ผู้เขียน หัวข้อ: ‘คลัง’ เล็งชี้แจงกลุ่มค้านโอนค่ารักษา ขรก.ให้ประกันดูแล ในสัปดาห์หน้า  (อ่าน 1780 ครั้ง)

ออฟไลน์ admin

  • Administrator
  • medtech ปี เอก
  • *****
  • กระทู้: 2325
    • อีเมล์
นสพ.กรุงเทพธุรกิจ : "ปลัดคลัง" นัดถกสัปดาห์หน้า กลุ่มค้านโอนค่ารักษาพยาบาลข้าราชการเข้าสู่ระบบประกัน ระบุ งบใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาลสูงขึ้นทุกปี โดยเฉพาะงบ 59 พุ่ง แตะ 7.1 หมื่นล้าน เกินงบ 1 หมื่นล้าน

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ภายในสัปดาห์หน้า จะเชิญกลุ่มที่ยังไม่เห็นด้วยกับการโอนค่ารักษาพยาบาลข้าราชการเข้าสู่ระบบประกัน โดยกลุ่มไม่เห็นด้วย อาทิ กลุ่มแพทย์ กลุ่มบริษัทขายยา และกลุ่มข้าราชการ หากกลุ่มนี้เห็นด้วย จะเดินหน้าแผนอื่นๆ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ในปีงบ 2560

โดยก่อนหน้านี้ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เห็นชอบในหลักการที่จะให้บริษัทประกันเข้ามาบริหารจัดการค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ เนื่องจากในระยะที่ผ่านมาค่ารักษาพยาบาลทยอยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สำหรับในปีงบประมาณ 2559 ยอดเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลข้าราชการสูงถึง 7.1 หมื่นล้านบาท สูงกว่าปีที่ผ่านๆ มา ที่เคยอยู่ใน ระดับ 6.8 หมื่นล้านบาท ขณะที่สำนักงบประมาณอนุมัติงบประมาณเฉลี่ยปีละ 6.1-6.2 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ นายสมชัย กล่าวอีกว่า การโอนค่ารักษาพยาบาลให้บริษัทประกันดูแลนั้น ต้องอยู่ในเงื่อนไข คือข้าราชการต้องได้รับสิทธิ์ในการรักษาพยาบาลเหมือนเดิม หรือได้รับบริการที่ดีขึ้น ส่วนงบประมาณต้องไม่เกินจากของเดิม ขณะนี้ทางบริษัทประกัน เสนอที่จะทำวีไอพีเลาท์ (ห้องรับรองพิเศษ) สำหรับข้าราชการในโรงพยาบาลรัฐ ในเกือบทุกแห่งด้วย

"การให้เอกชนมาบริหารงบรักษาพยาบาลแทนภาครัฐ ส่วนหนึ่งเพื่อลดการรั่วไหลของงบประมาณ เมื่อลดการรั่วไหลได้ ก็จะส่งผลให้การใช้งบประมาณมีประสิทธิภาพมากขึ้น  ยอมรับว่าแนวคิดนี้ยังมีเสียงคัดค้านจากคนที่ไม่เข้าใจหลายกลุ่ม ดังนั้นจึงจะเชิญกลุ่มเหล่านี้มาพูดคุยทำความเข้าใจร่วมกัน" นายสมชัย กล่าว

ขณะเดียวกัน แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง ระบุว่า กลุ่มบริษัทประกันเสนองบประมาณที่จะใช้ในการประกันการรักษาพยาบาลข้าราชการนั้นอยู่ที่จำนวน 7 หมื่นล้านบาท โดยเอกชนจะมีการวางระบบไอที จัดทำฐานข้อมูลในเรื่องการรักษาพยาบาลของข้าราชการและครอบครัวกว่า 5 ล้านราย และจะมีการออกบัตรประจำตัวในการรักษาพยาบาล เพื่อลดปัญหาการไปเวียนเทียนรับยาในโรงพยาบาลอื่น เนื่องจากขณะนี้การรักษาพยาบาลแยกกัน ทำข้อมูลของโรงพยาบาลแต่ละแห่ง คาดว่าการวางระบบดังกล่าวจะใช้งบประมาณ ไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาท











ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2559
ที่มา https://www.hfocus.org/content/2016/12/13075