ผู้เขียน หัวข้อ:  (อ่าน 1868 ครั้ง)

ออฟไลน์ webmaster

  • Administrator
  • medtech ปี เอก
  • *****
  • กระทู้: 3951
    • อีเมล์
(ไม่มีหัวข้อ)
« เมื่อ: พฤษภาคม 02, 2013, 10:07:49 am »


สธ.ให้ทุกจังหวัดเร่งควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออก เตรียมพร้อมรับมือไข้หวัดนกสายพันธุ์ใหม่


กระทรวงสาธารณสุขประชุมชี้แจงนโยบายผู้บริหารส่วนกลางและระดับจังหวัดเน้นย้ำการบริหารงบประมาณให้เกิดประสิทธิภาพ เดินหน้าการจ่ายค่าตอบแทนแบบใหม่ตามมติ ครม. ยืดหยุ่นหลักเกณฑ์รายละเอียดทางปฏิบัติ พร้อมกำชับเร่งควบคุมป้องกันดรคไข้เลือดออกและไข้หวัดนกสายพันธุ์ใหม่ทุกจังหวัด

วันนี้ (1 พฤษภาคม 2556 ) ที่โรงแรมริชมอนด์ นนทบุรี นายแพทย์ประดิษฐ  สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  นายแพทย์ชลน่าน  ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ณรงค์  สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปทั่วประเทศ   ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ เพื่อชี้แจงนโยบายเร่งด่วน อาทิ การควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออกและไข้หวัดนก ทิศทางการบริหารงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ   ค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน  และทิศทางการพัฒนากระทรวงสาธารณสุข และโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในปีงบประมาณ 2557

          นายแพทย์ประดิษฐ กล่าวว่า ในการบริหารงบประมาณ ปี 2557 ที่ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ได้มอบให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุข วางความพร้อมและเดินหน้าดำเนินงานไปได้เลย เพื่อลดปัญหาและอุปสรรคในการจัดซื้อจัดจ้าง ส่วนงบประมาณปี 2558 จะลดความซ้ำซ้อนทั้งงบลงทุน วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ และมีความสอดคล้องกับการจัดเขตบริการสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานมากที่สุด มีการใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างเหมาะสมทั้งบุคลากร เครื่องมือแพทย์ เตียงรับผู้ป่วย ห้องผ่าตัด เพื่อจะนำไปสู่การขอตำแหน่งบรรจุข้าราชการ 7,000 คนจากคณะรัฐมนตรีให้ทันในวันที่1ตุลาคม 2556 ที่กำหนดเงื่อนไขให้ปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานก่อน

          สำหรับการบริหารงบประมาณขาลง ปี 2556  มติของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้มีการดำเนินการร่วมกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) โดยให้กระทรวงสาธารณสุขเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหาร ตามที่อนุคณะกรรมการการเงินการคลังเสนอ เพื่อแก้ไขปัญหาเงินค้างจ่าย  โดย สปสช.จะส่งเงินไปที่พื้นที่โดยตรงเช่นเดิมและจ่ายตามต้นทุนต่อหน่วย(unit cost)ของโรงพยาบาลทุกแห่ง นอกจากนี้จะเริ่มดำเนินการในเรื่องการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ซึ่งจะเป็นการใช้กลไกการเงินไปเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงาน   สำหรับเรื่องการจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงานแบบใหม่ตามมติคณะรัฐมนตรี เป็นสิ่งที่ต้องเดินหน้าดำเนินการ   ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน

          ด้านนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า นโยบายการจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน เป็นเรื่องที่มีผลดีกับทุกฝ่าย  สิ่งที่ต้องดำเนินการคือการสร้างความเข้าใจแก่โรงพยาบาลชุมชน ซึ่งยังมีส่วนหนึ่งยังมีความกังวล  แต่มั่นใจว่าระบบนี้จะก้าวเดินได้ เพราะสิ่งที่กังวลเป็นรายละเอียดในเชิงปฏิบัติ สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามข้อเท็จจริงในส่วนที่ไม่ต้องขอมติคณะรัฐมนตรี จากการเดินทางไปติดตามหลายจังหวัด พบว่าขณะนี้โรงพยาบาลชุมชนหลายแห่งได้ดำเนินการแล้วพร้อมเริ่มจ่ายหลังเมษายนนี้ ได้กำชับให้ผู้ตรวจราชการ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ดูแลช่วยเหลือโรงพยาบาลชุมชนอย่างใกล้ชิด

