ผู้เขียน หัวข้อ: ได้เวลานักวิจัยไทยกำหนดความปลอดภัยในห้องแล็บ  (อ่าน 1963 ครั้ง)

ออฟไลน์ IloveMT

  • medtech ป โท
  • *****
  • กระทู้: 289
    • อีเมล์



ทุเรียนหล่นใส่เท้านักศึกษาขณะทำแล็บเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในห้องวิจัยไทย หรือลองไปค้นดูในสถานที่ปฏิบัติงานของนักวิจัยเราอาจพบทั้งซองมาม่าและกล่องขนมนมเนยซุกซ่อนอยู่ หากจะไล่นับอุบัติเหตุในห้องทดลองไทยก็จะปรากฏเป็นข่าวอยู่เนืองๆ เป็นที่สนใจบ้าง ไม่เป็นที่สนใจบ้าง แต่เพื่อให้งานวิจัยมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ จึงนำไปสู่การวางแนวทางปฏิบัติเพื่อให้เกิดความปลอดภัยขึ้น
       
       ความไม่ปลอดภัยภายในห้องปฏิบัติการหรือแล็บอย่างที่ระบุไปข้างต้นนั้น ส่งผลกระทบต่อการมีมาตรฐานของห้องปฏิบัติการเอง โดย ศ.นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้ความเห็นในทำนองว่า หากห้องปฏิบัติการมีปัญหาเกี่ยวกับมาตรฐานแล้ว ย่อมส่งผลให้งานวิจัยไม่เป็นที่ยอมรับ
       
       ศ.นพ.สุทธิพรอธิบายว่า ห้องปฏิบัติการที่เป็นแหล่งศึกษาวิจัยด้านวิทยาศาสตร์นั้น ต้องคำนึงถึงปัจจัยสำคัญ 2 ประการ คือ 1.ความน่าเชื่อถือในการดำเนินงาน และ 2.ความปลอดภัย ซึ่งอย่างหลังต้องทำตามหลักปฏิบัติการที่ดีเพื่อให้ผู้วิจัยปลอดภัย และมีของเสียที่อันตรายหรือการแพร่กระจายของสารเคมีต่างๆ สู่สิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
       
       “เราคงเคยเห็นในภาพยนตร์ที่มีห้องแล็บระเบิด ซึ่งในความเป็นจริงก็มีอยู่บ้าง บางอย่างก็เป็นเหตุสุดวิสัย แต่บางอย่างเกิดขึ้นเพราะเราไม่ได้ทำให้มีมาตรฐานความปลอดภัยมากเพียงพอ ของเสียอันตรายจากห้องแล็บหลายๆ อย่างก็ถูกปล่อยปละละเลย ทางมาเลเซียเขาประกาศตัวที่จะทำให้แล็บปราศจากของเสีย แต่ของเราแค่ทำให้มีมาตรฐานการจัดการที่ดีก็พอ ตอนนี้ขอเป็นของเสียที่มีความปลอดภัยก่อน ส่วนจะให้ไม่มีขยะเลยนั้นยังไม่รู้ว่าอีกกี่ปี” ศ.นพ.สุทธิพรกล่าว
       
       ทั้งนี้ วช.ได้ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศแห่งชาติด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและของเสียอันตราย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดตั้งโครงการ “ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการวิจัยในประเทศไทย” โดยได้หารือกันมาตั้งแต่ปี 2553 และได้เริ่มโครงการในเดือน พ.ค.54 นี้ ซึ่ง เลขาธิการ วช.กล่าวว่าโดยภาพรวมโครงการนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งนักวิจัย ห้องปฏิบัติการ ประเทศชาติและสังคม เพราะสินค้าทั้งหลายที่จะได้รับการยอมรับนั้นต้องรับการรับรองจากห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน และมาตรฐานของห้องปฏิบัติการก็มีหลายประเภท เช่น ISO 9001, ISO 14001 ISO/IEC 17025 เป็นต้น
       
