ผู้เขียน หัวข้อ: หน้าฝน ระวังหูชั้นกลางอักเสบในเด็กเล็ก  (อ่าน 1528 ครั้ง)

ออฟไลน์ IloveMT

  • medtech ป โท
  • *****
  • กระทู้: 289
    • อีเมล์


ในช่วงหน้าฝนนี้นอกจากโรคไข้เลือดออกที่แพทย์เตือนให้ระวังแล้ว พ่อแม่ยังต้องระวังโรคระบบทางเดินหายใจด้วย เช่น โรคไข้หวัดซึ่งก่อให้เกิดอาการเจ็บคอ คัดจมูก ปวดหูในเด็กเล็ก ซึ่งจริงๆ แล้วอาการปวดหูอาจเป็นอาการของโรคหูชั้นกลางอักเสบ พร้อมเตือนให้สังเกตอาการใกล้ชิด หากเด็กร้องงอแง เอามือกุมหูบ่อยๆ ควรพาไปพบกุมารแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม และควรเน้นการป้องกันด้วยการฉีดวัคซีนเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกน้อย

 นพ.ชนเมธ เตชะแสนศิริ หัวหน้าหน่วยโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ในช่วงหน้าฝนนอกจากพบโรคระบบทางเดินหายใจระบาด ทั้งไข้หวัดและปอดบวม แล้วยังมีโรคหูชั้นกลางอักเสบอีกโรคที่พ่อแม่มักละเลยหรือไม่ทราบ โดยพบว่าเด็กเล็กต่ำกว่า 3 ขวบสูงถึงร้อยละ 80 เป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบอย่างน้อย 1 ครั้ง ซึ่งสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรีย ทำให้เกิดการอักเสบและบวมแดงของแก้วหู อาจจะมีน้ำ หรือหนองในเยื่อแก้วหู ตลอดจนเยื่อแก้วหูฉีกขาดในรายที่เป็นรุนแรง

 เด็กเล็กต่ำกว่า 3 ขวบทุกคนเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สำคัญ โดยเฉพาะเด็กที่อยู่เดย์แคร์ เนอร์สเซอรี่ หรือโรงเรียนอนุบาล รวมทั้งเด็กที่เป็นโรคภูมิแพ้ เนื่องจากเด็กเล็กยังมีภูมิต้านทานไม่แข็งแรง อาจเกิดการรับเชื้อโรคจากเด็กด้วยกัน ทำให้เป็นโรคทางเดินระบบหายใจได้ง่าย เช่น โรคไข้หวัด คออักเสบ หรือโพรงจมูกอักเสบ โดยเฉพาะช่วงหน้าฝนนี้ ทำให้เยื่อบุในท่อยูสเตเชี่ยนที่เชื่อมต่อระหว่างหู ไปยังคอและโพรงจมูกเกิดการบวมและการคั่งของน้ำในหู ส่งผลความดันภายในหูเพิ่มมากขึ้น ทำให้เชื้อแพร่กระจายเข้าสู่หูชั้นกลางได้ง่ายขึ้น

 เด็กเล็กที่มีอาการของโรคหูชั้นกลางอักเสบ จะมีไข้สูง ปวดหู หากเด็กเล็กมากๆ หรือทารกที่ยังไม่สามารถบอกได้ ก็จะเอามือกุมหู จับที่หูและงอแงบ่อยๆ พ่อแม่ควรรีบพาไปพบกุมารแพทย์หรือแพทย์ หู คอ จมูก เพื่อตรวจอย่างละเอียด โดยแพทย์มักจะให้ยาปฎิชีวนะร่วมกับการรักษาตามอาการ สำหรับในรายที่เป็นรุนแรงและมีน้ำหรือหนองในเยื่อแก้วหู แพทย์อาจต้องเจาะระบายน้ำและหนองออกเพื่อลดแรงดันในหู ซึ่งหากเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบจากเชื้อไวรัส ส่วนมากอาการมักจะค่อยๆ ดีขึ้นเองใน 3-5 วัน แต่หากมีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งมักเกิดจากเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัสหรือเชื้อฮีโมฟิลุส (ได้แก่ ฮิบและเอ็นทีเอชไอ)

 ส่วนมากหลังให้การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะอาการมักจะค่อยๆ ดีขึ้น แต่เด็กบางคนอาจมีการติดเชื้อรุนแรง และเชื้ออาจจะแพร่กระจายไปยังอวัยวะสำคัญต่างๆ ได้ หากเชื้อเข้าไปยังสมอง จะมีโอกาสทำให้เป็นโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือฝีในสมอง นอกจากนั้นเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัสยังสามารถเข้าไปยังกระแสเลือด ทำให้เป็นโรคติดเชื้อในกระแสเลือด และหากเชื้อเข้าไปที่ปอด จะทำให้เป็นโรคปอดอักเสบรุนแรงได้ การรักษาจะมีความยุ่งยากมากขึ้น และเด็กบางรายอาจมีโอกาสเสียชีวิตได้

 ดังนั้นการป้องกันไม่ให้ติดเชื้อเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่ควรพิจารณา การป้องกันสามารถทำได้ง่ายๆ ตั้งแต่ยังเป็นทารก ได้แก่ ให้ลูกน้อยรับประทานนมแม่ และเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรงด้วยการให้รับประทานอาหารที่เหมาะสมตามวัย รวมทั้งเสริมสร้างภูมิคุ้มโรคกันด้วยวัคซีนพื้นฐานให้ครบ ที่สำคัญปัจจุบันมีวัคซีนไอพีดีพลัส ปอด-หูอักเสบ ซึ่งเป็นวัคซีนเสริมที่นอกจากจะช่วยป้องกันโรคติดเชื้อรุนแรง ได้แก่ โรคไอพีดี ปอดบวมโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคติดเชื้อในกระแสเลือดแล้ว ยังช่วยป้องกันการเกิดโรคหูชั้นกลางอักเสบในเด็กเล็กได้ด้วย

 นอกจากนี้ในหน้าฝนที่กำลังจะมาถึง พ่อแม่ควรดูแลร่างกายลูกน้อยให้อบอุ่นอยู่เสมอ หมั่นเช็ดและทำความสะอาดโพรงจมูกลูกน้อยไม่ให้มีน้ำมูกคั่ง ก็สามารถช่วยลดโอกาสเสี่ยงของการเกิดโรคหูชั้นกลางอักเสบโรคแทรกซ้อนของโรคไข้หวัดได้เช่นกัน