ผู้เขียน หัวข้อ: เพลย์บุ๊คบนรถยนต์ อัจฉริยะแห่งการขับขี่  (อ่าน 1383 ครั้ง)

ออฟไลน์ webmaster

  • Administrator
  • medtech ปี เอก
  • *****
  • กระทู้: 3951
    • อีเมล์

รีเสิร์ช อิน โมชั่น (อาร์ไอเอ็ม) ผู้ผลิตโทรศัพท์แบล็คเบอร์รี อาจล้าหลังคู่แข่งในสงครามโทรศัพท์อัจฉริยะ แต่บริษัทยังหวังว่าจะกู้หน้าได้

ในการผลักดันให้ซอฟต์แวร์โทรศัพท์อัจฉริยะและคอมพิวเตอร์แทบเล็ต เข้าไปอยู่ในรถยนต์ หลังจากเข้าซื้อกิจการ คิวเอ็นเอ็กซ์ ซอฟต์แวร์ ซิสเต็ม โค เมื่อปีที่แล้ว
 
คิวเอ็นเอ็กซ์ เป็นผู้ผลิตซอฟต์แวร์ที่เข้าไปเสริมกำลังให้กับระบบควบคุมและความบันเทิงระดับไฮเอนด์ในรถยนต์กว่า 20 ล้านคัน ทั้งของ เจนเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) บีเอ็มดับเบิลยู และโตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป อีกทั้งซอฟต์แวร์ของคิวเอ็นเอ็กซ์ ยังเป็นแพลตฟอร์มสำหรับ เพลย์บุ๊ค แทบเล็ตที่อาร์ไอเอ็มเพิ่งเปิดตัวเมื่อเร็วๆ นี้ และโทรศัพท์อัจฉริยะแบล็คเบอร์รีรุ่นใหม่ในอนาคต
 
อาร์ไอเอ็มหวังว่าจะใช้ คิวเอ็นเอ็กซ์ เป็นผู้นำในการแข่งขันที่จะทำให้แผงหน้าปัดรถยนต์กลายเป็นคอมพิวเตอร์ สามารถใช้อ่านอีเมล เปิดแอพพลิเคชั่นต่างๆ หรือเล่นเพลงที่เก็บไว้ในบรรดาเครื่องมือสื่อสารไร้สายทั้งหลาย โดยแอพพลิเคชั่นเหล่านี้จะติดตั้งไปกับรถยนต์ที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ด้วยตัวเอง
 
นอกจากนี้ คิวเอ็นเอ็กซ์ ยังศึกษาวิธีทำให้รถยนต์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ผ่านอุปกรณ์สื่อสารไร้สาย อย่าง แบล็คเบอร์รี หรือเพลย์บุ๊ค โดยควบคุมอุปกรณ์เหล่านี้ผ่านจอสัมผัสบนพวงมาลัย หรือการใช้คำสั่งเสียง
 
นักวิเคราะห์กล่าวว่า ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่า อาร์ไอเอ็ม จะทำเงินได้มากน้อยแค่ไหนจากธุรกิจนี้ หรือธุรกิจนี้จะช่วยชดเชยส่วนแบ่งตลาดโทรศัพท์อัจฉริยะที่ลดลงได้หรือไม่ เมื่อเทียบกับ ไอโฟน ของแอ๊ปเปิ้ล และโทรศัพท์อัจฉริยะอื่นๆ ที่ใช้ซอฟต์แวร์แอนดรอยด์ของกูเกิล
 
อาร์ไอเอ็ม ตั้งความหวังว่า เพลย์บุ๊ค จะมาช่วยพลิกฟื้นโชคชะตาบริษัท แต่แทบเล็ตรุ่นนี้ได้รับเสียงวิจารณ์ก้ำกึ่ง ขณะที่บริษัทเพิ่งออกคำเตือนกำไรไตรมาสแรกเมื่อเร็วๆ นี้ โดยอ้างถึงยอดขายแบล็คเบอร์รีต่ำเกินคาด
 
ดีเรค คูห์น รองประธานฝ่ายขายและการตลาดของ คิวเอ็นเอ็กซ์ กล่าวว่า ผู้ผลิตรถยนต์บางรายอาจเปิดตัวรถยนต์สาธิตที่เชื่อมต่อกับ เพลย์บุ๊ค ภายในไตรมาสสามปีนี้ แต่ไม่ระบุว่าผู้ผลิตรายใดจะเคลื่อนไหวเป็นอันดับแรก
 
แม้ว่า คิวเอ็นเอ็กซ์ จะทำงานได้ดีกับอุปกรณ์ทุกอย่าง ตั้งแต่ ไอโฟน ไปจนถึงโทรศัพท์เคลื่อนที่ของ โนเกีย แต่อุปกรณ์ของอาร์ไอเอ็ม อย่าง เพลย์บุ๊ค จะลงตัวมากที่สุด
 
คูห์น กล่าวว่า ซอฟต์แวร์สำหรับ เพลย์บุ๊ค เป็นซอฟต์แวร์แบบเดียวกับที่ใช้บนแผงหน้าปัดรถคอร์เวต ซึ่งเป็นระบบสัมผัส
 
การผลักดันของ อาร์ไอเอ็ม เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะทำให้โลกของโทรศัพท์อัจฉริยะ ซึ่งอุดมไปด้วยแอพพลิเคชั่นหลากหลาย ผสานเข้ากับโลกของยวดยานเพื่อการขับขี่
 
