ผู้เขียน หัวข้อ: เตือนระวังไข้ปวดข้อยุงลายหรือชิคุนกุนยาจะกลับมาระบาดพร้อมไข้เลือดออก  (อ่าน 1812 ครั้ง)

ออฟไลน์ vt

  • medtech ปี เอก
  • ******
  • กระทู้: 530
    • อีเมล์


กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนระวังโรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือ โรคชิคุนกุนยาจะกลับมาระบาดพร้อมโรคไข้เลือดออก หลังผลวิจัยพบว่าในหลายพื้นที่โดยเฉพาะจังหวัด สตูล ชุมพร ตรัง สุราษฏร์ธานี ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ยุงลายสวนติดเชื้อชิคุนกุนยาสูงถึงร้อยละ 39 ยุงบางตัวมีทั้งเชื้อไวรัสเดงกีและเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาอยู่ในตัวเดียว และพบว่าไม่จำเป็นว่ายุงต้องไปกัดผู้ป่วยแล้วจึงจะมีเชื้อ วิธีป้องกันโรคได้ดีที่สุดคือการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายและการป้องกันไม่ให้ยุงกัด ทั้งกลางวันและกลางคืน
นายแพทย์นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยผลการวิจัย ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  พบว่าในหลายพื้นที่โดยเฉพาะจังหวัดสตูล ชุมพร ตรัง สุราษฏร์ธานี ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ยุงลายสวนติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา (Chikungunya virus) สูงถึงร้อยละ 39 ยุงบางตัวติดเชื้อไวรัสทั้งสองชนิด ได้แก่ เชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus) ซึ่งทำให้เกิดไข้เลือดออก และเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา หรือไข้ปวดข้อยุงลาย นอกจากนี้ความรู้ จากการวิจัยยังพบว่าไม่จำเป็นว่ายุงต้องไปกัดผู้ป่วยแล้วจึงจะมีเชื้อ และเชื้อไวรัสทั้งสองชนิดนี้ยังสามารถถ่ายทอดจากแม่ยุงไปยังลูกยุงได้ด้วย
วิธีการป้องกันโรคได้ดีที่สุดคือการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในบริเวณบ้าน เช่น โอ่งเก็บน้ำฝนไม่มีฝาปิด อ่างเก็บน้ำในห้องน้ำ จานรองขาตู้กับข้าว แจกันบูชาพระ กระป๋อง ถ้วยน้ำ หรือ แก้วพลาสติกที่ทิ้งไม่เป็นที่เป็นทางและมีน้ำขัง เศษขยะ กล่องโฟม รวมถึงยางรถยนต์เก่า เป็นต้น ด้วยวิธีการง่ายๆ เช่น คว่ำหรือปิดฝาภาชนะดังกล่าวให้สนิท ตรวจรอบๆ บ้านว่ามีแหล่งน้ำขังหรือไม่ หากมีต้องกำจัดการเก็บกวาดสิ่งปฏิกูลออกไป และอีกทางหนึ่งคือการป้องกันไม่ให้ยุงกัดทั้งกลางวันและกลางคืน ซึ่งแต่เดิมเข้าใจว่ายุงลายกัดเฉพาะเวลากลางวัน แต่ผลการวิจัยพบว่าปัจจุบันในบ้านเรายุงลายกัดไม่เลือกเวลา ปรับตัวตามพฤติกรรม ของคน และพบว่าอุณหภูมิบนยอดดอย  ที่สูงขึ้นทำให้ยุงลายกัดบ่อยขึ้นและขยายพันธุ์ได้บนภูเขาสูง ต่างจากความรู้เดิมที่ว่ายุงลายบ้านไม่สามารถขยายพันธุ์ได้บนที่สูงเกิน 350 เมตร ดังนั้นอาจจะทำให้เกิดการระบาดของไข้ปวดข้อยุงลายและไข้เลือดออกในหมู่ชาวดอย เพราะไม่เคยมีภูมิคุ้มกันมาก่อน
นายแพทย์นิพนธ์ กล่าวต่อว่า การป้องกันการกัดของยุง นอกจากใส่เสื้อผ้ามิดชิดแล้ว ต้องชโลม ยาทากันยุงให้ทั่วส่วนที่โผล่พ้นเสื้อผ้า เพราะกลไกการป้องกันยุงของสารทาป้องกันยุงที่สำคัญ คือ ปกป้องบริเวณที่ทาไม่ให้ยุงหาเป้าหมายเจอ ส่วนบริเวณผิวหนังใกล้เคียงซึ่งไม่ได้ทายาจะไม่ถูกปกป้อง ซึ่งสารออกฤทธิ์ที่ป้องกันยุงกัดได้ดีที่สุดและมีอายุการใช้งานยาวนานในการเก็บมากที่สุดจนถึงขณะนี้คือ สารดีทหรือ ไดเอททิล โทลูเอไมด์ ที่มีความเข้มข้นร้อยละ 15-30 โดยน้ำหนัก ซึ่งจะป้องกันการกัดของยุงทั้งกลางวันและกลางคืนได้ 4-7 ชั่วโมงขึ้นอยู่กับตำรับ บุคคล และสิ่งแวดล้อมบริเวณที่ใช้ องค์การอนามัยโลกจึงแนะนำให้ใช้ป้องกันโรค ที่ระบาดโดยแมลง รองลงมาจากดีท คือ สารออกฤทธิ์ที่เหมาะสำหรับใช้กับเด็กเล็กต่ำกว่าสี่ขวบ ซึ่งเป็นสารสังเคราะห์เลียนแบบกรดอะมิโนจากธรรมชาติ คือ ไออาร์ 3535 หรือเอททิลบิวทิลอะซิติลอะมิโนโปรปิโอเนท โดยองค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (United States Environmental Protection Agency) หรือยูเอสอีพีเอ อนุญาตให้ใช้ในเด็กได้ตั้งแต่อายุหกเดือน แต่ในประเทศไทย โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ใช้ได้ตั้งแต่สองขวบขึ้นไป
