ผู้เขียน หัวข้อ: รู้จักเลือก รู้จักเลี่ยง ความดันโลหิตสูงไม่เสี่ยง  (อ่าน 843 ครั้ง)

ออฟไลน์ bigpoint

  • medtech ปี เอก
  • ******
  • กระทู้: 854


>> More article..
 
   

รู้จักเลือก รู้จักเลี่ยง ความดันโลหิตสูงไม่เสี่ยง

     โรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่พบบ่อยในคนไทย จากสถิติพบว่าคนไทยอายุ 45-70 ปีเป็นโรคความดันโลหิตสูง ประมาณร้อยละ 30 ขณะที่คนอายุ 70 ปีขึ้นไปเป็นเกือบร้อยละ 50 HealthToday ฉบับนี้จึงมีข้อมูลเกี่ยวกับโรคความดันโลหิตสูง จาก ผศ.นพ.สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด มานำเสนอ เพื่อให้ผู้อ่านได้ใช้ในการป้องกันตัวเอง รวมถึงรู้วิธีการรับมือหากเป็นโรคนี้

ความโลหิตดันสูงเป็นอย่างไร
     บางคนเปรียบเทียบความร้ายกาจของโรคความดันโลหิตสูงว่าเป็นภัยเงียบ หรือบางคนก็เรียกว่าเป็นฆาตกรเงียบ เพราะไม่มีอาการ ประเภทบทจะมาก็มา บทจะไปก็ไป โดยผู้ป่วยไม่รู้ตัว และบ่อยครั้งก็ก่อให้เกิดปัญหา แต่ก่อนที่จะมาดูว่าความดันโลหิตสูงทำให้เกิดปัญหาอย่างไร เรามาทำความรู้จักกับคำว่าความดันโลหิตกันก่อนว่าหมายถึงอะไร

      อย่างที่เราทราบว่าค่าความดันโลหิตจะมี 2 ตัว คือ ความดันตัวบน หรือที่ทางการแพทย์เรียกว่าซีสโตลิก (systolic) ซึ่งเป็นความดันที่วัดในช่วงที่หัวใจบีบตัว และความดันตัวล่าง คือ ไดแอสโตลิก (diastolic) เป็นความดันช่วงหัวใจคลายตัว ซึ่งความดันโลหิตสูงก็คือการความดันตัวใดตัวหนึ่งมีค่าสูงกว่าปกติและสูงอยู่ตลอด

      โดยความดันปกติของคนเราควรจะอยู่ในระดับ 120/80 แปลว่า ความดันตัวบน 120 มิลลิเมตรปรอท และความดันตัวล่าง 80 มิลลิเมตรปรอท แต่หากวัดความดันแล้วได้ตัวเลข 140/90 หมายความว่า ความดันตัวบนสูงกว่าปกติ เพราะเกิน 120 มิลลิเมตรปรอท และความดันตัวล่างก็สูงกว่าปกติเช่นกัน เพราะเกิน 80 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งถ้าความดันอยู่ในระดับนี้อย่างน้อย 2 สัปดาห์ขึ้นไป ก็สรุปได้ว่าคนนั้นเป็นโรคความดันโลหิตสูง เพราะความดันสูงกว่าระดับปกติและสูงอยู่ตลอด

ความร้ายกาจของความดันโลหิตสูง
     ความดันโลหิตสูงเป็นสาเหตุการเสียชีวิต (ที่เกิดจากสาเหตุที่สามารถป้องกันได้) เป็นอันดับ 1 ของชาวโลก เนื่องจากความดันโลหิตสูงเป็นตัวจุดฉนวนให้เกิดโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต และกล้ามเนื้อหัวใจตาย เนื่องจากหัวใจขาดเลือด โดยทุกๆ ความดันโลหิตที่เพิ่มขึ้น 10 มิลลิเมตรปรอทตัวบน หรือ 5 มิลลิเมตรปรอทตัวล่าง จะเพิ่มอัตราการเสียชีวิต 1.5 เท่า เมื่อเวลาผ่านไป 5-10 ปี คือ คนที่มีความดันตัวบน 150 มิลลิเมตรปรอท มีโอกาสเสียชีวิตจากเส้นเลือดหัวใจตีบ กล้ามเนื้อหัวใจตาย และเป็นอัมพาต สูงกว่าคนที่มีความดันตัวบน 140 มิลลิเมตรปรอท 1.5 เท่า เมื่อเวลาผ่านไป 5-10 ปี เช่นเดียวกับคนที่ความดันตัวล่าง 100 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งมีโอกาสจะเสียชีวิตจากเส้นเลือดหัวใจตีบ กล้ามเนื้อหัวใจตาย และเป็นอัมพาต มากกว่าคนที่ความดันตัวล่าง 95 มิลลิเมตรปรอท จากเส้นเลือดหัวใจตีบ กล้ามเนื้อหัวใจตาย และเป็นอัมพาต 1.5 เท่า เมื่อเวลาผ่านไป 5-10 ปีเช่นกัน

