ผู้เขียน หัวข้อ: ย้อนรอยประวัติศาสตร์ท่องอวกาศในนิทรรศการนาซา  (อ่าน 1665 ครั้ง)

ออฟไลน์ webmaster

  • Administrator
  • medtech ปี เอก
  • *****
  • กระทู้: 3951
    • อีเมล์


เปิดอย่างเป็นทางการแล้ว สำหรับงานที่คออวกาศตั้งตาคอย “NASA- A HUMAN ADVENTURE" นิทรรศการรวบรวมเรื่องราวด้านอวกาศครบเรื่อง ครบรส ที่ส่งตรงจากนาซา มาให้คนไทยได้ดูกันก่อนใครในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แบบไม่ต้องบินไปถึงสหรัฐฯ พร้อมไฮไลท์ชุดนักบินอวกาศ อาหารนักบินอวกาศ แผงบังคับการยานอพอลโลของจริง พร้อมเครื่องเล่นจำลองภาวะไร้แรงดึงดูดให้ผู้ชมได้ร่วมสัมผัสประสบการณ์นักบินอวกาศของจริงด้วยตัวเอง


ทางเข้าชมนิทรรศการ

        ก่อนเข้าชมนิทรรศการ ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ มีโอกาสได้พูดคุยกับ พลจัตวา ชาร์ล ดุค นักบินอวกาศอพอลโล 16 ผู้ที่เคยลงไปเหยียบดวงจันทร์สำเร็จเมื่อ 42 ปีก่อน ที่คราวนี้ร่วมเดินทางมากับคณะทำงานองค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐ หรือที่รู้จักกันดีในนาม "นาซา" เพื่อร่วมงานเปิดนิทรรศการอวกาศในประเทศไทย ถึงสิ่งที่ผู้ชมจะได้รับหลังจากเข้าชมนิทรรศการนี้
       
       “มันมีอะไรมากกว่าเรื่องอวกาศ มันไม่ใช่แค่การออกนอกโลก แต่มันจะทำให้เด็กๆ ที่มาดูงานคิดได้ใหญ่ขึ้น กว้างขึ้น คนที่ได้มาดูจะเกิดแรงบันดาลใจ รักอวกาศ รักวิทยาศาสตร์ แต่จะมากน้อยแค่ไหนต้องลองเข้าไปชมเอง” นายพลดุคก็ตอบกลับมา เมื่อได้ฟังเช่นนี้ทีมข่าววิทยาศาสตร์จึงตรงเข้าไปที่งานทันที



ส่วนบอกเล่าประวัติศาสตร์การพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของสหรัฐ และโซเวียต

        เมื่อเดินเข้าไปด้านใน สิ่งแรกที่ทุกคนจะได้พบคือ ห้องเล็กๆ ที่จะแบ่งคนออกเป็นกลุ่มย่อย เพื่อชมคลิปความเป็นมา และการแบ่งสัดส่วนของงานที่จะทำให้ผู้เข้าชมสามารถเดินชมงานได้ทั่วถึงและเข้าใจมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการจำกัดจำนวนผู้ชมไม่ให้เกิดปัญหาแย่งกันดูจนเบียดเสียดยัดเยียดเกินไป จึงมั่นใจได้ว่าคนที่มาชมนิทรรศการนี้จะได้รับความรู้ และถ่ายภาพได้อย่างทั่วถึงแน่นอน


ชุดนอน และข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวคอลเลกชันนักอวกาศ

       

http://mpics.manager.co.th/pics/Images/557000014333408.JPEG
กระเป๋าพลาสติก ที่ยูริ กาการิน นำขึ้นไปใช้ในห้วงอวกาศ

       


มุมจำลองการประกาศการขับเคลื่อนเทคโนโลยีอวกาศ ของประธานาธบดี จอห์น เอฟ เคเนดี

        ถัดจากส่วนนี้ไปจะเป็นส่วนของประวัตินักวิทยาศาสตร์ นักการละคร ผู้ริเริ่มทำให้อวกาศกลายเป็นที่สนใจของประชาชนในยุคนั้นๆ เช่นเดียวกับห้องถัดมาที่เป็นส่วนของการเล่าเรื่องราวการแข่งขันการเป็นเจ้าแห่งเทคโนโลยีอวกาศระหว่างสหภาพโซเวียตในขณะนั้น และสหรัฐฯ ที่ค่อนข้างรุนแรงแต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการแข่งขันกันของ 2 ประเทศมหาอำนาจในครั้งนั้น เป็นสิ่งที่ทำให้วงการอวกาศเจริญรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว มีการจัดแสดงรูปของผู้นำประเทศ และรูปนักบินอวกาศรุ่นแรกๆ ที่ขึ้นไปปฏิบัติภารกิจบนอวกาศ ทั้งที่ทำได้สำเร็จสามารถกลับมายังพื้นโลก รวมถึงนักบินอวกาศผู้เสียสละที่ต้องเสียชีวิตระหว่างปฏิบัติภารกิจ และข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวของนักบินอวกาศชื่อก้องโลกอย่าง ยูริ กาการิน ที่นำติดตัวขึ้นไปปฏิบัติภารกิจบนอวกาศ


