ผู้เขียน หัวข้อ: สิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยาใน รพ. ‘ทางออกลดทุกข์ผู้ป่วย หนุนประสิทธิภาพบุคลากร’  (อ่าน 1908 ครั้ง)

ออฟไลน์ admin

  • Administrator
  • medtech ปี เอก
  • *****
  • กระทู้: 2325
    • อีเมล์
จากปัญหาสิ่งแวดล้อมในโรงพยาบาลที่ซ้ำเติมความทุกข์ให้กับผู้ป่วย แพทย์ พยาบาล ตลอดเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการที่นำเสนอในตอนที่แล้ว นำมาสู่คำถามที่ว่า “แล้วความทุกข์ที่เกิดขึ้นนี้ โรงพยาบาลจะสามารถทำอะไรได้บ้าง” จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ “โครงการวิจัยการออกแบบสภาพแวดล้อมสถานพยาบาลเพื่อเอื้อต่อการเยียวยา” ซึ่งสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.) ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจสภาพสิ่งแวดล้อมสถานพยาบาล และรูปแบบการออกแบบโครงสร้าง การจัดองค์ประกอบภายในอาคาร การจัดภูมิสถาปัตยกรรมที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้ป่วย แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ด้วยแนวคิด “สิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยา-Healing Environment”




โกศล จึงเสถียรทรัพย์ (ซ้ายสุด)

โกศล จึงเสถียรทรัพย์ หัวหน้าโครงการออกแบบสภาพแวดล้อมสถานพยาบาลให้เอื้อต่อการเยียวยา (Healthcare Healing Environment Design) สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.) กล่าวว่า องค์ความรู้และแนวคิดการจัดสิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยาในต่างประเทศ เป็นเรื่องที่มีการศึกษาค้นคว้ามานาน และมีงานวิจัยรองรับมากกว่า 600 เรื่อง ที่เป็นหลักฐานสำคัญเพื่อยืนยันว่าการออกแบบและจัดสิ่งแวดล้อมในโรงพยาบาลมีผลต่อการรักษาพยาบาลในมิติต่างๆ และการทำงานของเจ้าหน้าที่ภายในโรงพยาบาล

โดยกรอบแนวคิดในการออกแบบและจัดสิ่งแวดล้อมในโรงพยาบาล มุ่งเน้นเพื่อความปลอดภัยในการรักษา การลดความเครียดในผู้ป่วย รวมทั้งปรับปรุงคุณภาพการรักษาพยาบาลโดยรวมให้ดีขึ้น นอกจากมีผลโดยตรงต่อผู้ป่วยแล้ว ยังมีผลต่อเจ้าหน้าที่ซึ่งสามารถช่วยลดความเครียด อาการเหนื่อยล้า และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่ได้อีกด้วย ดังนั้นในหลายประเทศจึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก



ตัวอย่างงานวิจัยการออกแบบและจัดสิ่งแวดล้อมในโรงพยาบาล อาทิ งานวิจัยชิ้นสำคัญของ Roger Ulrich ในปี ค.ศ.1984 เรื่อง View through a window may influence recovery from surgery พบว่า การมีหน้าต่างในห้องพักผู้ป่วยที่มองเห็นธรรมชาติ ไม่เพียงแต่ช่วยลดการใช้ยาแก้ปวดลงได้ แต่ผู้ป่วยยังฟื้นตัวเร็วขึ้น มีภาวะทางอารมณ์ดีกว่า มีการบ่นและข้อร้องเรียนน้อยกว่าผู้ป่วยที่อยู่ในห้องพักที่ไม่สามารถมองเห็นธรรมชาติ ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยเรื่องการดูแลผู้ป่วยผ่าตัดไขสันหลังที่ได้รับการจัดห้องพักที่มีแสงสว่างธรรมชาติส่องถึง เมื่อเปรียบเทียบกับที่พักผู้ป่วยที่อยู่ในอาคารเดียวกัน แต่มีแสงสว่างธรรมชาติส่องถึงน้อยกว่าร้อยละ 46 พบว่า ผู้ป่วยในห้องที่มีแสงสว่างมากกว่าจะมีความเครียดน้อยกว่า และใช้ยาแก้ปวดน้อยกว่าร้อยละ 22 ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายโรงพยาบาลในส่วนค่ายาแก้ปวดได้ถึงร้อยละ 21 (Walch et al.2005)

