ผู้เขียน หัวข้อ: แก้ปัญหายาเอดส์-วัณโรคตีกัน ยืดอายุผู้ป่วยเอดส์ระยะสุดท้าย  (อ่าน 1393 ครั้ง)

ออฟไลน์ webmaster

  • Administrator
  • medtech ปี เอก
  • *****
  • กระทู้: 3951
    • อีเมล์

นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ สถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

        “.. เพราะคนเป็นเอดส์ไม่ได้ตายด้วยเอดส์แต่ตายด้วยโรคแทรกซ้อน” หมอบำราศนราดูร ผนวกงานวิจัยยืดอายุคนไข้เอดส์ พัฒนาการรักษาเชิงลึกดูความสัมพันธ์การดื้อยาถึงระดับยีนในผู้ป่วยเอดส์และวัณโรค โรคคู่กรรมที่พบมากสุดในผู้ป่วยเอดส์ชาวไทย
       
       นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ สถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การระบาดของโรคเอดส์เป็นปัญหาทางด้านสาธารณสุขของทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศไทยที่มีจำนวนผู้ป่วยอยู่ไม่น้อย ผู้ป่วยเอดส์มีแนวโน้มเสียชีวิต หรือทุพพลภาพค่อนข้างสูงเพราะภูมิคุ้มกันมีต่ำ และสามารถติดเชื้อฉวยโอกาสได้ง่าย โดยเฉพาะวัณโรค ที่เป็นเชื้อฉวยโอกาสอันดับ 1 สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคเอดส์ในไทย
       
       ผู้ป่วยที่มีอาการซ้ำซ้อนจำเป็นต้องได้รับทั้งยาต้านไวรัส และยารักษาวัณโรคที่สม่ำเสมอ ในปริมาณที่เหมาะสม แต่เป็นที่น่าแปลกใจเพราะในกลุ่มคนไข้ที่ติดเชื้อเหมือนกัน ได้รับยาสม่ำเสมอแบบเดียวกันกลับมีผลการรักษาที่แตกต่างกัน บางคนอาการดีขึ้นจนสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้เช่นเดียวกับคนปกติ แต่บางคนกลับมีอาการที่แย่ลงเรื่อยๆ จึงเป็นที่มาในการศึกษาเชิงลึกว่า เพราะเหตุใดคนไข้ที่รักษาตัวดี ได้รับยาสม่ำเสมอถึงยังล้มเหลวในการรักษา เพื่อหาต้นตอของเหตุปัจจัยที่จะนำไปสู่การหาแนวทางการรักษาที่ถูกต้องในคนไข้แต่ละราย
       
       “ผมประจำอยู่ที่โรงพยาบาลบำราศนราดูรครับ ทำงานคลุกคลีอยู่กับผู้ป่วยเอดส์ตลอด ทำให้ทราบถึงปัญหาของผู้ป่วยเอดส์ค่อนข้างดี ผู้ป่วยเอดส์ในไทยมักจะติดเชื้อวัณโรคมากที่สุด เพราะผู้ป่วยเอดส์ภูมิคุ้มกันของพวกเขาจะลดลง ทำให้ร่างกายพร้อมที่จะรับโรคต่างๆเข้ามา โดยเฉพาะวัณโรคที่อาจจะได้รับเชื้อมาตั้งแต่สมัยยังแข็งแรงแต่เมื่อภูมิคุ้มกันหายไปโรคก็กลับเข้ามาโจมตี หรือได้รับโรคเข้ามาภายหลังต่างก็ติดเชื้อได้เช่นกัน โดยปัญหาระหว่าง 2 โรคนี้อยู่ที่ยารักษาของแต่ละโรค จะทำปฏิกริยาซึ่งกันและกัน ยารักษาวัณโรคที่ชื่อว่า “ไรแฟมปิซิน”จะไปกดฤทธิ์การรักษายาต้านไวรัสเอชไอวี “อีฟาไวเรนว์” ตัวยาหลักที่ใช้ในการรักษาในปัจจุบัน ทำให้ผู้ป่วยที่ติดโรคและได้รับยาทั้งสองชนิดพร้อมกัน มีโอกาสล้มเหลวในการรักษามากกว่าผู้ที่ไม่ติดวัณโรคร่วมด้วย” นพ.วีรวัฒน์ เผย
       