      นอกจากนี้คนที่เป็นความดันโลหิตสูงยังมีสถานะเป็นว่าที่อัมพาต ว่าที่ไตวาย และว่าที่หัวใจวาย เพราะความดันโลหิตสูงสามารถก่อให้เกิดปัญหาสำคัญกับอวัยวะสำคัญ 4 อวัยวะ ได้แก่ สมอง หัวใจ ไต ตา

      โดยผลกระทบของความดันโลหิตสูงกับสมอง คือ จะทำเกิดเส้นเลือดสมองตีบ เพราะความดันโลหิตสูงจะทำให้น้ำเลือดกระแทกผนังหลอดเลือดอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งผนังหลอดเลือดฉีกขาด เกิดเป็นแผลปริแตก เมื่อเลือดแห้ง ก็จะกลายเป็นก้อนเลือด ปิดกั้นไม่ให้ไหลเวียนได้สะดวกจนอาจอุดตันในที่สุด ส่วนไขมันสูง น้ำตาลสูง และการสูบบุหรี่จะเป็นปัจจัยที่ช่วยเพิ่มขนาดก้อนเลือดให้โตขึ้น จนทำให้เส้นเลือดอุดตันในที่สุด ซึ่งถ้าเกิดการอุดตันในหลอดเลือดสมองนาน 6 ชั่วโมงก็จะทำให้เป็นอัมพาต ถ้าเกิดที่หลอดเลือดหัวใจ 6 ชั่วโมงก็จะเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือบางรายอาจเป็นหัวใจขาดเลือด โดยอาการที่แสดงออก คือ เจ็บหน้าอก หรือเป็นอัมพฤกษ์

สัญญาณเตือนภัยหลอดเลือดสมองตีบ
     ฉะนั้นคนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงควรรู้จัก 5 สัญญาณเตือนภัยที่อาจจะใช้ในการสังเกตว่า คุณมีโอกาสที่จะเป็นหลอดเลือดสมองตีบ ซึ่งอาจจะทำให้เป็นอัมพาต หรือไม่

     1. ยิ้มไม่ออก คือยิ้มแล้วมุมปากตกไปข้างหนึ่ง แทนที่จะสูงขึ้นทั้งสองข้าง หรือปากเบี้ยวนั่นเอง

     2. พูดไม่ชัด เพราะลิ้นแข็ง

     3. ปวดหัวไม่หายและปวดมากอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน อันเป็นอาการที่แสดงว่า เส้นเลือดสมองกำลังจะแตก

     4. หงายมือไม่ได้ โดยอาจจะทดลองชูมือมาข้างหน้า แล้วหงายมือทั้งสองข้างค้างไว้สักพัก ถ้าคว่ำหรือเกร็งไม่ได้ แสดงว่ากล้ามเนื้ออ่อนแรง มีโอกาสจะเป็นอัมพฤกษ์ได้

     5. ตามัวหรือมองไม่เห็นอย่างเฉียบพลัน โดยอาจจะเห็นเป็นลักษณะว่าไฟดับแล้วก็สว่างขึ้นอย่างรวดเร็ว
และหากวัดจังหวะการเต้นของหัวใจแล้วพบว่า การเต้นของหัวใจไม่สม่ำเสมอ บางครั้งแรง บางครั้งเบา บางครั้งเร็ว บางครั้งช้า ก็สะท้อนว่ามีก้อนเลือดในสมองที่พร้อมจะแตกเมื่อความดันเพิ่มขึ้น