       ด้าน รศ.ดร.วราพรรณ ด่านอุตรา จากศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและของเสียอันตราย จุฬาฯ กล่าวถึงภาพรวมของอุบัติเหตุจากห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ว่า หากตามข่าวย้อนหลังจากพบว่ามีข่าวอุบัติเหตุในห้องปฏิบัติการอยู่เสมอ แต่อาจจะมีความสนใจจากคนทั่วไปน้อย เช่น กรณีเกิดเพลิงไหม้สารเคมีที่ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ เมื่อปี 2540 และเกิดไฟไหม้ตึกคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ อีกครั้งในปี 2553 กรณีของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็เคยมีข่าวไฟไหม้อาคารเก็บสารเคมี เป็นต้น และกรณีโรงงานลำไยระเบิดเมื่อปี 2542 จนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากนั้น ก็เป็นปัญหาจากการใช้สารเคมี
       
       สำหรับความร่วมมือของโครงการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการวิจัยในประเทศไทยนี้ รศ.ดร.วราพรรณ กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ว่าเป็นโครงการสร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัย ซึ่งไม่มีข้อบังคับหรือกฎหมายลงโทษ โดยจะระดมความเห็นจากห้องปฏิบัติการที่เข้าร่วมในโครงการเพื่อหาแนวทางปฏิบัติที่ดีแล้วขยายผลต่อไป ซึ่งแนวทางปฏิบัตินี้มีอยู่แล้วแต่ต้องพิจารณาว่าแนวทางปฏิบัติใดที่ทำได้
       
       ขณะนี้มีห้องปฏิบัติการที่มาเข้าร่วมแล้ว 10 ห้องปฏิบัติการ จากมหาวิทยาลัยต่างๆ อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เป็นต้น
       
       ส่วน รศ.ดร.สุภา หารหนองบัว หัวหน้าภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ (มก.) กล่าวในฐานะเป็นห้องปฏิบัติการที่ได้เข้าร่วมในโครงการนี้ ว่าเพื่อรองรับการที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จะเป็น “มหาวิทยาลัยวิจัย” อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาการเป็น “มหาวิทยาลัยสีเขียว” ตามที่ได้เคยประกาศตัวไปนั้น พบว่ายังมีข้อบกพร่องอยู่มาก ส่วนหนึ่งเนื่องจากภาควิชาเคมีเองมีอายุมากถึง 45 ปีแล้ว หลายอย่างก็เริ่มเสื่อมโทรม มีบุคลากรและนักศึกษามากขึ้น สารเคมีในห้องปฏิบัติการก็มากขึ้น และยังมีตึกที่เก็บสารเคมีไว้นานถึง 20 ปีที่รอการจัดการอยู่ ดังนั้น จึงมีความตื่นตัวในการเข้าร่วมโครงการนี้มาก
       
       ทั้งนี้ เป็นการเปิดเผยภายในการเปิดตัวโครงการ ณ โรงแรมรามาการ์เดนส์ เมื่อวันที่ 24 พ.ค.54 และภายในการเปิดตัวดังกล่าวยังมีการแสดงความเห็นจากตัวแทนหน่วยงานต่างๆ ที่เข้าร่วม โดยบางสถาบันให้ความเห็นว่าการจัดการของเสียจากห้องปฏิบัติการนั้นควรมีการคัดแยกอย่างชัดเจน ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการจัดการและยังประหยัดค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างบริษัทเอกชนที่รับจัดการของเสียจากห้องปฏิบัติการ บางสถาบันการศึกษากำหนดให้นักศึกษาทำฉลากของเสียอย่างชัดเจนและมีการลงนามกำกับจากอาจารย์ที่ปรึกษา ไม่เช่นนั้นไม่มีสิทธิจบการศึกษา


ที่มา ผู้จัดการออกไลน์