โมเดลจรวดอัตราส่วน 1:72

       


โมเดลเครื่องยนต์จรวดไททันขนาดใหญ่ที่ใช้ในโครงการสำรวจอวกาศเจมิไน ในอัตราส่วน 1:1

        ส่วนต่อมาเป็นส่วนจัดแสดงเทคโนโลยีอวกาศ ที่น่าจะถูกใจสำหรับผู้รักเครื่องยนต์กลไก เพราะในห้องนี้ เป็นห้องที่จัดแสดงจรวดในยุคต่างๆ ที่จะมีความพิเศษและลักษณะที่แตกต่างกันไปตามโปรแกรมการพัฒนาและเทคโนโลยีการสร้าง ทั้งในรูปแบบของโมเดลเครื่องยนต์จรวดไททันขนาดใหญ่ที่ใช้ในโครงการสำรวจอวกาศเจมิไน ในอัตราส่วน 1:1 ที่เผยให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่อลังการ และซับซ้อนของเครื่องมือ และโมเดลจรวดรุ่นต่างๆ ในอัตราส่วน 1:72 ที่ถึงแม้จะมีขนาดเล็ก แต่รายละเอียดของตัวจรวดก็ได้ถูกบรรยายไว้อย่างละเอียด เพื่อให้ผู้ชมงานเข้าใจและสามารถเปรียบเทียบประสิทธิภาพ ขนาดของจรวดแต่ละรุ่นได้อย่างใกล้ชิด


ส่วนหัวของจรวดจูปิเตอร์ (Jupiter nose cone)

        หากไม่ระบุถึงไฮไลท์ของงานอย่าง “ของที่เคยผ่านการใช้งานในอวกาศ” คงเป็นไม่ได้ เพราะภายในนิทรรศการนี้ได้มีการนำอุปกรณ์และชิ้นส่วนของจริงที่เคยผ่านการใช้งานในอวกาศจริงหลายชิ้น มาจัดแสดงไว้ให้ชมได้เห็นกันด้วยตาตัวเอง เริ่มจากส่วนหัวของจรวดจูปิเตอร์ (Jupiter nose cone) ที่เคยบรรทุกเจ้าลิงเอเบิล และเบเกอร์ ลิงคู่แรกไปกับปลายแหลมของยานไปในอวกาศและสามารถรอดชีวิตกลับมาได้สำเร็จ เพื่อทดสอบการมีชีวิตอยู่ของสิ่งมีชีวิตในอวกาศก่อนที่ภายหลังจะมีการส่งมนุษย์ขึ้นไป ซึ่งเป็นหัวจรวดที่ทำจากเซรามิกส์ มีขนาดใหญ่ ที่เก็บกู้ได้จากทะเลโดยความบังเอิญของสามีภรรยาชาวอเมริกัน


ชุดอวกาศอพอลโล

       


ชุดอวกาศอพอลโล A7L8

        สิ่งสำคัญที่เป็นเอกลักษณ์ของนักบินอวกาศ คือ ชุดอวกาศที่ต้องสวมใส่ทั้งขณะฝึก และขณะออกไปปฏิบัติภารกิจ ในครั้งนี้มีมาให้ชมหลายรุ่น หลายชุด แต่ชุดที่นักบินอวกาศเคยสวมใส่จริงมีอยู่ด้วยกัน 2 ชุดคือ ชุดอวกาศอพอลโล ลักษณะบางเบา ที่นักบินอวกาศจอห์น ยัง ใช้สวมใส่ในการฝึกภารกิจอพอลโล 16 และชุดอวกาศอพอลโล A7L8 ที่มีความหนาและความซับซ้อนของภายในมากกว่าเพราะ คุณสมบัติของชุดคือสามารถป้องกันอันตรายนักบินอวกาศขณะเผชิญสภาวะแวดล้อมบนดวงจันทร์ได้ ซึ่งมีความหนาถึง 11 ชั้น และมีน้ำหนักรวมทั้งสิ้น 82 กิโลกรัม ที่นำมาจัดแสดงไว้ในตู้โชว์ให้ผู้ชมสามารถเรียนรู้และเก็บภาพถ่ายได้


ของใช้ส่วนตัวของนักบินอวกาศ

       


อาหารของนักบินอวกาศ (จากซ้ายไปขวา) น้ำส้มเกรปฟรุ๊ต, กาแฟ และเบคอน

       