      นอกจากจะทำให้เส้นเลือดในสมองตีบแล้ว ความดันโลหิตสูงยังมีผลต่อหัวใจด้วย เพราะก่อให้เกิดเส้นเลือดหัวใจตัน จนอาจทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย โดยบางรายจะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก ร้าวไปที่แขน หลัง ไหล่ และคอ เพราะเส้นเลือดหัวใจมีไขมันพอก เนื่องจากเมื่อความดันโลหิตสูงจะทำให้เส้นเลือดปริแตกเป็นแผล มีก้อนเลือดมาอุดตันที่หลอดเลือดหัวใจ เส้นเลือดหัวใจจึงตัน และหากไม่มีเลือดออกจากหัวใจนาน 4 นาที กล้ามเนื้อหัวใจก็จะตาย และทำให้ผู้ป่วยกลายเป็นเจ้าชายหรือเจ้าหญิงนิทรา แต่ถ้านานกว่านั้นก็จะเสียชีวิต และนี่ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยที่มีอาการกล้ามเนื้อหัวใจตายเสียชีวิตก่อนไปถึงโรงพยาบาล โดยในสหรัฐอเมริกามีสถิติว่า ผู้ป่วยเสียชีวิตก่อนไปถึงโรงพยาบาลประมาณร้อยละ 3-4 และอีกร้อยละ 17 เสียชีวิตหลังออกจากโรงพยาบาลแล้ว

สาเหตุความดันโลหิตสูง
     ความดันโลหิตสูงเกิดจากหลายสาเหตุ อาทิ

      1. การหยุดหายใจขณะนอนกรน สังเกตได้โดยเอาฝ่ามือไปอังที่จมูกขณะกรนว่า ช่วงที่หยุดกรนมีลมออกมาปะทะมือหรือไม่ หากไม่มีให้จับเวลา 10 วินาที นับเป็น 1 ครั้ง หากภายใน 1 ชั่วโมง หยุดหายใจเกิน 5 ครั้ง ควรต้องไปพบแพทย์ เพราะในช่วงที่หยุดหายใจ ร่างกายจะขาดออกซิเจน ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น มีโอกาสเป็นอัมพาตได้ โดยผู้ที่หยุดหายใจขณะนอนกรนเกิน 25 ครั้งต่อชั่วโมง จะมีโอกาสเสียชีวิตและเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตเพิ่มขึ้น 2 เท่า เมื่อเทียบกับคนที่หยุดหายใจขณะนอนกรนน้อยกว่า 5 ครั้งต่อชั่วโมง

      2. การใช้ยา ยาที่เป็นสาเหตุของโรคความดันโลหิตสูงมีหลายชนิด ที่พบบ่อยคือการรับประทานยาแก้ปวดติดต่อกัน

      3. การอดนอนหรือนอนน้อย ก็เป็นสาเหตุของโรคความดันโลหิตสูงเช่นกัน

ดูแลอย่างไรเมื่อความดันโลหิตสูง
     ความดันโลหิตสูงเป็นตัวที่บ่งชี้ว่า เรากำลังใช้ชีวิตอย่างไม่สมดุล ซึ่งส่งผลให้ธาตุทั้ง 4 ภายในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ มีมากเกินไป ด้วยสาเหตุต่อไปนี้

      ธาตุดินก็คือการรับประทานอาหารมากเกินไป เพราะอาหารทุกอย่างมาจากดิน พืชโตจากดิน จากนั้นสัตว์ก็กินพืชอีกที คนก็กินทั้งพืชและสัตว์ ซึ่งเมื่อเรารับประทานอาหารมากเกินไปร่างกายจะไม่สามารถนำไปใช้ได้หมด นอกจากจะทำให้ตัวใหญ่หรืออ้วนแล้ว ความดันโลหิตก็จะสูงอีกด้วย ดังนั้นเราจึงควรรับประทานอาหารในปริมาณที่พอเหมาะ รวมถึงควรลดอาหารหวาน เพราะตามมาตรฐานคนไทยควรกินน้ำตาลเพียงวันละ 6-8 ช้อนชา แต่ปัจจุบันคนไทยกินน้ำตาลเฉลี่ยคนละ 23 ช้อนชา ซึ่งนอกจากจะทำให้เป็นความดันโลหิตสูงแล้วน้ำตาลทำให้มีคอเลสเตอรอล และทำให้เป็นโรคเบาหวานอีกด้วย

