
สำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดปี 2552 สูงถึง 4,044,260 คน และพบว่าผู้หญิงมีโรคประจำตัวที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดมากกว่าผู้ชายถึง 2 เท่า สำคัญมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบตันมาจากหลายปัจจัย เช่น ความอ้วน ความเครียด รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ที่เรายังไม่รู้แน่ชัดในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามปัจจัยหลักๆ ที่สำคัญ คือ อายุ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง การสูบบุหรี่ ล้วนทำให้หลอดเลือดเสื่อมสภาพ และปัจจัยทางพันธุกรรมซึ่งเป็นปัจจัยที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ในปัจจุบัน
นพ.ปัญเกียรติ โตพิพัฒน์ อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่าปัญหาโรคหัวใจและหลอดเลือดในประเทศไทยว่า การเกิดโรคหัวใจและการเสียชีวิตจากโรคหัวใจในประเทศไทย ณ ปัจจุบัน ใกล้เคียงกับกลุ่มประเทศโลกตะวันตก หรือประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เร่งรีบ ขาดการออกกำลังกาย และการรับประทานอาหารที่ได้รับอิทธิพลจากชาติตะวันตก
สำหรับข้อสังเกตอาการของโรคนี้ที่พบบ่อยได้แก่ เจ็บแน่นหน้าอก หรือรัดแน่นที่หน้าอก จุกเสียดแน่นตรงกลางหน้าอก อึดอัด หายใจไม่สะดวก ลักษณะคล้ายมีน้ำหนักกดทับ อาจมีอาการปวดร้าวไปที่ต้นคอ แขนซ้าย หรือกราม ร่วมกับมีอาการคลื่นไส้
บางคนอาจจะมีอาการร่วมกับหน้ามืด เหงื่อออกมาก เหนื่อยง่าย ออกแรงมากไม่ได้ หรืออาการหอบเหนื่อยก็เป็นอาการที่พบได้บ่อย อาการเหล่านี้ไม่จำเพาะต่อโรคหัวใจ แต่ถ้าหากมีอาการดังกล่าวก็ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยให้แน่ชัด เพราะหากหลอดเลือดหัวใจตีบมาก อาการเหล่านี้จะรุนแรง เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันทำให้หัวใจหยุดเต้นอย่างกะทันหันได้
โดยแพทย์อาจแนะนำการตรวจหลายวิธี ขึ้นกับความเหมาะสมของแต่ละบุคคล แต่การตรวจโดยวิธีสวนหลอดเลือดหัวใจ นับเป็นการตรวจที่ถูกต้องแม่นยำที่สุด และมีอัตราความสำเร็จมากถึงร้อยละ 99.99 เพราะแพทย์สามารถมองเห็นเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจได้โดยตรง ว่ามีการอุดตันมากน้อยเพียงใด อุดตันกี่แห่ง
สภาพหลอดเลือดที่อุดตันสามารถทำการรักษาด้วยวิธีถ่างขยายหลอดเลือดที่อุดตันด้วยบอลลูนได้หรือไม่ จำเป็นต้องใส่ขดลวดถ่างขยาย หรือจำเป็นต้องรักษาด้วยการทำผ่าตัดต่อเส้นเลือดหรือไม่ สำหรับระยะเวลาในการตรวจสวนหลอดเลือดหัวใจเฉลี่ยประมาณ 1/2 - 1 ชั่วโมง
และด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันการทำสวนหลอดเลือดหัวใจสามารถทำผ่าน “ข้อมือ” ซึ่งวิธีนี้ผู้ป่วยจะใช้เวลาพักฟื้นอยู่ในโรงพยาบาลเพียง 4 - 8 ชั่วโมง โดยไม่จำเป็นต้องนอนพักฟื้นในโรงพยาบาล และยังสามารถทราบผลการตรวจได้ทันที หากต้องทำการขยายหลอดเลือด ก็สามารถทำบอลลูนพร้อมใส่ขดลวดโดยสอดสายสวนเข้าทางข้อมือได้เมื่อคลำชีพจรแล้วแรงพอ