ผ้าอ้อมซึมซับชั้นดีเก็บของเสียของนักบินอวกาศ และของใช้ประจำวัน

        การรับประทานอาหาร และการขับถ่ายของนักบินอวกาศ เป็นอีกส่วนหนึ่งของนิทรรศการที่คนให้ความสนใจ เพราะเป็นปัจจัยพื้นฐานของการดำรงชีวิตและคนส่วนมากจะนึกภาพไม่ออกว่าขณะอยู่ในอวกาศไร้แรงดึงดูด เหล่านักบินอวกาศจะทำกิจกรรมเหล่านี้ได้อย่างไร ซึ่งหากใครได้เข้ามานิทรรศการนี้ก็จะต้องร้อง อ๋อ และรู้สึกสงสารนักบินอวกาศไปในเวลาเดียวกัน เพราะอาหารสำเร็จรูปและอาหารกระป๋องของนักบินอวกาศดูไม่ค่อยน่าทานนัก แต่ก็เป็นสิ่งที่นักวิจัยคิดค้นมาให้เรียบร้อยแล้วว่าเหมาะสมขณะดำรงชีวิตอยู่ในอวกาศ


ลูนาร์โรเวอร์ ยานที่ใช้ในการสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์มาแล้วกว่า 3 ภารกิจ

        ส่วนสุดท้ายสำหรับนิทรรศการ เป็นส่วนจัดแสดงรถยนต์อวกาศ ห้องบังคับการภาคพื้นโลกและภาคอวกาศ แผงบังคับยานและเครื่องยนต์ลูนาโมดูลที่ร่อนลงบนดวงจันทร์ และแผงบังคับการจำลองของยานอพอลโล ที่จำลองขึ้นเสมือนจริงประกอบด้วยเครื่องมือในการฝึกจริงด้านใน และร่มชูชีพขนาดยักษ์ที่ใช้ในการลงสู่พื้นโลกของนักบินอวกาศก็ได้ถูกนำมาจัดแสดงทางด้านบนอาคาร สร้างสีสันสวยงามให้กับการนิทรรศการได้เป็นอย่างดี


(ด้านขวา) ยานอวกาศเจมิไนจำลองขนาดเท่าของจริง

       


ยานลูโนคอด ยานพาหนะของรัสเซียใช้สำหรับการสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์จากการควบคุมระยะไกล

       


ส่วนหัวของยานแอดแลนติสจำลอง

       


ส่วนประกอบบางส่วนของยานอพอลโล

       


เตียงนอนโครงการสกายแล็บ

       


กระสวยอวกาศเมอร์คิวรี่จำลอง

       


กล้องชนิดต่างๆ ที่ใช้ในภารกิจอพอลโล

       



        นอกเหนือจากส่วนของนิทรรศการเทคโนโลยีอวกาศนิทรรศยังมีมุมเครื่องเล่นให้ผู้เข้าชมได้ร่วมสนุกด้วย เครื่องเล่นที่ไม่ควรพลาด คือ เครื่อง G-Force Simulator ซึ่งเป็นเครื่องทดสอบแรง G ขณะยานอวกาศทะยานออกสู่วงโคจรโลก และขณะกลับเข้าสู่ภาคพื้นโลกอีกครั้งหนึ่ง ซี่งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์เอง ได้ลองเล่นเครื่องนี้ด้วย นับเป็นการเปิดประสบการณ์แบบแรงโน้มถ่วงต่ำที่ผู้รักความหวาดเสียวไม่ควรพลาด แต่ก็ไม่แนะนำสำหรับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ เพราะอาจทำให้เวียนหัวจนคลื่นไส้อาเจียนได้เช่นกัน ท้ายสุดสำหรับมุมเก็บภาพความประทับใจภายในนิทรรศการก็มีหลายมุม ที่ได้ทำไว้เพื่อให้ผู้เข้าชมได้ถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึกโดยเฉพาะ ทั้งในส่วนของการถ่ายภาพในชุดนักบินอวกาศ หรือการถ่ายภาพในสภาวะไร้น้ำหนักก็ได้รับความนิยมค่อนข้างมากสำหรับผู้เข้าชม


G-Force Simulator

        นิทรรศการอวกาศ "นาซา เอ ฮิวแมน แอดเวนเจอร์" จัดขึ้น ณ บางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว ผู้สนใจสามารถซื้อบัตรเข้าชมได้ที่หน้างาน หรือทางไทยทิกเก็ตเมเจอร์ได้ทุกสาขา ราคาเข้าชมสำหรับเด็กที่มากับสถานศึกษาจะได้รับส่วนลดเหลือเพียงคนละ 150 บาท, สำหรับเด็กที่มีบัตรนักเรียน-บัตรนักศึกษา วันธรรมดา ราคา 250 บาท วันหยุด 350 บาท, สำหรับสำหรับผู้ใหญ่วันธรรมดาราคา 400 บาท วันหยุด 500 บาท หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ www.thaiticketmajor.com ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 1 ก.พ. 58