ขณะเดียวกันยังมีงานวิจัยที่บ่งบอกว่า การออกแบบและจัดสิ่งแวดล้อมในโรงพยาบาลช่วยเพิ่มความปลอดภัยและลดความเสี่ยงในทางการแพทย์ได้ เช่น การศึกษาการจ่ายยาของเภสัชกรเปรียบเทียบการจัดยาให้กับผู้ป่วยภายใต้ระดับแสงสว่างที่แตกต่างกัน คือ 400 ลักซ์ 1,100 ลักซ์ และ 1,500 ลักซ์ พบว่า การทำงานในพื้นที่ที่มีแสงสว่างมากกว่า โดยในพื้นที่ที่มีความสว่าง 1,500 ลักซ์ จะมีอัตราความผิดพลาดอยู่ในเกณฑ์ต่ำเพียงร้อยละ 2.6 ขณะที่ในพื้นที่ที่มีแสงสว่าง 400 ลักซ์ จะมีความผิดพลาดสูงถึงร้อยละ 3.8 (Buchanan et al. 1991)

นอกจากนี้ยังมีการศึกษาด้านการจัดบริการที่ลดการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเพื่อรับการตรวจรักษา มีงานศึกษาที่โรงพยาบาล Methodist Hospital ในอินเดียแนโพลิส พบว่า การปรับรูปแบบห้องพักที่ทำให้การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยลดลงร้อยละ 90 ส่งผลต่ออัตราความผิดพลาดทางการแพทย์ลดลงถึงร้อยละ 67 (Hendrich, Fay, andSorrells 2004 Hendric, fay, and Sorrells 2002) ทั้งยังช่วยลดภาระการทำงานของเจ้าหน้าที่ ลดการนอนค้างโรงพยาบาลของผู้ป่วย และค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ที่เกิดขึ้น (Institute of Medicine 2004) มีการศึกษาการหมุนเวียนของอากาศในห้องภายในโรงพยาบาล จากการวิจัยการแพร่ระบาดของโรคซาร์ส (Jiang et at. 2003) พบว่า ห้องพักที่มีการหมุนเวียนอากาศที่ดีจะมีอัตราการติดเชื้อต่ำกว่า สอดคล้องกับการศึกษาวิจัยการติดเชื้อวัณโรคของเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล (Menzies et al. 2006) ที่พบว่า อัตราการติดเชื้อวัณโรคของเจ้าหน้าที่มีความสัมพันธ์ชัดเจนกับการทำงานในห้องที่มีการหมุนเวียนอากาศที่ต่ำ

ยังมีงานวิจัยการออกแบบโรงพยาบาลที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานเจ้าหน้าที่ มีการศึกษาวิจัย พบว่า พยาบาลส่วนใหญ่ใช้เวลาการพยาบาลร้อยละ 56.9 รองลงมาใช้เวลาในการเดินถึงร้อยละ 28.9 (Burgio et at al. 1990) การออกแบบโรงพยาบาลที่ดีจะช่วยลดระยะทางและระยะเวลาการเดินของพยาบาลได้ สอดคล้องกับการศึกษาจัดเรียงเตียงนอนผู้ป่วยที่ พบว่า การจัดเตียงผู้ป่วยในห้องพักลักษณะแผ่รัศมีและมีเคาน์เตอร์พยาบาลตรงกลางจะช่วยลดการเดินของพยาบาลจากเดิมที่ต้องเดิน 7.9 ก้าวต่อนาที เหลือเพียง 4.7 ก้าวต่อนาที (Shepley and Davies 2003)

ทั้งนี้ยังมีการศึกษาระบุว่า การกระจายเคาน์เตอร์พยาบาลและการจัดเก็บเครื่องมือในหลายจุดใกล้กับเคาน์เตอร์พยาบาล จะช่วยลดการเดินและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานพยาบาลได้ (Hendrich 2003 และ Institute of Medicine 2004)  สอดคล้องกับการศึกษาการกระจายงานเภสัชออกไปยังอาคารต่างๆ ช่วยลดระยะเวลาจัดส่งยาได้มาก (Hibbard et al. 1981)