      ธาตุน้ำเกินหมายถึงกินเกลือมากเกินไป เพราะปกติน้ำจะไม่มาเดี่ยวๆ ต้องมีเกลือ(โซเดียม)นำ ซึ่งปัจจุบันคนไทยกินเกลือในปริมาณที่สูงมาก โดยตามมาตรฐานควรกินเกลือไม่เกิน 2,400 มิลลิกรัมต่อวัน แต่คนไทยกินเกลือเฉลี่ย 4,000 – 5,000 มิลลิกรัมต่อวันทีเดียว

      ธาตุไฟคือความโกรธ คนที่มีธาตุไฟเกินคือผู้ที่สะสมความโกรธเอาไว้มาก หรือที่เราอาจจะเรียกว่าไฟสุมทรวง บางคนโกรธง่ายหายเร็ว ทำให้ความดันสูงเร็ว ลดเร็ว ซึ่งไม่เป็นไร ขณะที่ประเภทโกรธแล้วเก็บจะทำให้ความดันสูงขึ้นนานจนเป็นอันตราย จึงควรแก้ไขด้วยการทำจิตใจให้ปลอดโปร่ง ไม่โกรธง่าย และรู้จักการให้อภัย

      ธาตุลมเกินคือการใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบ รวมถึงต้องทำงานแข่งกับเวลา ทำให้เกิดความเครียด ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น วิธีการลดธาตุลมก็คือพยายามไม่เครียด ด้วยการอยู่กับปัจจุบันและทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด อย่าอยากมี อยากได้ อยากเป็นในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ หรือหวนหาสิ่งที่ผ่านมาแล้วในอดีต หรือยังมาไม่ถึงในอนาคต

การรักษาที่ต้นเหตุ
     การรักษาโรคความดันโลหิตสูงด้วยยา ซึ่งมีอยู่ 3 ชนิด คือ ยาขับเกลือ หรือขับปัสสาวะ ยาที่ทำให้หัวใจเต้นช้า หรือเต้นเบาลง และยาขยายหลอดเลือด ถือว่าเป็นการรักษาที่ปลายเหตุ ส่วนปัจจัยที่ช่วยให้ความดันสูงดีขึ้น ซึ่งเป็นการรักษาที่ต้นเหตุนั้น ผู้ป่วยจะต้องทำเอาเอง ดังนี้

      1. ลดน้ำหนัก เพราะน้ำหนักตัวที่ลดลง 10 กิโลกรัมจะทำให้ความดันโลหิตลดลง 5-20 มิลลิเมตรปรอท และถ้าต้องการลดน้ำหนักครึ่งกิโลกรัมจะต้องได้รับแคลอรีลดลง 500 กิโลแคลอรี/วัน ด้วยการลดปริมาณอาหารลง จากที่เคยรับประทานอาหารเต็มจานก็ให้ลดลงมาเหลือครึ่งจาน แล้วเพิ่มผักเข้าไป รวมถึงออกกำลังกายด้วยการเดินวันละ 1 ชั่วโมง ทำอย่างนี้ 1 สัปดาห์ น้ำหนักจะลดลงครึ่งกิโลกรัม

      2. ออกกำลังกาย พยายามนั่ง นอน ดูทีวีให้น้อยลง ออกกำลังกายให้มากขึ้น โดยอาจจะเดินเร็ววันละ 30นาที ซึ่งการเดินเร็ว คือ การเดินเร็วในระดับที่เราไม่สามารถพูดต่อเนื่องกันได้

      3. กินอาหารลดความดัน โดยรับประทานพืชสด 2 ฝ่ามือ/มื้อ ผลไม้ 2 ฝ่ามือ/วัน ลดเกลือ (รับประทานน้ำปลาไม่เกิน 1/2 ช้อนโต๊ะ/มื้อ) รับประทานเนื้อสัตว์ให้น้อยลง โดยเฉพาะหมู ไก่ แต่เพิ่มการรับประทานปลาให้มากขึ้นเป็น 2 เท่า ลดอาหารรสจัด ทั้งนี้มีสมุนไพร 2 ชนิดที่มีสรรพคุณช่วยลดความดันโลหิตได้ คือ กระเจี๊ยบและหญ้าหวาน

      4. เลิกดื่มแอลกอฮอล์

จึงไม่ผิดที่จะกล่าวว่า การลดความดันโลหิตให้สำเร็จ คือ ต้องเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของตัวคุณเอง
ที่มาhttp://www.healthtoday.net