ผู้เขียน หัวข้อ: หมอประดิษฐ ยืนยันยังไม่พบการทุจริตจัดซื้อเครื่องตรวจน้ำตาลในเลือด  (อ่าน 1967 ครั้ง)

ออฟไลน์ webmaster

  • Administrator
  • medtech ปี เอก
  • *****
  • กระทู้: 3951
    • อีเมล์
หมอประดิษฐ ยืนยันยังไม่พบการทุจริตจัดซื้อเครื่องตรวจน้ำตาลในเลือด ต้องตรวจสอบเพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย




วันนี้ (25 เมษายน 2556) นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการซื้อเครื่องตรวจวัดน้ำตาลในกระแสเลือดว่า ตามที่มีข่าวว่าในบางพื้นที่ได้มีการดำเนินการจัดซื้อไปแล้วนั้น  การจะบอกว่ามีการทุจริตหรือไม่ต้องตรวจสอบกันด้วยหลักฐาน รวมทั้งต้องตรวจสอบว่ามีการซื้อในราคาแพงเกินไปหรือไม่สมราคาหรือไม่ เรื่องนี้ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2555 โดยคณะกรรมการในพื้นที่ได้พิจารณาความเหมาะสมในการจัดซื้อ และมีการดำเนินการตามขั้นตอนตามระเบียบพัสดุ
สิ่งที่เน้นคือจะต้องมีการพิสูจน์ในเชิงนโยบายก่อน เพราะว่าตอนนี้เป็นแนวความคิดที่ว่าถ้าซื้อเครื่องแล้วใช้แถบตรวจน้ำตาลจะแพงกว่าการที่ซื้อแถบตรวจน้ำตาลแล้วแถมเครื่อง  ต้องมีการตรวจและพิสูจน์อย่างนี้ได้ก่อนยกตัวอย่าง เช่น ถ้าซื้อเครื่อง 11,400 บาทแล้วขายแถบตรวจฯราคา 5 บาทกับซื้อแถบตรวจราคา  6 บาทแต่แถมเครื่องฟรีราคาแถบตรวจฯที่แพงกว่า 1 บาท ใช้ไป 1,400 ครั้งก็จะคุ้มทุนแล้ว ดังนั้นต้องมาพิสูจน์ว่าอะไรแพงกว่า
จึงต้องให้โอกาสผู้ที่ทำงานว่ามีการตัดสินใจเชิงนโยบายอย่างไร บางเรื่องมีบริบทของความจำเป็นอยู่แล้วเพราะบางพื้นที่อาจจะไม่มีเครื่องตรวจก็ต้องการซื้อเครื่อง หรือบางพื้นที่อาจมีแถบตรวจฯอยู่แล้วต้องการเครื่องใหม่เนื่องจากเครื่องเก่าพัง ซึ่งจะต้องมีการคุยในรายละเอียดว่าเมื่อให้เครื่องฟรีมาแล้วหากเครื่องพังใครจะรับผิดชอบ หรือว่าจะต้องกลับไปซื้อเครื่องใหม่ ดังนั้นจึงมีรายละเอียดปลีกย่อยที่ต้องดู จึงควรให้ความเป็นธรรมกับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย
“หากจะเชิญไปให้ สตง. ตรวจสอบตนเองคิดว่ายังไม่พบความผิดปกติอะไรเลย  ซึ่งจะทำให้ สตง. มีปัญหาในเรื่องนี้  จะต้องพิสูจน์ในหลักการที่ได้บอกไปแล้ว  โดยมีคำถามที่ต้องพิสูจน์เมื่อพิสูจน์ออกมาแล้วจะพบว่าการตัดสินใจในเชิงนโยบายผิดอย่างไร หากถามถึงเรื่องทุจริตจะต้องแปลความหมายให้ชัดเจนและผู้ที่เกี่ยวข้องได้ผลประโยชน์อย่างไร และเห็นด้วยกับท่านปลัดกระทรวงสาธารณสุขที่เสนอให้ยุติการซื้อและให้มีการพิสูจน์ก่อน”นายแพทย์ประดิษฐกล่าว
นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า ได้ขอให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเข้าไปดูแนวคิดว่าถ้าซื้อเครื่องตรวจน้ำตาลแล้วซื้อแถบตรวจฯ จะแพงกว่าโดยรวมถ้าเราซื้อแถบตรวจฯ อย่างเดียวแล้วแถมเครื่องเป็นเชิงความคิดเพราะยังไม่มีการพิสูจน์ข้อเท็จจริง แต่ถ้ามีการซื้อเครื่องราคาแพงกว่าปกติ เช่นซื้อเครื่องจากบริษัทเอแล้วแพงว่าที่คนอื่นซื้อจะต้องมีการตรวจสอบ  ซึ่งตนสนใจรูปแบบนี้หากออกมาดีอาจจะไปดำเนินการต่อกับบริษัทเครื่องเอ๊กซ์เรย์ไม่ต้องซื้อเครื่อง  ซื้อเฉพาะฟิล์มแล้วแถมเครื่องทำสัญญาผูกพันกัน 10 ปี แต่ต้องควบคุมราคาแถบตรวจน้ำตาล  ราคาฟิล์ม  ถ้าไม่ได้ควบคุมราคาไว้แล้วขึ้นราคาภายหลังจะทำอย่างไร มีมาตรการหลายอย่างที่ได้ให้ท่านปลัดกระทรวงไปดูให้รอบคอบ
สำหรับการกล่าวหาว่าทุจริตนั้น ตนเองยังไม่เห็นว่ามีการทุจริต ซึ่งทางแพทย์ชนบทอาจจะไม่เห็นด้วยในเชิงความคิดเท่านั้นไม่ได้มุ่งหวังว่าจะมีการทุจริตแต่อย่างไร  ทั้งนี้ การซื้อเครื่องตรวจน้ำตาลให้ อสม.นั้นได้รับรายงานจากอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพว่า มีแนวคิดในการให้ อสม.เข้าไปดูแลผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ซึ่งได้สอบถามผู้เชี่ยวชาญแล้วว่าเครื่องตรวจน้ำตาลเป็นเครื่องที่ประชาชนทั่วไปสามารถใช้ได้ ไม่ได้มีการระบุว่าเป็นเครื่องมือที่ใช้เฉพาะแพทย์ซึ่งไม่น่าจะมีปัญหา เพราะซื้อมาให้ อสม.เข้าไปตรวจระดับน้ำตาลผู้ป่วยเบาหวานซึ่งเป็นโรคเรื้อรังที่ อสม.ต้องดูแลและเห็นว่าจำเป็น ซึ่งวิชาชีพไม่ได้ขัดข้อง




--------------------
ที่มา http://www.moph.go.th/