ส่วนการออกแบบด้านสุนทรียภาพและจิตวิญญาณ โกศล กล่าวว่า การออกแบบด้านนี้มีส่วนสำคัญต่อการเยียวยาผู้ป่วยอย่างมาก เช่น การจัดให้มีภาพศิลปะอย่างภาพวาดหรือภาพถ่ายจะช่วยเบี่ยงเบนความรู้สึกเจ็บปวดได้ (Ulrich et al. 2008) รวมถึงการติดตั้งจอโทรทัศน์แสดงภาพทิวทัศน์พร้อมเสียงธรรมชาติ จะลดความเครียดและความเจ็บปวดได้ดี การออกแบบพื้นที่จิตวิญญาณที่สัมพันธ์กับศรัทธาและความหมายของวัฒนธรรม (Felgen 2004: 24) ตัวอย่างแนวคิดการออกแบบ “จิตตปัญญาวาส” เน้นการสร้างผัสสะแห่งสถานที่ และจิตวิญญาณแห่งสถานที่เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และการใช้มิติจิตวิญญาณในการเยียวยา



องค์ความรู้ด้านการออกแบบและจัดสิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยา ดังตัวอย่างข้างต้นนี้ ล้วนเป็นข้อมูลศึกษาวิจัยจากต่างประเทศ ส่วนประเทศไทยนั้นยังมีองค์ความรู้เหล่านี้จำกัดมาก ที่ผ่านมา สวสส.จึงสนับสนุนและส่งเสริมให้บุคลากรที่ทำงานในโรงพยาบาลสร้างผลงานวิจัยจากงานประจำที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยา เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลวิชาการสำหรับอ้างอิงภายใต้บริบทของประเทศไทย

อย่างไรก็ตามจากข้อมูลการศึกษาวิจัยของต่างประเทศสามารถสรุปได้ว่า การออกแบบสิ่งแวดล้อมภายในโรงพยาบาลล้วนแล้วมีผลต่อการรักษาในมิติที่แตกต่างกันออกไป

การปรับพื้นที่ภายในโรงพยาบาลเพื่อสิ่งแวดล้อมในการเยียวยานั้น โกศล กล่าวว่า ที่ผ่านมาการก่อสร้างโรงพยาบาลเน้นเพื่อรองรับการรักษาพยาบาลเป็นสำคัญ พร้อมทั้งโรงพยาบาลรัฐยังมีข้อจำกัดด้านพื้นที่ งบประมาณการก่อสร้าง ทำให้การออกแบบจึงไม่ได้คำนึงถึงด้านนี้เท่าที่ควร แต่ทั้งนี้การปรับภูมิทัศน์เพื่อเอื้อต่อการดูแลผู้ป่วยและการทำงานของเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลยังสามารถทำได้ และในบางกรณีก็ใช้งบประมาณในการปรับปรุงไม่มาก โดยนำแนวคิดทั้งในด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย, การออกแบบโดยอิงหลักฐานงานวิจัยสิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยา และการออกแบบสุนทรียและมิติจิตวิญญาณมาบูรณาการร่วมกันเป็นแนวคิดการออกแบบสิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยา

โกศล กล่าวต่อว่า การออกแบบโรงพยาบาลและสิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยานี้ ทาง สวสส.ได้ผลักดันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 ระหว่างนั้นสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) ได้จัดทำโครงการรับรองคุณภาพมาตรฐานสถานพยาบาล ซึ่งได้เข้าร่วมกับ สรพ.ทำเรื่องการจัดสิ่งแวดล้อมภายในโรงพยาบาล แม้ว่าจะมีการให้รางวัลกับโรงพยาบาลที่มีการจัดสิ่งแวดล้อมที่ดี แต่ก็ยังไม่มีเครื่องมือประเมินที่เป็นมาตรฐาน

สวสส.จึงได้ดำเนินโครงการวิจัย เรื่อง “การออกแบบสภาพแวดล้อมสถานพยาบาลให้เอื้อต่อการเยียวยา” เพื่อสำรวจสภาพสิ่งแวดล้อมสถานพยาบาล และศึกษารูปแบบการออกแบบโครงสร้าง เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงสถานพยาบาลภายใต้แนวคิด “สิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยา” โดยปีแรกนำร่องในโรงพยาบาล 13 แห่ง และปีที่ 2 มีโรงพยาบาลที่สนใจและสมัครเข้าร่วมเพิ่มเติม รวม 20 แห่ง



