ผู้เขียน หัวข้อ: ไม่ใช่นิยายไซ-ไฟ "ใบหูเทียม" จากเนื้อเยื่อสัตว์เป็นรูปเป็นร่างแล้ว  (อ่าน 1717 ครั้ง)

ออฟไลน์ vt

  • medtech ปี เอก
  • ******
  • กระทู้: 530
    • อีเมล์


เนื้อเยื่อที่มีลักษณะคล้ายใบหูของมนุษย์ ซึ่งนักวิจัยสร้างขึ้นในห้องแล็บโดยใช้เทคนิคทางวิศวกรรมเนื้อเยื่อ

    ทีมวิจัยจากสหรัฐฯ สร้าง "ใบหูเทียม" ที่ค่อนข้างสมบูรณ์ได้สำเร็จ จากการใช้เทคนิควิศวกรรมเนื้อเยื่อเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อของสัตว์ให้เจริญเป็นเนื้อเยื่อที่มีลักษณะคล้ายใบหูของมนุษย์ หวังอีก 5 ปี ทดลองปลูกถ่ายในคนได้
   
   ใบหูเทียมที่ว่านี้มีความยืดหยุ่นคล้ายกับใบหูจริงของมนุษย์ ซึ่งพัฒนาโดยทีมนักวิจัยของโรงพยาบาลแมสซาชูเซตต์ส (Massachusetts General Hospital) ในเมืองบอสตัน สหรัฐฯ ที่เคยประสบความสำเร็จในการสร้างใบหูเทียมขนาดเท่าใบหูของเด็กให้เจริญบนหนูทดลองมาแล้ว
   
   สำหรับผลสำเร็จในครั้งล่าสุดนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร เจอร์นัล ออฟ เดอะ รอยัล โซไซตี อินเทอร์เฟซ (Journal of the Royal Society Interface) ซึ่งพวกเขาได้เก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อที่ยังมีชีวิตมาจากวัวและแกะ นำไปเพาะเลี้ยงในห้องแล็บ ให้เนื้อเยื่อเจริญบนโครงลวดไททาเนียม 3 มิติ ที่ถูกออกแบบให้มีรูปร่างคล้ายกับใบหูจริงของมนุษย์โดยใช้เทคนิคซีทีสแกน (CT Scan) ช่วยในการสร้างแบบ
   
   หลังจากที่เนื้อเยื่อเจริญขึ้นจนมีรูปร่างคล้ายใบหูที่สมบูรณ์แล้ว นักวิจัยก็ได้นำใบหูดังกล่าวไปปลูกถ่ายในหนูทดลองที่ถูกกดภูมิคุ้มกันเอาไว้ ซึ่งก็พบว่าใบหูเทียมสามารถอยู่ในสัตว์ทดลองได้ ทำให้นักวิจัยมีความหวังว่าเทคนิคนี้จะสามารถช่วยรักษาคนไข้ที่มีใบหูผิดรูปผิดร่างมาแต่กำเนิด หรือผู้ที่สูญเสียใบหูชั้นไปเนื่องด้วยอุบัติเหตุหรือการบาดเจ็บต่างๆ
   
   ทั้งนี้ เทคนิควิศวกรรมเนื้อเยื่อเป็นสาขาหนึ่งในวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่กำลังเป็นที่สนใจ และได้รับการพัฒนาให้ก้าวหน้าไปอย่างมาก ด้วยเทคโนโลยีที่สามารถสร้างชิ้นส่วนอวัยวะขึ้นมาใหม่ในห้องปฏิบัติการ เพื่อหวังนำไปทดแทนอวัยวะในร่างกายของมนุษย์ที่ชำรุดเสียหายหรือสูญเสียไปเนื่องจากเหตุต่างๆ
   
   "นี่เป็นครั้งแรกที่พวกเราทดลองปลูกถ่ายใบหูเทียมของมนุษย์ขนาดเท่าใบหูของผู้ใหญ่ในหนู ซึ่งมันก็ให้ผลอย่างมีนัยสำคัญหลายประการ" ดร. ธอมัส เซอวานทีส (Dr.Thomas Cervantes) หัวหน้าคณะวิจัยให้สัมภาษณ์แก่บีบีซีนิวส์
   
   "ประการที่ 1 เราสามารถรักษารูปร่างของใบหูไว้ได้นานกว่า 12 สัปดาห์ หลังจากที่ปลูกถ่ายในหนูทดลอง และประการที่ 2 เราสามารถทำให้กระดูกอ่อนของใบหูเทียมนี้มีความยืดหยุ่นได้ตามธรรมชาติ" หัวหน้าทีมวิจัยกล่าวพร้อมบอกด้วยว่า งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่ามีความเป็นไปได้ในทางทฤษฎีที่จะสามารถเพาะเลี้ยงเซลล์จากสิ่งมีชีวิตให้เจริญเป็นใบหูของมนุษย์ที่มีขนาดเท่าของจริงได้ อย่างน้อยที่สุดก็ทำได้ในสัตว์ทดลอง
   
   สำหรับรูปแบบการทดลองทางคลินิกนั้น ดร.เซอวานทีส บอกว่า สิ่งที่นักวิจัยจะต้องทำก็คือ เก็บตัวอย่างกระดูกอ่อนใบหูชิ้นเล็กๆจากผู้ป่วย จากนั้นก็เพาะเลี้ยงเพื่อขยายขนาด แล้วก็ดำเนินการขั้นต่อไปตามกระบวนการที่พวกเขาได้ศึกษาวิจัยและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง
   
   "งานวิจัยนี้นับเป็นก้าวสำคัญอีกก้าวหนึ่งสู่การเตรียมความพร้อมในการทำวิศวกรรมเนื้อเยื่อใบหูสำหรับการทดสอบระดับคลินิกในมนุษย์" นักวิจัยกล่าว ซึ่งพวกเขาหวังว่ากระบวนการดังกล่าวนั้นจะสามารถทำได้ในอีก 5 ปีข้างหน้า
   
   ทั้งนี้ งานวิจัยทางด้านชีววิศวกรรมในสาขาอื่นๆนั้นก็มีความรุดหน้าอย่างรวดเร็ว เช่น กรณีของคนไข้ราว 12 คน ที่ได้รับการปลูกถ่ายหลอดลมเทียมที่หุ้มด้วยสเต็มเซลล์ ซึ่งอาจเป็นสเต็มเซลล์ของคนไข้เองหรือของผู้บริจาค ในขณะเดียวกัน ได้มีการนำไตเทียมจากการทำวิศวกรรมเนื้อเยื่อในห้องแล็บในปลูกถ่ายในหนูทดลอง ซึ่งก็เริ่มเห็นผลในการสร้างน้ำปัสสาวะแล้วเช่นกัน