ผู้เขียน หัวข้อ: สธ. ตั้งคลินิกโรคจากการทำงานในโรงพยาบาลจังหวัด จำนวน 81 แห่ง และคลินิกเกษตรกรในรพ.สต.  (อ่าน 1760 ครั้ง)

ออฟไลน์ webmaster

  • Administrator
  • medtech ปี เอก
  • *****
  • กระทู้: 3951
    • อีเมล์
สธ. ตั้งคลินิกโรคจากการทำงานในโรงพยาบาลจังหวัด จำนวน 81 แห่ง และคลินิกเกษตรกรในรพ.สต.


         วันนี้ (1 พฤษภาคม 2556) นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี รัฐบาลได้กำหนดให้เป็นวันแรงงานแห่งชาติ และให้ความสำคัญในการดูแลประชากรกลุ่มนี้ซึ่งมีประมาณ 45 ล้านคน นับเป็นวัยที่เป็นกำลังในการสร้างเศรษฐกิจให้ประเทศและครอบครัว ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายดูแลคนกลุ่มนี้ เพื่อป้องกันและลดปัญหาการเจ็บป่วยด้วยโรคทั่วไป และโรคจากการประกอบอาชีพ เช่น อุบัติเหตุจากการทำงาน การได้รับสารเคมีในภาคเกษตร เป็นต้น

          นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า ขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งคลินิกโรคจากการทำงานในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ 81 แห่ง เพื่อรักษาโรคภัยที่เกิดจากการทำงาน ทั้งจาก 3 ระบบกองทุนสุขภาพ มีแพทย์เชี่ยวชาญในสาขานี้ดูแลเฉพาะ พร้อมเครื่องมือแพทย์ ระบบการดูแลมีความเป็นพิเศษแตกต่างจากผู้ป่วยทั่วไป เช่น ห้องชำระล้างสารเคมี เครื่องตรวจระดับการได้ยิน ยารักษาที่จำเพาะโรค การเย็บต่ออวัยวะที่ถูกเครื่องจักรตัดขาด เป็นต้น  ส่วนในพื้นที่ชนบทส่วนใหญ่เป็นแรงงานภาคเกษตรกรรม จะตั้งคลินิกสุขภาพเกษตรกรในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือ รพ.สต. อย่างน้อยจังหวัดละ 1 แห่ง เพื่อป้องกันโรคทั่วไป และตรวจคัดกรองความเสี่ยงจากการได้รับสารเคมีที่ใช้ในการเกษตรกรรม เช่น ยาฆ่าแมลง เนื่องจากมีผลการตรวจเลือดเกษตรกรในรอบ 2 ปีมานี้ พบมีสารกำจัดศัตรูพืชในระดับที่เสี่ยงและไม่ปลอดภัย สูงถึงร้อยละ 32 ของเกษตรกรที่ได้รับการตรวจคัดกรอง จึงต้องเน้นการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาสุขภาพระยะยาว ที่น่าห่วงคือโรคมะเร็งจากสารเคมีบางตัว

          ด้านดร.นายแพทย์พรเทพ  ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้กรมควบคุมโรคได้จัดทำคู่มือการจัดบริการคลินิกสุขภาพเกษตรกรในรพ.สต. เป็นคู่มือสำหรับการทำงานของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการดูแลเกษตรกรที่มีอยู่ 15 ล้านคน รวมทั้งจัดทำคู่มือประเมินความเสี่ยงอาการผิดปกติของระบบโครงร่าง กระดูกและกล้ามเนื้อ เพื่อให้การดูแลสุขภาพอย่างถูกต้อง ใช้ในโรงพยาบาลทั่วประเทศ รวมถึงรพ.สต. โดยได้รับความร่วมมือจากคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล และแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ของสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยาพบว่า โรคจากการประกอบอาชีพที่มีรายงานมาก 5  อันดับ ได้แก่ กลุ่มโรคกระดูกและกล้ามเนื้อพบร้อยละ 54   รองลงมากลุ่มพิษจากสัตว์ร้อยละ 25  กลุ่มโรคผิวหนังร้อยละ  20 กลุ่มพิษจากพืชร้อยละ  4  กลุ่มโรคปอดและทางเดินหายใจร้อยละ 3 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มโรค

           ดร.นายแพทย์พรเทพ กล่าวต่อว่า การทำงานในท่าทางไม่เหมาะสมซ้ำๆทุกวันเป็นระยะเวลานาน จะทำให้เกิดความเมื่อยล้าและอาการเจ็บปวดเฉพาะที่ เช่น การยืน  การนั่งพิมพ์คอมพิวเตอร์  การยกของหนัก ฯลฯ  อาจเกิดอาการเจ็บปวดถาวร และความเสื่อมของข้อต่อเอ็นได้ วิธีที่ดีที่สุดคือการป้องกันสาเหตุ ควรหากิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวของร่างกาย เช่น ยืดเหยียดกล้ามเนื้อต้นคอ บ่า หลัง ไหล่ - สะบัก หลังส่วนบน สีข้าง ลำตัวและข้อเท้า  ซึ่งทำได้ง่ายทุกเพศทุกวัย ใช้เวลาน้อย ซึ่งจะทำให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่า สร้างความพร้อมกล้ามเนื้อในการเคลื่อนไหว ได้ดีขึ้น ป้องกันการบาดเจ็บ เพิ่มการไหลเวียนโลหิตในร่างกาย และช่วยผ่อนคลายความเครียดด้วย  ทั้งนี้ สามารถขอคำแนะนำได้ที่  สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม โทรศัพท์ 02 591 8172 หรือทาง E-mail  :  media.envocc@gmail.com





---------------------------
ที่มา : http://www.moph.go.th/