ผู้เขียน หัวข้อ: มะเร็งทางเดินอาหารชนิดจีสต์  (อ่าน 653 ครั้ง)

ออฟไลน์ pigky

  • medtech ปี เอก
  • ******
  • กระทู้: 1170
มะเร็งทางเดินอาหารชนิดจีสต์
« เมื่อ: สิงหาคม 12, 2011, 01:35:06 pm »


ขึ้นชื่อว่าโรคมะเร็งใครๆ ก็กลัวกันทั้งนั้น เพราะเมื่อเป็นแล้ว โอกาสที่จะรักษาให้หายขาดนั้นมีน้อยเหลือเกิน ยิ่งถ้าใครมีปัญหาปวดท้อง แน่นท้อง หรือคลำเจอก้อนที่ท้อง นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคร้าย...มะเร็งทางเดินอาหารชนิดจีสต์!

มะเร็งทางเดินอาหารชนิดจีสต์ เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้อย่างไร พญ.สุดสวาท เลาหวินิจ นายกมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย ให้ความรู้ว่า โรคมะเร็งทางเดินอาหารชนิดจีสต์ (GIST) หรือที่เรียกว่าสั้น ๆ ว่า มะเร็งจีสต์ เป็นมะเร็งชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นภายในช่องท้อง โดยแตกต่างจากมะเร็งระบบทางเดินอาหารอื่น คือ มะเร็งจีสต์ เกิดจากเซลล์ที่ควบคุมการบีบตัวของลำไส้ โดยสามารถพบได้ตั้งแต่ระดับหลอดอาหารไปจนถึงลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย แต่ตำแหน่งที่พบบ่อยที่สุด คือ กระเพาะอาหารประมาณ 40-60 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคือ ลำไส้เล็ก ประมาณ 20-40 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะพบในเพศชายและเพศหญิงอัตราส่วนเท่าๆ กัน และพบมากในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปี ขึ้นไป ส่วนอายุต่ำกว่า 40 ปี ค้นพบค่อนข้างน้อย อุบัติการณ์ของโรคนี้ในประเทศสหรัฐอเมริกา พบราว 5,000 รายต่อปี ในส่วนของประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคมะเร็งจีสต์ประมาณ 150 รายต่อปี และมีอัตราการเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกปี

ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดมะเร็งจีสต์ และจัดเป็นโรคมะเร็งชนิดหนึ่งที่ยากต่อการวินิจฉัย และการรักษา เนื่องจากผู้ป่วย 1 ใน 3 ของมะเร็งชนิดจีสต์จะไม่มีอาการ จึงแบ่งลักษณะอาการของผู้ป่วยเป็น 2 แบบ คือ แบบเฉพาะที่ กับแบบระยะแพร่กระจาย

ลักษณะอาการของมะเร็งจีสต์จะคล้ายกับมะเร็งทางเดินอาหารชนิดอื่นๆ โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้อง แน่นท้อง คลื่นไส้ อาเจียน มีอาการอืดๆ ท้อง ผู้ป่วยบางรายอาจคลำพบก้อนในท้อง ซึ่งหากมีก้อนมะเร็งจีสต์อยู่ในกระเพาะอาหาร ก็อาจจะทำให้มีเลือดออกในกระเพาะอาหารได้ โดยเลือดจะปะปนออกมากับอุจจาระ ทำให้อุจจาระมีสีดำ ส่งผลให้ตัวซีดได้ ซึ่งพบบ่อยประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ของคนไข้ แต่อีก 30- 40 เปอร์เซ็นต์ จะรู้โดยบังเอิญ เช่น มาตรวจร่างกายประจำปี

โดยในช่วงแรกจะตรวจพบเนื้องอกอยู่บริเวณใดบริเวณหนึ่งในช่องท้อง และมักจะไม่แสดงอาการให้เห็น เช่น ที่กระเพาะอาหาร ซึ่งมะเร็งชนิดจีสต์ ที่ยังคงอยู่บริเวณเดิมนั้น เรียกว่า การเกิดเนื้องอกเฉพาะที่ และเมื่อเนื้องอกจีสต์ เกิดการลุกลามขึ้น จะเกิดการแพร่กระจายของโรคไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย จนกลายเป็นเนื้องอกจีสต์ในระยะแพร่กระจาย ซึ่งบ่อยครั้งที่เนื้องอกจีสต์เจริญเติบโตจนมีขนาดใหญ่ ก่อนที่จะถูกตรวจพบและเกิดการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น ตับ และเยื่อบุช่องท้อง

