ผู้เขียน หัวข้อ: ผลกระทบของกัมมันตรังสีต่อสุขภาพ เหตุการณ์  (อ่าน 818 ครั้ง)

ออฟไลน์ bigpoint

  • medtech ปี เอก
  • ******
  • กระทู้: 854

ผลกระทบของกัมมันตรังสีต่อสุขภาพ เหตุการณ์

     แผ่นดินไหวขนาด 8.9 ริกเตอร์ ที่เมืองเซนได จังหวัดมิยากิ เมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา ได้ก่อให้เกิดความหวาดหวั่นไปทั่วโลก เพราะนอกจากจะเกิดคลื่นยักษ์สึนามิกลืนกินชีวิตเพื่อนมนุษย์ไปเป็นจำนวนมากแล้ว ผู้คนยังเกรงว่าจะได้รับอันตรายจากสารกัมมันตรังสีที่รั่วไหลจากการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะแห่งที่หนึ่ง (หรือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิ) ผ่านการแพร่กระจายผ่านชั้นบรรยากาศ กระแสน้ำทะเล และการปนเปื้อนในอาหารที่ส่งออกมาจากญี่ปุ่น

     รศ.มลุลี ตัณฑวิรุฬห์ นักฟิสิกส์การแพทย์ ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบของรังสีต่อร่างกายมนุษย์ว่า สามารถเกิดขึ้นได้ 2 ทางด้วยกันคือ

      1. จากการได้รับรังสีในปริมาณที่สูงเกินขีดจำกัด เพราะเข้าไปอยู่ในบริเวณที่มีอัตราการแผ่รังสีสูงมากๆ อันอาจจะเกิดจากความผิดพลาดในการคิดปริมาณรังสี หรืออยู่ในบริเวณที่เกิดอุบัติเหตุทางรังสี ซึ่งจะทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายหรืออวัยวะ โดยปริมาณรังสีที่ถือว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ คือ มากกว่า 1,000 มิลลิซีเวิร์ต1 ซึ่งจะทำให้ผู้ที่ได้รับมีอาการต่อไปนี้

     - ปริมาณรังสี 1,000-3,000 มิลลิซีเวิร์ต จะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ (ตั้งแต่ในระดับที่น้อยไปถึงรุนแรง) เบื่ออาหาร ติดเชื้อ มีไข้ อาเจียน

     - สูงกว่า 3,000 มิลลิซีเวิร์ต จะทำให้อาการคลื่นไส้อาเจียนและท้องร่วงมีความรุนแรงมากขึ้น รวมถึงจะมีเลือดออก ติดเชื้อ ขนร่วง เป็นหมันชั่วคราว โดยจำนวนครึ่งหนึ่งของผู้ได้รับรังสีสูงระดับนี้จะเสียชีวิตภายในเวลา 30 วัน

     - ปริมาณรังสีขนาด 3.5 เกรย์2 จะทำให้เสียชีวิตถ้าไม่ได้รับการรักษา เนื่องจากไขกระดูกถูกทำลาย เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือดลดลง ภูมิต้านทานในร่างกายจึงต่ำ ทำให้เกิดการติดเชื้อต่างๆ ตามมา

      สำหรับระดับรังสีที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ คือ ต่ำกว่า 100 มิลลิซีเวิร์ต และตามปกติประชาชนทุกคนจะได้รับรังสีที่มีอยู่ในธรรมชาติอยู่แล้วประมาณ 2 ถึง 3 มิลลิซีเวิร์ตต่อปี ขณะที่การถ่ายภาพเอกซเรย์ปอด 1 ครั้งจะได้รับรังสีประมาณ 0.1 มิลลิซีเวิร์ต แต่การทำซีทีสแกนทั้งตัวจะได้รับรังสีระหว่าง 10-20 มิลลิซีเวิร์ต ส่วนปริมาณรังสีสูงสุดที่เจ้าหน้าที่ชาวญี่ปุ่นได้รับจากการเข้าไปกู้วิกฤตในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2554 คือ 400 มิลลิซีเวิร์ต

      2. เป็นผลที่ไม่มีระดับกำหนดว่าต้องได้รับรังสีในปริมาณเท่าใดจึงจะเกิดอันตราย แต่ถ้าได้รับปริมาณรังสีมากก็จะยิ่งมีความเสี่ยงมาก เช่น ถ้าได้รับรังสีปริมาณสูงขึ้นโอกาสในการเกิดมะเร็งก็จะสูงมากขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ดีการเกิดมะเร็งหลังจากได้รับรังสีจะใช้เวลา 5-10 ปีหรือนานกว่านั้น และยังไม่มีข้อมูลที่ระบุได้ว่าต้องได้รับปริมาณรังสีมากเท่าไรจึงจะทำให้เกิดมะเร็ง3 นอกจากนี้ผู้ที่ได้รับรังสีก็อาจจะไม่เป็นมะเร็งทุกคนอีกด้วย