จากการดำเนินโครงการวิจัย ได้มีโอกาสลงพื้นที่สำรวจโรงพยาบาลหลายแห่ง พร้อมให้คำแนะนำ โรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการฯ เช่น รพ.องค์รักษ์ จ.นครนายก จากการลงพื้นที่พบว่า มีการจัดเรียงเก้าอี้นั่งรอผู้ป่วยและญาติที่หันหน้าไปยังเคาน์เตอร์ทำงานของเจ้าหน้าที่ นอกจากทำให้พื้นที่จำกัดคับแคบแล้ว ยังสร้างความอึดอัดให้กับผู้ป่วยและญาติที่นั่งรอ ขณะเดียวกันยังทำให้เจ้าหน้าที่รู้สึกถูกจ้องมองตลอดเวลา

ทั้งนี้การจัดเรียงเก้าอี้ลักษณะนี้ส่วนใหญ่จะจัดเรียงแถวละ 4 ตัว ซึ่งคนส่วนใหญ่จะนั่งเก้าอี้ตัวริม คือ ตัวที่ 1 และตัวที่ 4 การจะเข้าไปนั่งเก้าอี้ตัวที่ 2 และตัวที่ 3 จะต้องเบียดผู้ที่นั่งเก้าอี้ตัวริมก่อน ทำให้ผู้ป่วยและญาติเลือกที่จะยืนรอรอบๆ แทน ยิ่งทำให้ทางเดินคับแคบลงไปอีก

ดังนั้นจึงได้แนะนำและลองปรับรูปแบบการจัดเก้าอี้ใหม่ โดยจัดเรียงหันหน้าเข้าหากันเป็นคู่ โดยหันด้านข้างให้เคาน์เตอร์ของเจ้าหน้าที่ สิ่งที่ได้คือ นอกจากลดความกดดันทั้งผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่แล้ว ยังทำให้ผู้ป่วยและญาติได้หันหน้าพูดคุยกันระหว่างนั่งรอสร้างบรรยากาศผ่อนคลาย ทั้งเพิ่มความสะดวกในการเดินเข้าไปนั่งเก้าอี้ด้านในได้ และเพิ่มพื้นที่โล่งบริเวณแผนกผู้ป่วยนอก

นอกจากนี้ยังได้แนะนำให้ลดการติดป้ายและประกาศที่มีจำนวนมากลงให้เหลือเท่าที่จำเป็น เพื่อเพิ่มพื้นที่ว่างทำให้เกิดความสบายตา การย้ายทีวีที่มักติดอยู่ด้านบนของเคาน์เตอร์พยาบาลที่ทำให้พยาบาลรู้สึกถูกจ้องมอง เป็นต้น

ส่วนเสียงประกาศของเจ้าหน้าที่นั้น โกศล กล่าวว่า โรงพยาบาลส่วนใหญ่มักใช้ลำโพงทั่วไปที่ใช้สำหรับเปิดเพลง ซึ่งมักจะทิ้งเสียงทุ้มก้องกังวานในหู แต่หากใช้เป็นลำโพงสำหรับการพูดประกาศ เสียงเบสจะน้อย มีเสียงพูดที่แหลมคมมากกว่า นอกจากผู้ป่วยจะได้ยินเสียงประกาศชัดเจนแล้ว ยังไม่สร้างความรำคาญให้กับผู้ฟังมาก เป็นสิ่งเล็กน้อยที่ไม่ได้คำนึงถึง

เช่นเดียวกับการจัดแสงไฟในห้องพักผู้ป่วย ซึ่งห้องพักผู้ป่วยพิเศษการติดไฟที่มีกำลังส่องสว่าง 400 ลักซ์ ก็ถือว่าผ่านเกณฑ์มาตรฐานแล้ว แต่หากมองในเรื่องสุนทรียภาพ เวลาที่ผู้ป่วยนอนบนเตียง ไฟที่ติดตั้งบนเพดานจะสาดแยงตารบกวนการพักผ่อน อีกทั้งเวลาที่คุณหมอมาตรวจจะทำให้ผู้ป่วยไม่มองเห็นหน้าคุณหมอได้ ซึ่งทำให้ขาดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันเพราะไม่เห็นสีหาแววตาของคุณหมอ ดังนั้นหากเพียงแต่ย้ายไฟไปติดตั้งบริเวณผนังตรงหัวเตียงผู้ป่วยแทน นอกจากแสงไฟจะไม่แยงตาผู้ป่วยแล้ว ยังเป็นการเพิ่มแสงสว่างในการทำหัตถการให้กับแพทย์ หรือพยาบาลได้