นายแพทย์ณรงค์  สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า วันนี้ได้กำชับให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทุกระดับทั่วประเทศ เร่งควบคุมป้องกัน 2 โรคที่เป็นปัญหาสำคัญ  คือ1.โรคไข้เลือดออก ในรอบ 15 สัปดาห์ของปี 2556 นี้ พบผู้ป่วยมากเป็น 3 เท่าของปี 2553 และ 4 เท่าของปี 2555 มีการคาดการณ์ว่าจะระบาดรุนแรงแน่นอน ขณะนี้พบผู้ป่วยทุกจังหวัด และจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยช่วงนี้เป็นช่วงการป้องกัน ลดจำนวนยุงลาย แต่จากผลการสำรวจดัชนีลูกน้ำยุงลาย ซึ่งเป็นการสะท้อนความตื่นตัวในการทำงานควบคุมป้องกันโรค พบว่าขณะนี้สูงทุกจังหวัด ดังนั้นต้องประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดและองค์กรท้องถิ่นในการกำจัดลูกน้ำยุงลาย

          ในส่วนการรักษาพยาบาล ให้ทุกโรงพยาบาลเตรียมพร้อมการรักษา การส่งต่อผู้ป่วย และให้กรมการแพทย์จัดอบรมฟื้นฟูการวินิจฉัยโรค การรักษา แก่แพทย์ โดยเฉพาะแพทย์จบใหม่ และให้กรมควบคุมโรคและกรมอนามัย ประสานกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อร่วมมือกำจัดลูกน้ำยุงลายในโรงเรียนก่อนเปิดเทอม

          โรคที่ 2.โรคไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช7เอ็น9(H7N9) ที่พบผู้ป่วยในภาคตะวันออกของจีน   มีผู้ป่วยยืนยันทั้งสิ้น 126 ราย เสียชีวิต 24 ราย โดย 2 ใน 3 เป็นผู้สูงอายุ  ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งวอร์รูม  ยกระดับเตรียมพร้อมจากระดับ 3 เป็นระดับ 4 ตามองค์การอนามัยโลก เนื่องจากมีข้อมูลอาจจะมีการติดต่อคนสู่คนในวงจำกัด   ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงสภาพอากาศร้อน  มีเวลาเตรียมการรับมือโรคนี้ก่อนเข้าสู่ฤดูหนาว

          โดยการป้องกันได้วางไว้ 6 มาตรการ คือ 1.เฝ้าระวังการระบาดใน 4 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ที่มีการติดเชื้อทางเดินหายใจรุนแรง ผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศและมีอาการปอดบวม ผู้ป่วยปอดบวมที่พบเป็นกลุ่ม ตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปในชุมชน และบุคลากรทางการแพทย์ที่ป่วยเป็นปอดบวม  2.เตรียมความพร้อมการตรวจทางห้องปฏิบัติการทั้งในส่วนของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป และภาคมหาวิทยาลัย

3.การดูแลรักษาพยาบาล มอบกรมการแพทย์ฝึกอบรมบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทุกจังหวัด เรื่องแนวทางการเฝ้าระวัง การรักษาและการป้องกันการติดเชื้อในสถานพยาบาล  เตรียมห้องแยกผู้ป่วย ตามมาตรฐานการดูแลโรคไข้หวัดนก 4.ให้ความรู้แก่ประชาชน เน้นย้ำให้รักษาพฤติกรรมสุขภาพที่ดี เช่น ล้างมือ ผู้ป่วยให้สวมหน้ากากอนามัยและหยุดพักผ่อนอยู่บ้าน หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ ล้างมือหลังสัมผัสสัตว์ ไม่นำสัตว์ที่ป่วยตายผิดปกติมาขายและรับประทาน 5.เตรียมพร้อมยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ ทั้งชนิดกินและฉีด และวัสดุอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ และ6.การตรวจคัดกรองบริเวณช่องทางเข้าออกประเทศซึ่งจะปฏิบัติตามคำแนะนำขององค์การอนามัยที่ขณะนี้ได้แนะนำว่ายังไม่มีความจำเป็นในการคัดกรองพิเศษ

ขณะนี้ ประเทศไทยยังไม่พบการติดเชื้อสายพันธุ์เอช7เอ็น9 ทั้งในสัตว์ปีกและคน อย่างไรก็ตามขอให้ทุกจังหวัดเฝ้าระวังผู้ป่วยใน 4 กลุ่มข้างต้น เพื่อจับสัญญาณการระบาดได้เร็ว และให้ทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วมีความพร้อมพร้อมปฏิบัติงานตลอดเวลา





--------------------------------------
http://www.moph.go.th/