ผู้เขียน หัวข้อ: นักดาราศาสตร์เชื่อ "รูหนอน"อยู่กลาง"กาแล็กซี"  (อ่าน 1494 ครั้ง)

ออฟไลน์ webmaster

  • Administrator
  • medtech ปี เอก
  • *****
  • กระทู้: 3951
    • อีเมล์


"อินเตอร์ สเตลลาร์" ภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์ที่เพิ่งลงโรงฉายในบ้านเราไปเมื่อปลายปีที่แล้ว พูดถึงความพยายามของนักวิทยาศาสตร์ชื่อดังขององค์การบริหารการบินและอวกาศ แห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐอเมริกา ที่พยายามจะกู้วิกฤตวันสิ้นโลก ด้วยการนำพลโลกเดินทางออกไปผ่านทาง "รูหนอน" ขนาดยักษ์

คำถามก็คือ ในความเป็นจริงแล้ว "รูหนอน" มีอยู่หรือไม่? ถ้ามีอยู่ตรงไหนกันแน่?

ผล งานการศึกษาล่าสุดที่เผยแพร่ใน แอนนัลส์ ฟิสิกส์ วารสารวิชาการทางดาราศาสตร์ฟิสิกส์เมื่อ 22 มกราคมที่ผ่านมา ของทีมนักดาราศาสตร์ฟิสิกส์จากประเทศอิตาลี เชื่อว่า "รูหนอน" ที่ว่านี้ไม่เพียงมีอยู่จริง แต่ยังอาจอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งบริเวณใจกลางของกาแล็กซีทางช้างเผือกของเรานี่เอง

"รูหนอน" หรือ "เวิร์มโฮลส์" โดยพื้นฐานคือหลุมดำ 2 หลุมที่แยกอยู่ห่างจากกันด้วยระยะห่างมหาศาลในห้วงอวกาศ แต่เชื่อมต่อกันอยู่ด้วย "สะพาน" พิเศษที่อยู่ในรูปของอุโมงค์ ซึ่งเกิดจากการบิดงอของกาลและอวกาศ (สเปซแอนด์ไทม์) จนกลายเป็นเหมือนทางลัดที่ก้าวข้ามทั้งระยะทางและระยะเวลา ทำให้หลุมดำทั้งสองหลุมเสมือนหนึ่งอยู่ใกล้กันเพียงนิดเดียว ช่องทางอุโมงค์ที่ทำหน้าที่เป็น "สะพาน" ที่ว่านั้น เชื่อกันว่าสามารถใช้เป็นช่องทางในการเดินทางข้ามระยะทางหลายร้อยหรือหลาย ล้านปีแสงในจักรวาลได้ในระยะเวลาเพียงสั้นๆ เท่านั้น

ถ้าจะอุปมา อุปไมยให้เข้าใจได้ง่ายเข้า ก็ต้องนึกถึงมดกับแอปเปิล ถ้าหากมดจะไต่จากจุด ก. ที่อยู่ด้านหนึ่งไปยังจุด ข. บนเปลือกแอปเปิลอีกด้านหนึ่ง มดสามารถค่อยๆ เดินใช้เวลาไปตามสบาย ไปตามแนวโค้งทั้งหมดของผลแอปเปิล ไม่เช่นนั้นก็สามารถเลือกใช้อีกทางที่ใช้เวลาน้อยกว่ากันมาก นั่นคือผ่านทาง "รูหนอน" ที่เจาะทะลุผ่านเนื้อแอปเปิลไปยังอีกด้านหนึ่งนั่นเอง

ทีมนักวิจัยดาราศาสตร์ฟิสิกส์จากสำนักนานาชาติ สถาบันศึกษาก้าวหน้าแห่งทรีสเต ในประเทศอิตาลี นำโดย เปาโล ซาลุชชี นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องสสารมืด เชื่อว่าสสารมืด (ดาร์ค แมทเทอร์) สสารเชิงทฤษฎีเชื่อกันว่ามีรูปลักษณ์แปลกไปจากสสารทั่วไป เนื่องจากไม่ก่อให้เกิด "แสง" หรือ "การแผ่รังสี" ใดๆ ออกมา และเชื่อกันว่ามีอยู่มากมายในจักรวาลนั้น ที่มีส่วนเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับ "รูหนอน" หรือพูดในอีกทางหนึ่งว่า สสารมืดก็คือส่วนหนึ่งของหลุมดำนั่นเอง

ซาลุชชีบอกว่า ถ้าเราจัดทำแผนที่สสารมืดในกาแล็กซีทางช้างเผือกขึ้นมา นำไปรวมเข้ากับแบบจำลอง "บิ๊กแบง" ที่ใช้อธิบายปรากฏการณ์กำเนิดจักรวาล แล้วตั้งสมมุติฐานขึ้นเป็นทฤษฎีว่า มีอุโมงค์ "กาล-อวกาศ" ปรากฏอยู่จริง เราก็จะได้ทฤษฎีที่ว่า กาแล็กซีทางช้างเผือกของเราจริงๆ แล้วอาจมีอุโมงค์ที่ว่านั้นอยู่ และทั้งหมดที่ประกอบขึ้นเป็นอุโมงค์นั่นอาจมีขนาดเท่ากับกาแล็กซีทางช้าง เผือกของเราก็เป็นได้

ตามการวิเคราะห์ของทีมพบว่า ปากอุโมงค์ที่เป็นรูหนอนที่ว่านี้มีขนาดใหญ่มหึมา มีเส้นผ่านศูนย์กลางคิดเป็นระยะทางถึง 10,000 ปีแสงเลยทีเดียว

นอกจากนั้น จากการคำนวณของทีมวิจัยพบว่า อุโมงค์ที่อยู่ในใจกลางกาแล็กซีของเรานั้น อาจสามารถใช้เดินทางเป็นทางลัดไปสู่กาแล็กซีอื่นๆ เหมือนอย่างในภาพยนตร์อินเตอร์สเตลลาร์ว่าไว้ได้อีกด้วย

แม้ว่าตอนนี้จะยังเป็นเพียงทฤษฎีและสมการคณิตศาสตร์เท่านั้นก็ตาม