      สำหรับมะเร็งที่ปรากฏเร็วกว่ามะเร็งชนิดอื่นๆ คือ มะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือลูคีเมีย (Leukemia) และมะเร็งต่อมไทรอยด์ โดยพบว่าเด็กมีโอกาสเป็นมะเร็งมากกว่าผู้ใหญ่ เพราะร่างกายของเด็กไวต่อรังสีมากกว่าผู้ใหญ่ ดังเช่นกรณีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลที่รัสเซียระเบิดเมื่อปี พ.ศ.2529 ซึ่งพบว่า ทำให้อัตราการเกิดโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในเด็ก

     ส่วนช่องทางที่ประชาชนจะได้รับสารกัมมันตรังสีเข้าสู่ร่างกายนั้น จะมี 3 ช่องทางหลักๆ ได้แก่ ทางอากาศ ซึ่งเกิดจากการฟุ้งกระจายของฝุ่นกัมมันตรังสีในอากาศเปรอะเปื้อนบนร่างกาย ซึ่งเป็นการได้รับรังสีบริเวณภายนอก หรือปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกายโดยการหายใจเข้าไป ทางแหล่งน้ำ ซึ่งเกิดจากสารกัมมันตรังสีที่ปนเปื้อนอยู่ในชั้นบรรยากาศตกลงมาสู่แหล่งน้ำดื่มและน้ำใช้ และทางอาหาร ซึ่งเกิดจากฝุ่นกัมมันตรังสีตกลงสู่พื้นดิน แล้วพืชก็ดูดสารกัมมันตรังสีไปสะสมไว้ในเซลล์ หรือจากการที่ฝุ่นกัมมันตรังสีในอากาศตกลงบนใบพืชหรือผลไม้ เมื่อรับประทานพืชนั้นเข้าไป ก็รับสารกัมมันตรังสีเข้าไปด้วย หรือจากสัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่มีการสะสมสารกัมมันตรังสี

      สำหรับเหตุการณ์โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ระเบิดในญี่ปุ่น หากพิจารณาจากทิศทางลม เส้นทางการไหลของกระแสน้ำในมหาสมุทร และระยะทางจากญี่ปุ่นมาถึงประเทศไทย รศ.รุ่งจรัส หุตะเจริญ อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คาดการณ์ว่ากัมมันตรังสีรังสีจากญี่ปุ่นไม่น่าจะแผ่กระจายมาถึงประเทศไทย

      แม้การกระจายของสารกัมมันตรังสีอาจไม่เดินทางมาถึงประเทศไทย แต่หลายคนก็ยังกังวลในเรื่องการปนเปื้อนมากับอาหาร เพราะเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2554 มีข่าวออกมาว่า สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติมีการตรวจพบการปนเปื้อนของไอโอดีนรังสีในมันเทศที่นำเข้าจากญี่ปุ่น

      จากข้อมูลดังกล่าว รศ.มลุลี ได้ให้ความกระจ่างว่า ปริมาณสารกัมมันตรังสีที่ตรวจพบในมันเทศยังอยู่ในระดับปลอดภัย เพราะสารกัมมันตรังสีที่พบในมันเทศคือไอโอดีน-131 และมีปริมาณการปนเปื้อนเพียง 15.25 เบคเคอเรล4ต่อกิโลกรัม ในขณะที่ระดับมาตรฐานซึ่งกำหนดโดย Codex ที่องค์กรการค้าโลกให้การยอมรับว่ามีความปลอดภัยทางรังสีต่อผู้บริโภค คือ ไม่เกิน 100 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม

      ทั้งนี้ หากการปนเปื้อนอยู่ที่ผิวของผักและผลไม้ สามารถนำมารับประทานได้ แต่ต้องปลอกเปลือกออก และล้างให้สะอาด แต่ถ้าสารกัมมันตรังสีถูกดูดซึมทางรากเข้าไปในเนื้อของผักและผลไม้ ในกรณีนี้ถ้าการปนเปื้อนมีระดับเกินขีดจำกัดจะไม่สามารถรับประทานได้ เพราะเป็นเรื่องอันตราย

      อย่างไรก็ดีประชาชนจะไม่มีทางรู้ได้เลยว่าสารกัมมันตรังสีจะปนเปื้อนอยู่ที่ส่วนใดของผักและผลไม้ เว้นเสียแต่ส่งตัวอย่างไปตรวจในห้องปฏิบัติการทางรังสีเท่านั้น

      สำหรับความหวาดกลัวว่าอาหารที่นำเข้าจากญี่ปุ่นจะปลอดภัยหรือไม่ รศ.มลุลีให้ข้อคิดว่า อาหารที่นำเข้าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย สำนักคณะกรรมการอาหารและยาจะเก็บตัวอย่าง เพื่อนำส่งให้ห้องปฏิบัติการทางรังสี สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ตรวจสอบอยู่แล้ว อาหารกลุ่มนี้จึงมีความปลอดภัย

แต่สิ่งที่ควรระวังคืออาหารที่เข้ามาอย่างผิดกฎหมาย เพราะจะไม่ผ่านการตรวจการปนเปื้อนทางรังสีเลย
ที่มาhttp://www.healthtoday.net