลชื่อ “โรเซ็ตต้า” เดินทางจากโลกตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2547 ไปพร้อมกับฟิเล ใช้ระยะเดินทางไกลในระบบสุริยจักรวาลกว่าจะไปถึงจุดหมาย 6,400 ล้านกิโลเมตรในวันที่ 6 สิงหาคม 2557 กระทั่งฟิเลทะยานออกจากโรเซ็ตต้าไปลงจอดบนดาวหาง 67พี เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2557

 ดาวหาง 67 พี มีอายุกว่า 4,000 ล้านปี มีมวลกว่า 1 หมื่นล้านตัน และเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงสุด 135,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

 แต่กว่าจะลงจอดได้ทีมงานต้องลุ้นกันเหนื่อย เพราะระบบพลังงานแก๊สที่ใช้ป้องกันไม่ให้ยานเด้งกระดอนออกไปนอกอวกาศใช้การไม่ได้ ทำให้ทางทีมงานต้องเปลี่ยนมาใช้ระบบคันยึดแทน

 การลงจอดครั้งแรกไม่สำเร็จ สร้างความกังวลและบั่นทอนกำลังใจให้กับเหล่านักวิทยาศาสตร์ไม่น้อย แต่พวกเขาไม่ได้ยอมแพ้

 “วันนี้ยานฟิเลของเราอาจจะยังลงจอดไม่สำเร็จ แต่ก็ไม่เป็นไรโอกาสไม่ได้มีแค่ครั้งเดียว” สเตฟาน อัลลาเมก ผู้ควบคุมยานกล่าว

 ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น สุดท้ายยานฟิเลลงจอดบนพื้นผิวดาวหางได้อย่างปลอดภัยโดยใช้เวลาทั้งหมดถึง 7 ชั่วโมง บรรดาทีมนักวิทยาศาสตร์ต่างก็พากันตั้งฉายาให้ว่า “ชั่วโมงสยอง”

 การลงจอดครั้งที่สองทำให้ยานเกาะกับพื้นผิวของดาวหางได้สำเร็จแต่ต้องเปลี่ยนไปลงจอดอีกจุดหนึ่งแทน

 “พวกเราเห็นตัวยานลงจอดบนดาวหางเต็มสองตาเลย”แอนเดรีย โคมัสโซ ผู้อำนวยการยานแม่โรเซ็ตต้ากล่าวหลังจากที่ยานลงจอดได้สำเร็จแล้ว และว่า “เราได้รับการยืนยันแล้ว ไม่มีผิดเพี้ยนแน่นอน”

ทีมงานทั้งหมดกอดกันและส่งเสียงเชียร์ดังสนั่นด้วยความปลื้มปีติยินดีเป็นพิเศษก่อนที่จะมีการเฉลิมฉลองให้กับโครงการที่ทุ่มเททั้งแรงกายและแรงใจไปให้เป็นเวลากว่าสิบปีจนสำเร็จลุล่วงด้วยดีในที่สุด

 อัลลาเมกกล่าวเสริมว่า“ผมว่าคุณคงไม่สามารถหาภาพที่สวยงามกว่านี้ดูได้อีกแล้ว”

 อย่างไรก็ตาม ปัญหายังไม่จบเท่านี้ เพราะจุดที่ลงไปจอดนั้นอยู่ในมุมอับในการรับแสงอาทิตย์สำหรับไปแปลงเป็นพลังงานของแผงโซลาร์เซลล์

 ยานฟิเลออกแบบมาให้ขับเคลื่อนได้ในสองกรณีกรณีแรกคือขับเคลื่อนได้ด้วยแบตเตอรี่ของมันเองซึ่งมีพลังงานสำหรับใช้งาน 60 ชั่วโมง

 กรณีที่สองหากแบตเตอรี่ไม่มีพลังงานเหลือ ยังพอจะขับเคลื่อนต่อได้อีก 2-3 เดือนหากได้รับพลังงานจากแสงอาทิตย์เพียงพอที่จะมาช่วยชาร์จแบตเตอรี่ได้

 การไปลงจอดในมุมที่มีเงาบังเช่นนี้ทำให้ฟิเลได้รับแสงในช่วงเวลาเพียง 1 ชั่วโมงครึ่งต่อวัน แทนที่จะเป็น 6-7 ชั่วโมงเพื่อรีชาร์จแบตฯให้เต็มได้

 แม้อุปสรรคจะมาเป็นระลอกและก่อนที่ยานจะหมดพลังงานฟิเลส่งภาพถ่ายพื้นผิวดาวหางที่คมชัดมาให้ชาวโลกได้เห็นราวกับอยู่ใกล้ชิดแล้ว

 แม้ว่าตอนนี้แบตเตอรี่ของฟิเลจะหมดไปแล้วแต่ยานแม่โรเซ็ตต้าจะยังคงติดตามดาวหางนี้ ไปพร้อมกับที่ดาวหางโคจรรอบดวงอาทิตย์ โดยในวันที่ 13 สิงหาคม 2558 ทั้งดาวหางและยานจะอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดที่ระยะห่าง 185 ล้านกิโลเมตร ก่อนจะมุ่งหน้าเคลื่อนตัวออกจากระบบสุริยะ

 กว่าจะถึงวันนั้นยานสำรวจฟิเลและยานแม่โรเซ็ตต้าจะใช้เครื่องมือกว่า 21 ชนิด เพื่อวิเคราะห์และสำรวจดาวหางดวงนี้ โดยเฉพาะศึกษาสสารบนดาวหางอาจช่วยไขความลับจุดกำเนิดสิ่งมีชีวิตบนโลก และการกำเนิดสุริยจักรวาลได้












ออฟไลน์ Frungfeedti

  • medtech ปี 1
  • *
  • กระทู้: 2
    • อีเมล์
Re: ลุ้นมานาน 10 ปี ภารกิจยานยุโรปไล่เกาะดาวหาง
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: ธันวาคม 25, 2014, 10:56:54 am »
โหสุยอดเลยครับ ผมจะเอาใจช่วยนะครับขอให้สำเร็จเร็วนะครับ