ด้านการรักษามีหลายวิธีด้วยกัน พญ.สุดสวาท กล่าวว่า บางรายใช้วิธีการผ่าตัดชิ้นเนื้อในช่องท้องออกไปแต่โอกาสที่จะกลับมาเป็นซ้ำก็มีค่อนข้างสูง แต่ถ้าพบโรคในระยะแรกการผ่าตัดจะช่วยให้มีโอกาสหายขาดได้ หรือจะใช้วิธีแบบดั้งเดิมที่ใช้กันมานาน คือ การรักษาด้วยเคมีบำบัด และการฉายรังสี แต่สำหรับผู้ป่วยมะเร็งจีสต์กลับพบว่า มีการดื้อต่อการฉายรังสีและเคมีบำบัด โดยมีการตอบสนองเพียง 3 เปอร์เซ็นต์ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น และโรคมักกลับเป็นซ้ำอีก หรือมีการแพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่นๆ ได้

“ปัจจุบันมีการนำวิธีการรักษาโดยการให้ยากลุ่มออกฤทธิ์ต่อเป้าหมาย คือ ยาอิมมาตินิบ กับผู้ป่วย ซึ่งสามารถรักษาโรคได้อย่างเห็นผล เพิ่มโอกาสในการยืดชีวิตผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้น จากการศึกษาทางคลินิกมีรายงานว่า ผู้ป่วยที่ใช้ยากลุ่มออกฤทธิ์ต่อเป้าหมายจำนวนถึงครึ่งหนึ่ง สามารถมีชีวิตยืนยาวขึ้นมากกว่า 5 ปี ซึ่งก่อนหน้านี้สามารถยืดชีวิตผู้ป่วยได้เพียง 1 ปีกว่า หรือประมาณ 19 เดือนเท่านั้น นอกจากนี้ผู้ป่วยจำนวน 68 เปอร์เซ็นต์ จะมีการตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาไม่ว่าจะเป็นการตอบสนองอย่างสมบูรณ์หรือตอบสนองเพียงบางส่วน โดยผู้ป่วยจำนวน 16 เปอร์เซ็นต์มีอาการของโรคคงที่”

ตลอดจนจากผลการศึกษาพบว่า การหยุดยารักษาออกฤทธิ์ต่อเป้าหมายจะมีความเสี่ยงที่จะทำให้โรคลุกลามขึ้นได้ ซึ่งพบว่า ผู้ป่วยจำนวนครึ่งหนึ่ง มีโรคลุกลามขึ้นในระยะเวลาที่หยุดยาไปเพียง 6 เดือน และผู้ป่วยส่วนใหญ่มีโรคกลับเป็นซ้ำ ภายในระยะเวลา 1 ปี อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยจำนวน 92 เปอร์เซ็นต์ ที่กลับมาได้รับยา ในขณะที่โรคลุกลามขึ้นนั้น สามารถควบคุมโรคได้ นอกจากนี้ ในรายของผู้ป่วยที่ไม่มีร่องรอยของโรคหลงเหลืออยู่ จากการตรวจ ซีที สแกน จะยังพบอัตราการกลับมาเป็นซ้ำของโรค ภายหลังจากการหยุดยา จึงทำให้ผู้ป่วยควรรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง ไม่ควรหยุดรับประทานยาโดยไม่มีสาเหตุที่จำเป็น ยกเว้น ในกรณีที่มีอาการข้างเคียงหรือตามแพทย์สั่ง แม้กระทั่งผู้ป่วยที่มีการตอบสนองที่สมบูรณ์ก็ไม่ควรหยุดยา เพื่อจะทำให้โรคไม่กลับมาเป็นซ้ำอีกในประเทศไทย มีโครงการช่วยเหลือผู้ป่วยนานาชาติจีแพป ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือโดยมอบยาอิมมาตินิบให้กับผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังและมะเร็งทางเดินอาหารชนิดจีสต์ที่มีปัญหาด้านการเงินโดยไม่คิดมูลค่า ทำให้ผู้ป่วยที่ยากไร้ได้เข้าถึงยามากขึ้น ทั้งนี้ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่มูลนิธิแม็กซ์ โครงการจีแพปไทยแลนด์ โทรศัพท์ 02-354-3828 หรือ 081-207-5155

เมื่อเป็นโรคที่ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด การดูแลตนเองจึงเป็นสิ่งที่จะช่วยให้ห่างไกลจากโรคนี้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หมั่นออกกำลังกาย และสิ่งที่สำคัญ คือ หมั่นตรวจสุขภาพร่างกายอย่างสม่ำเสมอ หากพบอาการผิดปกติ เช่น แน่นท้อง คลำก้อนในท้องได้ ควรพบแพทย์ ถ้าวินิจฉัยได้ตั้งแต่ในระยะแรกๆ ก็จะเป็นเรื่องที่ดีก่อนที่โรคร้ายจะลุกลามจนยากที่จะรักษาได้

ที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์