สำหรับน้ำมันหอมระเหยจากสมุนไพรต้องทาซ้ำทุกครึ่งชั่วโมง สำหรับป้องกันการกัดของยุงลาย หรือ ยุงน้ำกร่อย และทาซ้ำทุก 2-3 ชั่วโมง สำหรับการป้องกันการกัดของยุงกลางคืน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตำรับ ที่แต่ละแหล่งผลิต และในการใช้ผลิตภัณฑ์ทาป้องกันยุงหากรู้สึกร้อนผิวให้ล้างออกด้วยสบู่และน้ำสะอาด และเปลี่ยนไปใช้ผลิตภัณฑ์แผ่นไล่ยุงชนิดแมท ซึ่งใช้คู่กับอุปกรณ์เสียบไฟฟ้า เนื่องจากบางคนผิวจะไวต่อการแพ้ แต่ควรใช้ในที่ซึ่งอากาศถ่ายเทได้ ซึ่งจะปกป้องการกัดได้ประมาณร้อยละ 80-90
นายแพทย์สมชาย แสงกิจพร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุขกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การเฝ้าระวังระดับพันธุกรรมของเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา พบว่าขณะนี้มีทั้งสายพันธุ์แอฟริกาที่กลายพันธุ์และสายพันธุ์เอเชียดั้งเดิม คนไทยบางคนและนักท่องเที่ยว ส่วนใหญ่ที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา จึงเสี่ยงต่อการป่วยด้วยโรคนี้ แม้ว่าจะไม่ทำให้ตายเหมือนไข้เลือดออก แต่ความทรมานจากการปวดข้อรุนแรงและไม่หายขาด บางรายปวดข้อเป็นปีก็ยังไม่หายและแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ที่ได้รับเชื้อสามารถถ่ายทอดไปสู่ทารกได้ ทำให้ทารกเกิดใหม่มีไข้ มีผื่น ไม่ค่อยขยับตัว และหายใจเร็ว ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ จึงไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง แต่ให้ไปที่สถานบริการสาธารณสุข จะได้เข้าสู่ระบบการเฝ้าระวังโรคและให้การรักษาที่ถูกต้อง
เนื่องจากอาการของโรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือโรคชิคุนกุนยามีลักษณะคล้ายกับโรคไข้เลือดออก การตรวจรักษาของแพทย์จำเป็นต้องอาศัยผลการตรวจชันสูตรทางห้องปฏิบัติการเพื่อเป็นเครื่องมือยืนยันว่าผู้ป่วยเป็นโรคอะไร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้พัฒนาศักยภาพระบบการตรวจวิเคราะห์เชื้อไวรัสชิคุนกุนยาและเชื้อไวรัสเดงกีทางห้องปฏิบัติการ รวมทั้งดำเนินการเฝ้าระวังโรคทางห้องปฏิบัติการ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ให้สามารถรายงานผล ได้อย่างรวดเร็วและมีความถูกต้อง แม่นยำ โดยเฉพาะในรายเร่งด่วนสามารถตรวจวิเคราะห์และรายงานผลได้ภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นผลดีต่อแนวทางการรักษาผู้ป่วยและการควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ดังนั้น โรงพยาบาลของรัฐหรือเอกชนทั่วประเทศ สามารถส่งตัวอย่างของผู้ป่วยมาตรวจวิเคราะห์ได้ที่ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์หรือในส่วนภูมิภาคส่งตรวจได้ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 14 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย พิษณุโลกนครสวรรค์ สมุทรสงคราม ชลบุรี ขอนแก่น อุดรธานี นครราชสิมา อุบลราชธานี สุราษฏร์ธานี ภูเก็ต สงขลา และตรัง









------------------------------------
ที่มา : http://www.dmsc.moph.go.th/