ผู้เขียน หัวข้อ: นักวิจัยทำ “ผ้าคลุมล่องหน” ได้แล้วนะ...แต่ยังอยู่ในแล็บ  (อ่าน 3017 ครั้ง)

ออฟไลน์ webmaster

  • Administrator
  • medtech ปี เอก
  • *****
  • กระทู้: 3951
    • อีเมล์




นักวิจัยพัฒนาเทคนิคใหม่ในการซ่อนวัตถุภายใต้คลื่นไมโครเวฟ และประยุกต์ใช้กับแสงที่ตามองเห็นเพื่อซ่อนวัตถุระดับไมโครเมตรได้ แต่...ผ้าคลุมแบบที่แฮร์รีใช้ยังต้องพัฒนาอีกนาน (Warner Brothers/ไลฟ์ไซน์)

    นักฟิสิกส์พัฒนา “ผ้าคลุมล่องหน” แบบของ “แฮร์รี่ พอตเตอร์” ได้แล้ว แต่ยังเป็นเพียงเวอร์ชันห้องแล็บที่ซ่อนได้เฉพาะวัตถุเล็กจิ๋ว และได้ผลชัดเฉพาะในการทดลองด้วยคลื่นไมโครเวฟ ส่วนการใช้งานกับแสงขาวที่ตามองเห็น … พ่อมดน้อยยังต่อรอไปอีกยาวนาน
   
   นักฟิสิกส์พัฒนาเทคนิคสร้าง “ผ้าคลุมล่องหน” ที่ขยับเข้าใกล้ผ้าคลุมของพ่อมดน้อย “แฮร์รี่ พอตเตอร์” ซึ่งสามารถซ่อนคนในผืนผ้าใต้แสงปกติได้ โดยไลฟ์ไซน์ระบุว่าทีมวิจัยได้ผลิตวัสดุชนิดใหม่ที่เรียกว่า “เมตาสกรีน” (metascreen) ซึ่งสร้างจากแถบเทปแท่งทองแดงที่ประกบติดกับแผ่นฟิล์มโพลีคาร์บอเนตแบบยืดหยุ่นได้
   
   แท่งทองแดงที่ว่านั้นหนาเพียง66 ไมโครเมตรเท่านั้น (เมื่อซอยความยาวของเมตรออกเป็นล้านส่วนแท่งทองแดงจะหนาเพียง 66 ส่วน) ส่วนแผ่นฟิล์มโพลีคาร์บอนเนตนั้นหนา 100 ไมโครเมตร วัสดุทั้งสองจัดเรียงตัวกันเหมือนร่างแห 
   
   สำหรับผ้าคลุมล่องหนที่พัฒนาขึ้นใหม่นี้ใช้เทคนิคที่แตกต่างไปจากผ้าคลุมล่องหนที่เคยพัฒนาก่อนหน้า โดยงานวิจัยครั้งก่อนนั้นใช้วิธีเบนลำแสงรอบๆ วัตถุ จึงไม่มีการกระเจิงหรือสะท้อนออกจากวัตถุ ซึ่งเทคนิคดังกล่าวต้องอาศัยวัสดุที่เรียกว่า “เมตาแมทีเรียลส์” (metamaterials) อันเทอะทะ ส่วนผ้าคลุมล่องหนที่พัฒนาล่าสุดนี้ใช้เทคนิคคลุมคลื่นแสงทั้งหมด ไม่ให้สะท้อนแสงออกจากวัตถุที่ถูกคลุม ทำให้ไม่มีคลื่นแสงเล็ดลอดไปถึงตาของผู้สังเกต
   
   
   แอนเดรีย อะลู (Andrea Alu) นักฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยเท็กซัสในออสติน (University of Texas at Austin) แถลงว่า เมื่อแสงที่กระเจิงจากผ้าคลุมและวัตถุแทรกสอดกัน ก็จะหักล้างแสงซึ่งกันและกันออก กลายเป็นความโปร่งใสและมองไม่เห็นในมุมที่สังเกต
   
   การทดลองในห้องปฏิบัติการนั้นอะลูและคณะประสบความสำเร็จในการซ่อนแท่งทรงกระบอกยาว 18 เซ็นติเมตร จากการมองผ่านแสงไมโครเวฟ และด้วยเทคนิคเดียวกันนี้พวกเขาระบุว่า ใช้ในการซ่อนวัตถุรูปทรงแปลกๆ และมีรูปร่างไม่สมมาตรได้เช่นกัน
   
   อะลูกล่าวว่า ข้อได้เปรียบของผ้าคลุมล่องหนแบบใหม่คือความสะดวกในการใช้ ความง่ายในการผลิตและยังปรับเปลี่ยนความถี่แสงที่ต้องการซ่อนได้ พวกเขาได้แสดงให้เห็นว่า ไม่จำเป็นต้องใช้เมตาแมทีเรียลส์ที่เทอะทะเพื่อบังการกระเจิงจากวัตถุ การใช้พื้นผิวที่มีโครงร่างง่ายๆ ที่สอดคล้องกับวัตถุก็เป็นสิ่งเพียงพอ
   
   ทีมวิจัยเชื่อด้วยว่าจะดีกว่าเมตาแมทีเรียลส์ ซึ่งโดยหลักการแล้วผ้าคลุมแบบเดียวกันนี้จะใช้ซ่อนวัตถุในย่านแสงที่ตามองเห็นได้ แต่ได้เฉพาะวัตถุขนาดเล็กมากๆ ระดับไมโครเมตร และการพัฒนาผ้าคลุมล่องหนนี้ขึ้นมา ไม่ใช่เพียงแค่ทำให้แฟนๆ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ตื่นเต้นหรือจุดประกายการสอดแนมเท่านั้น แต่นวัตกรรมนี้ยังนำไปประยุกต์ใช้งานอื่นๆ เช่น ใช้เป็นอุปกรณ์ตรวจวัดแบบไม่รุกล้ำผู้อื่น หรือใช้เป็นเครื่องทางชีวการแพทย์
   
   งานวิจัยนี้ได้ตีพิมพ์ลงวารสารนิวเจอร์นัลออฟฟิสิกส์ (New Journal of Physics)




ที่มา นสพ.ผู้จัดการ