ผู้เขียน หัวข้อ: สธ. รณรงค์ป้องกันไข้เลือดออกภาคอีสาน เน้นมาตรการ 5ป 1ข  (อ่าน 1883 ครั้ง)

ออฟไลน์ webmaster

  • Administrator
  • medtech ปี เอก
  • *****
  • กระทู้: 3951
    • อีเมล์



 กระทรวงสาธารณสุข  รณรงค์ป้องกันโรคไข้เลือดออกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเน้นปฏิบัติตามมาตรการ 5ป 1ข  ได้แก่ กิจกรรม 5 ป. ปราบยุงลาย (เปลี่ยน ปิด ปล่อย ปรับปรุง ปฏิบัติเป็นประจำ) และ 1 ข. ขัดไข่ยุงลาย  พร้อมส่งเสริมการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นสร้างนวัตกรรมในการควบคุมลูกน้ำยุงลาย ให้ลดน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออก และเน้นให้ประชาชนร่วมมือในการทำลายแหล่งเพาะพันธ์ยุง   พร้อมเผยแพร่ชุมชนต้นแบบหมู่บ้านปลอดไข้เลือดออกบ้านอีปุ้ง ต.ดูน อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ ไม่มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก 12 ปีแล้ว 


วันนี้ (2 พฤษภาคม 2556) ที่โรงแรมสุนีย์แกรนด์ฯ  จังหวัดอุบลราชธานี  ดร.นายแพทย์พรเทพ  ศิริวนารังสรรค์  อธิบดีกรมควบคุมโรค  กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงานมหกรรมรณรงค์ไข้เลือดออกภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดอุบลราชธานี ว่า งานมหกรรมครั้งนี้กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับเครือข่ายในภูมิภาคจัดขึ้น ภายใต้หัวข้อ "ภูมิปัญญาไทย ต้านภัยไข้เลือดออก" โดยมุ่งหวังให้ประชาชนใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อเป็นทางเลือกในการควบคุมยุงลาย 

สำหรับสถานการณ์โรคไข้เลือดออกทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 30 เมษายน 2556 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก จำนวน 26,067 ราย เสียชีวิต 33 ราย (เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 5 รายจากสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้แก่ จังหวัดตาก 2 ราย สุโขทัย 2 ราย และภูเก็ต 1 ราย) และผู้ป่วยมากกว่าปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกัน 3.3 เท่า 
ทั้งนี้  กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรคได้เร่งรัดและรณรงค์ให้ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงและลูกน้ำในช่วงนี้ ก่อนที่ฝนจะเริ่มตกในเดือนพฤษภาคมนี้  ซึ่งจะทำให้ปริมาณยุงเพิ่มอย่างรวดเร็ว โดยต้องอาศัยความร่วมมือของหน่วยงานเครือข่ายต่างๆ รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งและประชาชนทุกคน ในการเร่งกำจัดลูกน้ำยุงลายอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอทุกสัปดาห์ ทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครัวเรือน ชุมชน และพื้นที่สาธารณะ เช่น โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก ชุมชน ตลาดสด สถานีขนส่ง สวนสาธารณะ เป็นต้น  รวมถึงประชาสัมพันธ์ส่งเสริมให้ประชาชนป้องกันตนเองไม่ให้ยุงลายกัด โดยใช้ผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นเพื่อลดการใช้สารเคมีในการป้องกันควบคุมโรคด้วย
ดร.นายแพทย์พรเทพ กล่าวต่อไปว่า ภายในงานมหกรรมครั้งนี้ ยังได้รวบรวมนวัตกรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นไว้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันจำนวนมาก เช่น นวัตกรรมที่น่าสนใจ ดังนี้ 1.การใช้มะกรูดบากผิวใส่ลงในภาชนะขังน้ำ 1 ลูกต่อพื้นที่น้ำ 40 ตารางนิ้ว ป้องกันได้ 2 วัน  2.การใช้ตาข่ายไนล่อนหรือผ้าขาวบางมาปิดปากโอ่งรัดด้วยเชือก ป้องกันไม่ให้ยุงลายมาวางไข่  3.นำถุงใส่ตะไคร้หอมวางบริเวณที่อับเช่น ตู้เสื้อผ้า ห้องน้ำ จะไล่ยุงไม่ให้มารบกวนได้  4.ปี๊บดักยุง โดยใช้ปี๊บขนมปังเปิดฝาใส่ผ้าสีทึบหรือถุงเท้า ยุงจะเข้าไปตอนกลางคืน ตอนเช้าเอาปี๊บไปตากแดด 2 ชั่วโมงเพื่อฆ่ายุง  นอกจากนี้ ยังมีภูมิปัญญาท้องถิ่นที่น่าสนใจอีกมาก ที่จะนำมาเสนอให้ประชาชนได้ทราบในงานมหกรรมรณรงค์โรคไข้เลือดออกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือครั้งนี้ด้วย และจะได้เผยแพร่ในพื้นที่ชุมชน ต่อไป
สำหรับมาตรการ 5ป 1ข  ได้แก่ 5 ป. ปราบยุงลาย ได้แก่ ปิดภาชนะน้ำกินน้ำใช้ให้มิดชิดหลังการตักใช้น้ำทุกครั้ง เพื่อป้องกันยุงลายลงไปวางไข่  เปลี่ยนน้ำในแจกัน ถังเก็บน้ำ ทุก 7 วัน เพื่อตัดวงจรลูกน้ำที่จะกลายเป็นยุง  ปล่อยปลากินลูกน้ำในภาชนะใส่น้ำถาวร เช่น อ่างบัว ถังซีเมนต์เก็บน้ำขนาดใหญ่  ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้ปลอดโปร่ง โล่ง สะอาด ลมพัดผ่าน ไม่เป็นที่เกาะพักของยุงลาย และ ปฏิบัติเป็นประจำจนเป็นนิสัย