หากเทียบกับการรักษาผ่านหลอดเลือดแดงที่ขาพบว่าได้ผลดีไม่แตกต่างกัน แต่วิธีการนี้จะทำให้ผู้ป่วยสูงอายุ หรือผู้หญิงที่มีปัญหาปัสสาวะลำบากที่ไม่สามารถนอนนานๆ ได้รับความสะดวกสบายระหว่างการตรวจสวนหัวใจและหลอดเลือดเป็นอย่างมาก เนื่องจากหลังการรักษาสามารถลุกนั่งหรือยืนได้ทันที
นอกจากนี้ยังพบว่า การทำบอลลูนผ่านทางข้อมือ ยังมีข้อดีกว่าผ่านทางขาหนีบคือ
- ภาวะแทรกซ้อนเฉพาะที่จากการใส่สายสวนทำบอลลูนน้อยกว่า เช่น หากมีเลือดออกบริเวณขาหนีบจะทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดโป่งพองและจะทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถงอขา หรือลุกเดินได้เป็นระยะเวลาหลายสัปดาห์
- ผู้ป่วยไม่ต้องนอนเหยียดตรงหลายชั่วโมง หลังการรักษาสามารถลุกเข้าห้องน้ำ และนั่งรับประทานอาหารได้ทันที
- ไม่มีรอยเขียวช้ำที่บริเวณขาหนีบตรงรอยเจาะเลือด
- ระยะเวลาในการพักฟื้นสั้น
นพ.ปัญเกียรติให้ความเห็นว่า แนวโน้มในอนาคตการรักษาด้วยวิธีการรักษาสอดผ่านสายสวนจากข้อมือจะเข้ามาแทนที่การสอดผ่านทางขาหนีบประมาณ 2 ใน 3 เพราะเมื่อคนไข้ทราบว่ามีการรักษาด้วยวิธีทำบอลลูนโดยสอดผ่านทางข้อมือก็จะเลือกทำวิธีนี้เนื่องจากรู้สึกว่าปลอดภัยและไม่น่ากลัวเหมือนการสอดผ่านทางขาหนีบ
นับเป็นการพัฒนาแนวทางการรักษาที่ตอบโจทย์สำหรับผู้ป่วยที่กลัวการสวนหัวใจด้วยวิธีเดิม และยังช่วยผู้ป่วยให้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วขึ้น
อย่างไรก็ตาม การป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันสามารถทำได้โดยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง เช่น ควบคุมอาหาร ควบคุมน้ำหนัก ออกกำลังกาย เลิกสูบบุหรี่ หรือถ้ามีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ก็จำเป็นต้องรับการรักษาควบคุมปัจจัยเหล่านี้อยู่ในระดับที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายหรือมีโอกาสเกิดน้อยที่สุด ผู้ที่สามารถควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ได้ดี ก็จะมีโอกาสเกิดภาวะหลอดเลือดตีบตันน้อยกว่าผู้ที่ไม่ควบคุมหรือควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ได้ไม่ดี
นพ.ปัญเกียรติ กล่าวทิ้งท้ายถึงอันตรายจากโรคหัวใจว่า มีความน่ากลัวใกล้ตัวกว่าที่คิด เมื่อรู้ถึงอันตรายและสาเหตุแล้วก็อย่านิ่งนอนใจ พยายามดูแลสุขภาพตนเอง ไม่สูบบุหรี่ เพื่อป้องกันการเกิดโรคหัวใจ ซึ่งการป้องกันก็ทำได้โดยการหลีกเลี่ยงและควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆ แต่ถ้าหากเป็นโรคหัวใจแล้วก็ควรรักษาโดยเร็ว เพราะความรู้และวิทยาการในปัจจุบันสามารถช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาโรคหัวใจได้อย่างมาก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อหัวใจและสุขภาพจนสายเกินไป
ที่มา กรุงเทพธุระกิืจ