       โครงการ “มาช่วยกันลดโอกาสการเสียชีวิตในผู้ป่วยเอดส์ระยะสุดท้ายที่ป่วยเป็นวัณโรค” จึงเกิดขึ้นที่ นพ.วีรวัฒน์ ระบุว่ามีการศึกษาด้วยกันหลายส่วน ได้แก่ การศึกษาเชิงลึกถึงปัจจัยในร่างกาย ที่เป็นการศึกษาลักษณะบ่งชี้ทางเภสัชพันธุศาสตร์ เพื่อศึกษาความหลากหลายทางพันธุกรรมของยีน ที่กำหนดการทำหน้าที่ของเอนไซม์ในตับที่ทำการย่อยสลายยาต้านเอดส์ เพื่อตรวจยีน (CYP26B) ผ่านการเจาะเลือดในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงที่มีการติดเชื้อวัณโรคร่วมด้วย
       
       "ทำได้ง่ายและผู้ป่วยไม่เจ็บตัวเพิ่ม เพราะผู้ป่วยจำเป็นต้องตรวจเลือดก่อนการรับยาต้านเอดส์อยู่แล้ว การศึกษาปัจจัยทางชีวภาพต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เพศ อายุ น้ำหนัก และการศึกษาถึงปฏิกิริยาระหว่างยาต้านวัณโรคบางชนิด กับยาต้านเอดส์ในร่างกาย ที่พบว่าผู้ป่วยบางรายมีลักษณะทางพันธุกรรมที่ทำให้การออกฤทธิ์ของยาได้ผลน้อยกว่าที่ควร ประกอบกับผู้ป่วยที่มีน้ำหนักมากจะเป็นกลุ่มเสี่ยงของผู้ป่วยเอดส์ที่จะล้มเหลวในการรักษา" นพ.วีรวัฒน์กล่าว
       
       นอกจากนี้ยังศึกษาทางด้านคลินิกเพื่อหาระยะเวลาที่เหมาะสมในการเริ่มรักษาด้วยยาต้านเอดส์ในขณะที่กำลังป่วยเป็นวัณโรค ที่เป็นการศึกษาเปรียบกันระหว่างการให้ยาในผู้ป่วยในเดือนที่ 1 และเดือนที่ 3 ซึ่งผลการทดลองสรุปได้ว่า การเริ่มให้ยาต้านเอดส์ในขณะผู้ป่วยป็นวัณโรคที่ 1 เดือนมีแนวโน้มอัตราการเสียชีวิตน้อยกว่า เมื่อติดตามการรักษาครบ 1 ปี ซึ่งงานวิจัยนี้เป็นการศึกษาถึงระยะเวลาที่เหมาะสมในผู้ป่วยเอดส์คนไทยเป็นครั้งแรก
       
       “เราทำการศึกษาจากผู้ป่วยจริง จำนวน 139 คนในโรงพยาบาลบำราศนราดูร เพื่อหาวิธีการรักษาที่ดีและจำเพาะในกลุ่มบุคคล เพื่อให้พวกเขาดำรงชีวิตอยู่ได้นานที่สุด ซึ่งข้อดีของงานวิจัยที่ผมได้พัฒนาขึ้น จะช่วยให้แพทย์สามารถทำนายการรักษาของผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง และสามารถปรับขนาดยาเพิ่มได้ถูกกลุ่มเป้าหมาย จากที่แต่เดิมเมื่อสุ่มพบผู้ป่วยดื้อยาจะมีการเพิ่มขนาดยาให้กับผู้ป่วยทั้งหมด ซึ่งเป็นการเปลืองทรัพยากรและผู้ป่วยทั่วไปได้รับยาเกินจำเป็น” นพ.วีรวัฒน์ เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์



ศ.นพ.ดร. ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ ประธานกรรมการนโยบาย สกว. มอบรางวัล TRF-CHE-Scopus Research Awards 2014 แก่ นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ

        ทั้งนี้ผลการวิจัยทั้งหมดได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการชั้นนำระดับนานาชาติหลายฉบับ และทำให้ นพ.วีรวัฒน์ ได้รับรางวัล TRF-CHE-Scopus Research 2014 จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย หรือ สกว. และ และสํานักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)