หนึ่งในผู้บุกเบิกรายสำคัญ ได้แก่ ฟอร์ด มอเตอร์ โค ซึ่งเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ได้เปิดตัวระบบให้ผู้ขับขี่รถยนต์ใช้คำสั่งเสียงควบคุมโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ หลังจากนั้นผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นก็ทยอยออกยวดยานที่สามารถเชื่อมต่อกับโทรศัพท์อัจฉริยะหรืออินเทอร์เน็ตได้
 
เมื่อต้นปีนี้ โตโยต้า แนะนำระบบที่ช่วยให้รถยนต์สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์อัจฉริยะ ส่วนรถยนต์บางรุ่นของ จีเอ็ม ก็เปิดโอกาสให้ผู้ขับขี่แก้ไขสถานะบนเฟซบุ๊คได้ด้วยการใช้คำสั่งเสียง โดยระบบของทั้ง โตโยต้า และจีเอ็ม ล้วนใช้ซอฟต์แวร์ของ คิวเอ็นเอ็กซ์
 
แม้ว่าตลาดสำหรับรถยนต์ที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตยังมีขนาดเล็ก แต่นักวิเคราะห์คาดว่าตลาดจะเติบโตขึ้นในอนาคต เมื่อบรรดาบริษัทสื่อสาร ตลอดจนผู้ผลิตรถยนต์ ผู้ผลิตอุปกรณ์สื่อสารไร้สาย และผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่น เล็งเห็นช่องทางในการสร้างรายได้
 
ทอดด์ เดย์ นักวิเคราะห์จาก ฟรอสต์ แอนด์ ซุลลิแวน บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจ กล่าวว่า ปัจจุบันมีรถประมาณ 8.7 ล้านคันในสหรัฐ ที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ และคาดว่ายอดจะเพิ่มเป็น 26.3 ล้านคันภายในปี 2559
 
นักวิเคราะห์หลายรายมองว่า อาร์ไอเอ็ม และผู้ให้บริการระบบปฏิบัติการรายอื่น อย่าง ไมโครซอฟท์ และแอ๊ปเปิ้ล สามารถทำเงินได้จากการออกใบอนุญาตให้ผู้ผลิตรถยนต์นำระบบปฏิบัติการของตัวเองไปใช้ และในอนาคตอันใกล้ ระบบปฏิบัติการเหล่านี้จะถูกฝังไปในรถยนต์ ผู้ใช้ต้องอาศัยบลูทูธ หรือคำสั่งเสียง จัดการเรื่องต่างๆ เช่น การส่งข้อความ หรือการใช้ระบบนำทางจีพีเอส หรือแม้กระทั่งการเข้าถึงเพลง วีดิโอ และเกม
 
อย่างไรก็ตาม เส้นทางของ อาร์ไอเอ็ม และตลาดโดยรวม ยังต้องเผชิญอุปสรรคอีกมาก แอพพลิเคชั่นยอดเยี่ยมจำนวนมากมีอันต้องสะดุดหากปราศจากการเชื่อมต่อสัญญาณที่มีเสถียรภาพ ตัวอย่างเช่น ระบบของ คิวเอ็นเอ็กซ์ ในรถคอร์เวต ประสบปัญหาการเชื่อมต่อกับเว็บไซต์เพลงออนไลน์ แพนโดรา หากจอดอยู่ชั้นใต้ดิน
 
นอกจากนี้ แอพพลิเคชั่นที่ชวนให้วอกแวกยังเป็นอันตรายต่อผู้ขับขี่ คิวเอ็นเอ็กซ์ จึงพัฒนาระบบรักษาความปลอดภัยที่จะสกัดผู้ขับขี่เข้าถึงเว็บไซต์อย่าง ยูทูบ ในระหว่างรถวิ่ง
 
คูห์น กล่าวว่า แม้ผู้คนส่วนหนึ่งในบริษัทฝันถึงการฝัง เพลย์บุ๊ค ลงในรถยนต์ แต่แนวคิดนี้ยังห่างไกลจากความเป็นจริง หากจะทำจริงต้องเปลี่ยนจอกระจกของเพลย์บุ๊คเป็นจอพลาสติก เพื่อป้องกันการแตกหากเกิดอุบัติเหตุ และอุปกรณ์ชิ้นนี้ยังต้องมีความทนทาน สามารถรับมืออุณหภูมิสูงๆ ได้
 
ในความคิดของรองประธาน คิวเอ็นเอ็กซ์ ตัวอย่างแรกๆ ของการผสานเพลย์บุ๊คเข้ากับรถยนต์ น่าจะเป็นแอพพลิเคชั่นที่เชื่อมต่อแทบเล็ตกับรถ ให้ผู้ขับขี่สามารถเล่นเพลงที่เก็บไว้ในแทบเล็ต ผ่านระบบเครื่องเสียงในรถ
 
แอพพลิเคชั่นหนึ่งที่อยู่ระหว่างการพัฒนาในขณะนี้ เป็นแอพพลิเคชั่นสำหรับรถที่มีพนักงานขับ ผู้โดยสารที่นั่งเบาะหลังสามารถใช้ เพลย์บุ๊ค ที่เชื่อมต่อกับรถ ควบคุมความร้อนหรือความเย็นภายในรถได้
 
คูห์น อธิบายว่า แอพพลิเคชั่นนี้ออกแบบมาสำหรับรถยนต์หรูหรา ที่ต้องการเชื่อมต่อ เพลย์บุ๊ค กับที่นั่งเบาะหลัง เนื่องจากมีลูกค้าจำนวนมากที่ไม่ได้ขับรถด้วยตัวเอง

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