นอกจากนี้การจัดพื้นที่เพื่อรับแสงแดดยังมีส่วนช่วยในการรักษาผู้ป่วย โดยในกรณีของทารกแรกคลอดที่มีอาการตัวเหลือง เป็นที่ทราบดีในทางการแพทย์ว่าการรักษาสามารถทำได้ง่าย เพียงให้เด็กได้รับแสงอาทิตย์ในยามเช้าซึ่งจะลดอาการตัวเหลืองนี้ได้ เช่น ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย จ.เลย ได้ใช้องค์ความรู้นี้มาร่วมออกแบบให้ห้องเด็กอ่อนมีระเบียงหันออกทางทิศตะวันออก พร้อมจัดที่นั่งสำหรับคุณแม่หลังคลอดไว้ให้นมลูก เมื่อเวลาแม่ให้นมลูกในตอนเช้า เด็กก็จะได้รับแสงแดดในเวลาเช้าไปพร้อมกัน ซึ่งองค์ความรู้ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ล้วนแต่เป็นการปรับสภาวะแวดล้อมเพื่อเอื้อต่อการเยียวยา



โกศล กล่าวว่า จากการดำเนินโครงการออกแบบสภาพแวดล้อมสถานพยาบาลให้เอื้อต่อการเยียวยา ซึ่งได้สำรวจปัญหา พร้อมรวบรวมองค์ความรู้ด้านการออกแบบโรงพยาบาลและจัดสิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยา จึงได้จัดทำเป็น “หนังสือสถาปัตยกรรมโรงพยาบาลและสิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยา (Healthcare Architecture and Healing Environment)” เพื่อให้โรงพยาบาลสามารถนำองค์ความรู้เหล่านี้ไปใช้เพื่อปรับปรุงสิ่งแวดล้อมภายในโรงพยาบาลได้อย่างเหมาะสม

พร้อมกันนี้คณะทำงานวิจัยยังได้พัฒนา “เครื่องมือประเมินคุณภาพสิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยาสำหรับสถานพยาบาล” สำหรับใช้ประเมินตนเอง โดยแบ่งการประเมินเป็น 5 ด้าน คือ

1.หน้าที่การใช้งานและความปลอดภัย

2.สุนทรียภาพและความสุขสบาย

3.ปฏิสัมพันธ์และการสนับสนุนทางสังคม

4.การเสริมพลังและอำนาจการตัดสินใจ

และ 5.คุณค่าและจิตวิญญาณ

เน้นผสมผสานมิติต่างๆ เพื่อประเมินสิ่งแวดล้อมแต่ละพื้นที่ได้อย่างลงตัว เนื่องจากแต่ละพื้นที่มีหน้าที่ใช้สอย เงื่อนไข และบริบทเฉพาะที่แตกต่างกัน ซึ่งจะนำไปสู่การปรับสิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยาที่สอดคล้องกับความเป็นจริงของระบบบริการสาธารณสุขไทย

เครื่องมือประเมินคุณภาพสิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยาฉบับนี้ ได้ตีพิมพ์ในบทที่ 5 ของหนังสือสถาปัตยกรรมโรงพยาบาลและสิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยา ซึ่งสามารถสั่งซื้อได้ทางเวปไซต์ www.shi.or.th หรือ www.facebook.com/HealingEnv โดยคุณสมบัติของเครื่องมือประเมินฯทชุดนี้ นอกจากจะเป็นการประเมินระดับคุณภาพของสิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยาแล้ว ยังเป็นเหมือนแผนที่การเดินทางของการจัดสิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยาที่มีรายละเอียดเป็นรายการย่อย ทำให้ง่ายต่อการพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อมเพื่อมุ่งสู่บรรยากาศแห่งการเยียวยา

ทั้งนี้การออกแบบโรงพยาบาลและการจัดสิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยาที่ดี นอกจากอิงความรู้ทางการแพทย์แล้ว การศึกษาวิจัยยังเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการออกแบบและปรับสภาพแวดล้อมในโรงพยาบาลเพื่อให้เกิดการดูแลผู้ป่วยและญาติได้อย่างเหมาะสม ขณะเดียวกันยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพชีวิตให้กับเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติงานในโรงพยาบาล













ที่มา https://www.hfocus.org/content/2016/12/13133