ผู้เขียน หัวข้อ: ชี้ สตง.ห้ามเทศบาลจัดรถรับส่งเด็กเล็ก ลดบทบาทท้องถิ่นทำงานคุณภาพชีวิต  (อ่าน 701 ครั้ง)

ออฟไลน์ Por-MedTech

  • Global Moderator
  • medtech ปี เอก
  • *****
  • กระทู้: 1192
    • อีเมล์
ชี้ สตง.ห้ามเทศบาลจัดรถรับส่งเด็กเล็ก ลดบทบาทท้องถิ่นทำงานคุณภาพชีวิต


“หมอฟัน รพ.บางกระทุ่ม” แจงโพสต์เฟสบุ๊ค สตง.ห้ามเทศบาลเนินกุ่ม พิษณุโลกจัดรถรับส่งเด็ก “ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กฯ” หวังสะท้อนปัญหาและอุปสรรคการดูแลประชาชน จากผลการตรวจสอบที่ สตง.ตีความไม่ใช่บทบาทหน้าที่ ทำชาวบ้านลำบาก ตัดบทบาทท้องถิ่นทำหน้าที่พัฒนาคุณภาพชีวิต มุ่งสร้างสะพาน/ถนนแทน ชี้ทางออกต้องรวบรวมปัญหาและผลกระทบ พูดคุยกับ สตง. เชื่อรับฟัง เหตุต่างมีเจตนาทำงานเพื่อประเทศ

ทพ.วัฒนา ทองปัสโณว์ ทันตแพทย์ชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานทันตกรรม โรงพยาบาลบางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก กล่าวถึงการโพสต์เฟสบุ๊คถึงกรณีที่ครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลเนินกุ่ม อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก ได้แจ้งต่อผู้ปกครองให้มารับส่งลูกหลานเอง เพราะศูนย์เด็กเล็กได้ยกเลิกบริการรถรับส่งจากการเข้าตรวจสอบของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ว่า ได้รับทราบข้อมูลระหว่างการรอทำกิจกรรมเพื่อตรวจฟันให้กับเด็กๆ ที่ศูนย์เด็กเล็กฯ โดยคุณครูได้แจ้งขอความร่วมมือให้ผู้ปกครองมารับลูกหลานเอง เพราะจากการเข้าตรวจสอบของ สตง. ได้ท้วงติงการใช้งบในส่วนนี้ว่าไม่ใช่บทบาทหน้าที่ของเทศบาล ซึ่งเท่าที่ทราบการรับส่งเด็กๆ ที่ศูนย์เด็กเล็กนี้ ได้ทำมานานแล้ว เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ปกครอง ทั้งยังเป็นการดูแลความปลอดภัยให้กับเด็ก เนื่องจากศูนย์เด็กเล็กแห่งนี้อยู่ริมถนนซึ่งอาจเป็นอันตรายได้

นอกจากนี้ สตง.ได้ยังท้วงติงเทศบาลถึงการจัดรถรับส่งผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่เทศบาลเนินกุ่มได้ดำเนินการเพื่อช่วยอำนวยความสะดวก เพราะผู้ป่วยกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและเดินทางลำบาก แต่ข้อมูลกรณีเป็นเพียงเบื้องต้น เพราะทราบในรายละเอียดเพิ่มเติมว่า การท้วงติงในประเด็นนี้ของ สตง.เป็นกรณีที่เทศบาลนำรถฉุกเฉินมาใช้รับส่งผู้ป่วย และเป็นห่วงในระหว่างรับส่งผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หากมีการเรียก 1669 ฉุกเฉินจะให้บริการอย่างไร โดยในประเด็นนี้คงต้องตามดูในรายละเอียดข้อเท็จจริงเพิ่มเติม

ทพ.วัฒนา กล่าวว่า กรณีข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างการเข้าตรวจสอบของ สตง.ที่เป็นประเด็นพื้นที่และเท่าที่ทราบมา มีท้องถิ่นหลายแห่งที่ถูกตรวจสอบและมองว่าการดำเนินงานหลายอย่างไม่ใช่บทบาทหน้าที่ของท้องถิ่นเช่นกัน ซึ่งการทำงานของ สตง.ในการตรวจสอบบางครั้งอาจพบความไม่โปร่งใสของการดำเนินงานและการใช้งบประมาณ แต่ขณะเดียวกันมองว่า การตรวจสอบของ สตง.เอง จะต้องไม่กระทบต่อการทำงานเชิงสร้างสรรค์เพื่อตอบโจทย์สร้างคุณภาพชีวิตในด้านมิติอื่นๆ ให้กับชาวบ้าน ไม่เช่นนั้นจะถูกจำกัดเพียงแค่การสร้างโครงสร้างพื้นฐาน อย่างการสร้างสะพานและถนนเท่านั้น

อีกทั้งการตรวจสอบจาก สตง.มีหลายระดับ หลายครั้งที่หลักเกณฑ์การตีความของ สตง.เองไม่ตรงกัน ภารกิจบางอย่าบางทีบอกว่าทำได้ บางทีบอกว่าทำไม่ได้ ทำให้หน่วยงานและท้องถิ่นเกิดความสับสน ดังนั้น สตง.เองต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์การตรวจสอบให้ตรงกัน

“การที่ผมโพสต์ข้อความดังกล่าว เพื่อสะท้อนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อชี้ให้เห็นว่า ขณะนี้ได้เกิดกระบวนการบางอย่างที่ไปขัดขวางการพัฒนา แทนที่จะเป็นบวกกลับส่งผลลบในพื้นที่แทน และอาจทำให้ชาวบ้านลำบากได้ เพราะการดำเนินงานของเทศบาลบางอย่างอาจเป็นการทำเพื่อชาวบ้าน แต่กลับชี้ว่าไม่ใช่บทบาทหน้าที่ เหล่านี้เป็นผลจากการตีความกฎหมายจนกลายเป็นอุปสรรค”

ต่อปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ มองว่าทางออกควรเป็นอย่างไร ทพ.วัฒนา กล่าวว่า ควรมีการรวบรวมข้อมูลปัญหาผลกระทบที่เกิดจากการตรวจสอบของ สตง. เพราะขณะนี้ไม่ทราบว่ามีผลกระทบมีมากมายแค่ไหน ซึ่งบางอย่างเมื่อได้ข้อมูลแล้วน่าจะมีการนำมาพูดคุยกันได้เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงให้เกิดการทำงาน นำไปสู่ประโยชน์ประชาชนร่วมกันได้ ซึ่งที่ผ่านมา สตง.เองคิดว่าตัวเองไม่ได้เป็นอุปสรรคการพัฒนา เพียงแต่ทำหน้าที่โดยการตีความไปตามตัวบทกฎหมายที่ถือมาเท่านั้น ขณะที่หลายหน่วยงานและท้องถิ่นก็ถูกมองว่าเป็นการทำเกินอำนาจและภารกิจ ทั้งที่มีเจตนาเพื่อมุ่งดูแลประชาชน ทั้งนี้เชื่อว่าหากมีการรวบรวมปัญหาและพูดคุยกับ สตง.น่าจะรับฟัง เพราะต่างมีเจตนาทำงานให้กับประเทศชาติเช่นกัน









********************************************
ที่มา : http://www.hfocus.org/headline