ส่วน 1 ข. ขัดไข่ยุงลาย เนื่องมาจากยุงลายจะไข่เหนือระดับน้ำ 1-2 เซนติเมตร นั้น เมื่อมีน้ำมาเติมจนท่วมหลังไข่ก็จะฟักตัวเป็นลูกน้ำ แต่หากไม่มีน้ำมาเติมจนท่วมถึงก็จะแห้งติดผนังภาชนะอย่างนั้นได้นานเป็นปี  และเมื่อมีน้ำมาท่วมไข่ก็พร้อมจะแตกตัวเป็นลูกน้ำภายในได้ใน 30 นาที  จึงจำเป็นต้องมีการขัดไข่ยุงลายในภาชนะด้วย โดยใช้ใยขัดล้าง หรือแปรงชนิดนุ่มช่วยในการขัดล้าง และทิ้งน้ำที่ขัดล้างนั้นบนพื้นดินเพื่อให้ไข่แห้งตายไปไม่ควรทิ้งลงท่อระบายน้ำ ซึ่งอาจจะเป็นแหล่งน้ำใสนิ่งทำให้ไข่บางส่วนรอดและเจริญเป็นลูกน้ำและยุงลายได้อีก 
“นอกจากกิจกรรมรณรงค์ไข้เลือดออกในครั้งนี้แล้ว  ยังได้ลงพื้นที่ดูงานในชุมชนต้นแบบ หมู่บ้านปลอดไข้เลือดออก ที่หมู่บ้านอีปุ้ง ตำบลดูน อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ  ซึ่งมีนวัตกรรมเพื่อป้องกันลูกน้ำยุงลาย เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สามารถทำได้ง่ายและใช้ได้ผลดี  เช่น การใช้ตาข่ายไนล่อนหรือผ้าขาวบางมาปิดปากโอ่งรัดด้วยเชือก ป้องกันไม่ให้ยุงลายมาวางไข่ และการปล่อยปลากระดี่ หรือปลาบู่กินลูกน้ำยุงลาย เป็นต้น  โดยความสำเร็จเกิดจากความสามัคคีในชุมชน แกนนำเข้มแข็ง และหน่วยงานต่างๆ ให้การสนับสนุน จนทำให้หมู่บ้านแห่งนี้ไม่มีผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกตั้งแต่ปี 2544 ถึงปัจจุบัน รวม 12 ปีแล้ว และการตรวจประเมินค่าดัชนีความชุกของลูกน้ำในปี 2556 ก็พบว่ามีค่าเป็นศูนย์ด้วย” ดร.นายแพทย์พรเทพ  กล่าว
ทางด้านนายแพทย์ศรายุธ   อุตตมางคพงค์   ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7  อุบลราชธานี  กล่าวเพิ่มเติมว่า  สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้ง 20 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-30 เมษายน 2556 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก จำนวน 6,731 ราย มีผู้เสียชีวิต 7 ราย ที่จังหวัดนครราชสีมา สุรินทร์ เลย จังหวัดละ 2 ราย และอุบลราชธานี 1 ราย โดยจังหวัดที่พบผู้ป่วยมากสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา 921 ราย อุบลราชธานี 859 ราย ศรีสะเกษ 685 ราย สุรินทร์ 661 ราย และบุรีรัมย์ 526 ราย ตามลำดับ 
สำหรับการจัดงานมหกรรมรณรงค์โรคไข้เลือดออกภาคตะวันออกเฉียงเหนือในครั้งนี้ กรมควบคุมโรค โดยสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 นครราชสีมา สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 ขอนแก่น และสำนักสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 อุบลราชธานี  จัดร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี เครือข่ายสถานศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และอาสาสมัครสาธารณสุขชุมชน(อสม.) โดยมีหน่วยงานและประชาชนเข้าร่วมกว่า 1,000 คน
           “ในโอกาสนี้ ขอแนะนำประชาชน หากท่านใดมีอาการป่วยมีไข้ กินยาลดไข้แล้วไข้ยังลอยไม่ลด 2-3 วัน คลื่นไส้ อาเจียน  เบื่ออาหาร หน้าแดง ปวดเมื่อยตามร่างกาย  ซึ่งเป็นอาการเบื้องต้นของไข้เลือดออก  ไม่ต้องรอให้เกิดจุดเลือดใต้ผิวหนัง ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อเจาะเลือดตรวจ ก่อนที่ผู้ป่วยจะเกิดอาการช็อกและเสียชีวิต และหลังการรักษาโรคไข้เลือดออกแล้ว ช่วงที่ไข้ลดลงในวันที่ 3-4 หากผู้ป่วยซึมลง กินอาหารดื่มน้ำไม่ได้ให้รีบกลับมาหาแพทย์เพื่อรักษาให้ทันท่วงที  หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถติดต่อได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮ็อตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข โทรศัพท์ 1422 และศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค โทรศัพท์ 0 2590 3333” นายแพทย์ศรายุธ กล่าวปิดท้าย






---------------------------
ที่มา http://www.moph.go.th/